ลองพิจารณาดูว่าคุณภาพของคนที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร สิ่งที่เป็นปัจจัยหล่อหลอมก็รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับหลักธรรมในพุทธศาสนาด้วย ซึ่งเราจะต้องวิจัยหาความจริง เริ่มด้วยความเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ถูกหรือผิด ถ้ามันผิดหรือเพี้ยนไปเราจะได้แก้แล้วไปเอาหลักการที่ถูกมา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญในการวิจัยสังคม
ในเวลาที่น้อยนี้จะขอยกตัวอย่างถ้อยคำบางอย่างที่แสดงถึงอิทธิพลในนามของพุทธศาสนา ที่เกิดจากความเชื่อที่เพี้ยนผิดไปแล้ว อันเป็นผลจากการที่คนไทย (โดยอาจไม่รู้ตัว หรือค่อยๆ คลาดเคลื่อนไป) ได้เปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงพระพุทธศาสนามาเป็นพุทธศาสนาของเรา แล้วกลายเป็นความเชื่อที่ยังพูดว่าเป็นพุทธศาสนาทั้งๆ ที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเลย เช่น
๑. คำว่า “แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” คำว่าวาสนาอย่างที่เราเข้าใจเรานึกว่าเป็นคำในพระพุทธศาสนา แต่ที่จริงขอรับรองว่าไม่ใช่เลย ถ้ามีเวลาจึงค่อยพูดกัน
๒. คำว่า “จงมานะพากเพียรเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน” สมัยหนึ่งเรามีคตินี้ แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงไปแล้ว เพราะปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเรียนไปเพื่อจะได้เงินได้ผลประโยชน์ให้มาก มานะในภาษาบาลีเป็นกิเลส แต่ในภาษาไทยเราใช้จนเพี้ยนกลายเป็นว่าพากเพียรสำเริงสำราญเต็มที่ทั้งชีว
๓. ขอยกตัวอย่างในตอนที่เริ่มยุคพัฒนาใหม่ๆ (ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๓) ท่านผู้นำรัฐบาลตอนนั้น ต้องขอประทานอภัยออกนามท่าน คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีสารไปถึงคณะสงฆ์ที่มาประชุมกันจากทั่วประเทศ ขอร้องพระสงฆ์ไม่ให้สอนเรื่องสันโดษ เพราะจะเป็นเหตุขัดถ่วงการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนา
ต่อไป ตำราสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหลายเล่มพูดว่า คนไทยเชื่อในเรื่องบุญวาสนา กฎแห่งกรรม อย่างเหนียวแน่น คนใดยากจนลำบากแสนเข็ญก็จะถือว่าเป็นผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ยิ่งกว่านั้นตำราบางเล่มเขียนไว้ว่า พุทธศาสนาและฮินดูอธิบายความต่างสถานภาพของคนในสังคมด้วยเรื่องบุญกรรม
อีกอย่างหนึ่งคือ ระบบอุปถัมภ์ที่โยงมาถึงหลักเมตตากรุณา
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์สืบค้นทั้งสิ้น และจะสำเร็จได้ด้วยการวิจัย แต่บอกไว้ก่อนได้เลยว่าไม่ใช่พุทธศาสนา
ยกตัวอย่าง “วาสนา” ในพุทธศาสนาหมายถึงอะไร ในเมืองไทยเราเข้าใจว่า วาสนา หมายถึงอำนาจวิเศษที่เหมือนดังบันดาลให้เราได้ประสบความเจริญก้าวหน้า ความสุข และความสำเร็จ โชคลาภความรุ่งเรืองที่เหมือนลอยมาจากฟากฟ้า แต่วาสนาในภาษาพระหมายถึง พฤติกรรมหรือแม้แต่สภาพจิตใจที่บุคคลนั้นได้สะสมอบรมมาจนเป็นลักษณะประจำตัว เช่น ท่วงทีท่าทางหรือท่วงท่าอาการในการยืน การเดิน การพูด และการแสดงออกต่างๆ คนนี้พูดเร็ว คนนี้พูดช้า คนนี้พูดก้าวร้าว คนนี้พูดอ่อนหวาน คนนี้พูดขวานผ่าซาก ฯลฯ ลักษณะประจำตัวที่แต่ละคนได้สะสมมาเหล่านี้ เรียกว่า วาสนา
วาสนานั้นทางพระท่านบอกว่าต้องแก้ไข ถ้าเป็นพระอรหันต์จะละวาสนาได้แทบทั้งหมด ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็ละวาสนาได้ทั้งหมด ทางพระท่านให้ละวาสนา แต่คนไทยกลับอยากมีวาสนากันนัก พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา เมื่อเป็นศาสนาแห่งการศึกษาก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา
คนเราจะมีชีวิตที่ดีงามได้ต้องเรียนรู้ เพราะคนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ฉะนั้นหัวใจของพุทธศาสนาในทางปฏิบัติจึงเรียกว่า สิกขา คือการศึกษา ซึ่งมี ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา จึงเรียกว่า ไตรสิกขา (การศึกษา ๓ ด้าน) ชีวิตมนุษย์ต้องเป็นอยู่ด้วยการศึกษา จึงจะเป็นชีวิตที่ดีได้ ศึกษาไปจนกระทั่งเก่งดีมีสุขจริง ก็ได้เป็นอารยบุคคล (อริยบุคคล) คือเป็นโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นเสขะ แปลว่า นักศึกษา เมื่อใดเป็นพระอรหันต์จึงเป็นอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา คือ จบการศึกษา จึงมีเพียงผู้เดียวคือพระอรหันต์ที่ไม่ต้องศึกษา นอกนั้นแม้ว่าจะบวชอยู่จนแก่ จนเป็นพระเถระ อายุมากเท่าไรก็ไม่พ้นการศึกษา ต้องศึกษาทั้งสิ้น
ชีวิตของทุกคนโดยเฉพาะชีวิตพระคือชีวิตแห่งการฝึกฝน ปรับปรุง พัฒนาตน วาสนาที่ลอยมาเอง และแข่งขันไม่ได้ จะเป็นพุทธศาสนาได้อย่างไร พระพุทธศาสนาสอนให้ฝึกฝนพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง เรามีคำว่าวาสนา แต่วาสนานั้นไม่ใช่เรื่องสำหรับมาแข่งกัน วาสนามีไว้สำหรับแก้ไข ไม่ใช่มีไว้สำหรับแข่งขัน เพราะฉะนั้น วาสนาที่เข้าใจแบบไทย จึงเป็นคติที่เพี้ยน
คำว่า “มานะ” ก็เช่นกัน คนไทยปัจจุบันเข้าใจว่าหมายถึงความเพียรพยายาม อย่างที่บอกเด็กว่า “จงมานะ พากเพียร เรียนไปนะ” แต่ที่จริง มานะ แปลว่า ความอยากใหญ่ ความอยากเป็นใหญ่เป็นโต หรืออยากเด่น คนไทยเราเอามานะมาเป็นตัวยุให้คนพากเพียรเล่าเรียนทำการต่างๆ จนกระทั่งคำว่ามานะนั้นกลายความหมายเป็นความเพียรไปเลย ที่จริงมันเป็นตัวกระตุ้นให้เพียร คือเป็นแรงจูงใจที่อยากใหญ่อยากโตแล้วก็ทำให้เพียรที่จะเรียน ไปๆ มาๆ มานะก็เลยกลายเป็นเพียรไป
ตัวคู่กับมานะก็คือตัณหา ตัณหา เป็นแรงจูงใจให้คนอยากได้อยากเสพอะไรต่างๆ แต่ก่อนนี้เป็นยุคของระบบราชการก็ยุด้วยมานะ ให้อยากใหญ่อยากโตแล้วร่ำเรียนด้วยมานะ แต่มาถึงยุคปัจจุบันนี้เปลี่ยนแล้ว คนไม่อยากเข้าระบบราชการ ก็ใช้ตัณหาหนุนให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินได้ทอง เอาตัณหามายุจะได้พยายามเล่าเรียน เพื่อต่อไปจะได้มีเงินมีรายได้มากๆ ตกลงใช้กิเลสทั้งคู่ คือตัณหา (อยากได้อยากเสพ) มานะ (อยากใหญ่โต) แล้วนี่เราบอกว่าคือการที่จะพัฒนา
พุทธศาสนาไม่เอาทั้งตัณหาและมานะ แต่ท่านสอนให้ใช้ฉันทะ ฉันทะ คือ อยากรู้ความจริง และอยากทำให้มันดี เรามีจิตใจใฝ่รู้ รักความรู้ รักความจริง เราเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดี ถ้ายังไม่ดีก็อยากทำให้มันดีทุกอย่าง นั่นคือฉันทะ ทำไมเราไม่ใช้แรงจูงใจฉันทะนี้มายุคนให้เรียนหนังสือ ทำไมเรามองข้ามมันไป แล้วมาใช้ตัณหาบ้างมานะบ้าง ได้กันอยู่แค่นี้ แล้วเราจะวิจัยสำเร็จ และจะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาได้อย่างไร มันผิดหลักธรรมชาติกันมาเต็มที่ สังคมไทยถ้าวินิจฉัยในแง่นี้ก็พูดได้ว่าเข้าไม่ถึงพุทธศาสนาเลย
ถึงเวลานี้ ควรจะรื้อฟื้นแก้ไขกันเสียทีโดยเอาฉันทะมาแทน ไม่ใช่เฉพาะในการวิจัยเท่านั้น การศึกษาเล่าเรียนและกิจกรรมทางสังคมทั้งหมดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของฉันทะ คือแรงจูงใจใฝ่รู้และใฝ่ดีนี้ คือ ต้องเล่าเรียนและทำงานเป็นต้นด้วยความอยากรู้ความจริง พยายามเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงจะไม่หยุด และต้องทำให้มันดีให้ได้ ถ้ายังไม่ดีจะไม่ยอมหยุด ชีวิตและสังคมที่เราเกี่ยวข้อง เราต้องทำให้มันดี ถ้าอยู่ด้วยฉันทะแล้วรับรองว่าการพัฒนาสำเร็จ และไม่ผิดด้วย ไม่ต้องอาศัยระบบแข่งขันเอาชนะกันในการแย่งชิงผลประโยชน์มาบีบคนไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
เรื่องบุญ เรื่องวาสนา ก็อยู่ในชุดเดียวกับเรื่องกรรม คนไทยปัจจุบันไม่น้อยเวลาพูดถึงเรื่องกรรม ก็บอกว่าเราจะเป็นอย่างไรๆ ก็เพราะกรรมเก่า นี่ก็คลาดเคลื่อนไปไกล อาตมาจะยกหลักการในเรื่องนี้มาพูดสักคติเดียว แต่อย่าเพิ่งสับสน ลองฟังดูก่อน เรื่องกรรมในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ให้เอาไปปนเปกับลัทธิที่ผิดหลักพุทธศาสนา ไม่ใช่หลักกรรม ๓ อย่าง คือ
๑. การถือว่า มนุษย์จะได้ดีมีสุข หรือประสบความทุกข์อย่างใดก็ตาม ทุกอย่างเป็นไปเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน นี่เป็นลัทธิที่ผิดพวกที่หนึ่ง เรียกว่าบุพเพกตวาท (ลัทธิกรรมเก่า)
๒. ความเชื่อว่า สิ่งที่มนุษย์ได้ประสบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ก็ตาม เป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้ยิ่งใหญ่ เรียกว่าลัทธิอิศวรนิรมิตวาท (ลัทธิดลบันดาล)
๓. ลัทธิที่ถือว่า อะไรจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองโดยไม่มีเหตุปัจจัย เรียกว่าอเหตุวาท (ลัทธิแล้วแต่โชค)
สามลัทธินี้ไม่ใช่พุทธศาสนา ทีนี้หันมาดูว่าคนไทยเราถืออย่างไร คนไทยไม่น้อยบอกว่าอะไรจะเป็นอย่างไรก็เป็นเพราะกรรมเก่า ให้ก้มหน้ารับกรรมไป การถืออย่างนี้เข้ากับหลักสิกขาไหม ทำให้มีการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาตนหรือไม่ เข้ากับหลักกรรมที่ยึดถือการกระทำไหม ไม่เข้าเลย ทำไมคนไทยถืออย่างนี้
การปลงใจกับกรรมเก่า พอเกิดอะไรขึ้น ก็บอกว่าเป็นเพราะกรรมเก่า แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปแล้วแต่กรรมเก่านั้น ชาวพุทธที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ตัวว่าที่จริงตนเองกำลังทำกรรมใหม่ที่ร้ายแรง ในขณะที่บอกว่าแล้วแต่กรรมเก่าแล้วไม่ทำอะไรนั้น การไม่ทำอะไรก็คือการทำกรรมร้ายอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำกรรมใหม่ กรรมนั้นคือ ความประมาท
ความประมาทเป็นกรรมร้ายที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นเหลือเกินให้เราระวัง มนุษย์ที่ประสบความสุข ความสำเร็จ ความดี มักจะมาตกหลุมนี้คือความประมาท พอได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จก็หลงระเริง เพลิดเพลิน มัวเมา อย่างน้อยก็ปล่อยตัวละเลยมองข้ามสิ่งต่างๆ ที่ควรจะทำ ความประมาทเป็นหลุมร้าย เป็นอกุศลกรรมสำคัญที่พุทธศาสนาเน้นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเว้นให้ได้ และความไม่ประมาทก็มาหนุนการศึกษา ทำให้เราเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปรับปรุง พัฒนาเดินหน้ากันเรื่อยไป เพราะฉะนั้นในยุคปัจจุบันจะต้องเน้นหลักความไม่ประมาทกันให้มาก
อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อไม่นานนักนี้ นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ท่านหนึ่ง จะทำการวิจัยได้ผลออกมาหรือจะเสนอความคิดเห็น ได้เขียนว่า คนไทยภาคอีสานเชื่อหลักอนิจจังตามคติพุทธศาสนา จึงมีชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ นี่นักวิชาการไทยท่านหนึ่งว่าไว้ แต่เราอย่าเพิ่งไปโทษท่าน ท่านก็ถูกในแง่หนึ่ง แต่ท่านแยกไม่ออก คืออนิจจังตามคติของคนไทยอาจจะทำให้เป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่อนิจจังตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
อนิจจังตามหลักพุทธศาสนาที่สอนเรื่องความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่นั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ควบคู่กับความไม่ประมาท โดยให้เป็นตัวหนุนความไม่ประมาท เพราะว่าสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอนมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะรีรอชักช้าวางใจนอนใจเฉื่อยชาผัดเพี้ยนอยู่ไม่ได้ เราจะต้องกระตือรือร้นเร่งรัดแข่งกับเวลา อะไรที่ควรทำก็ต้องรีบทำ อนิจจังจึงกระตุ้นความไม่ประมาท
ข้อสำคัญที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ หลักอนิจจังที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่คงที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอย พุทธศาสนาแสดงหลักความจริงที่รองรับเบื้องหลังอนิจจัง คือคติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องศึกษาให้รู้เหตุปัจจัยด้วยการวิจัยแล้วจะได้ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย
พูดง่ายๆ ว่า คติเหตุปัจจัยทำให้ต้องวิจัย เราวิจัยเพื่อให้ได้ปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเสื่อมแล้วเราจะได้แก้ไข ป้องกัน กำจัด และเมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเจริญแล้วเราจะได้ทำเหตุปัจจัยนั้น ฉะนั้น คติอนิจจังจึงนำไปสู่ความไม่ประมาทในการใช้ปัญญาที่จะวิจัย คือศึกษาเหตุปัจจัย และทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยเพื่อให้ผลที่ต้องการเกิดขึ้น
เป็นอันว่าหลักอนิจจัง ในพุทธศาสนาท่านสอนไว้เพื่อให้ไม่ประมาท และเพื่อสร้างสรรค์ แต่เราเอามาใช้ในการปลงและปล่อย เราบอกว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม จะทำอย่างไรได้ ก็เลยปล่อยเรื่อยเปื่อย ปลงเสร็จแล้วก็ปล่อย ปัญหาก็ไม่ได้แก้ ก็สบายใจดีเหมือนกัน นี่ก็ถูกในแง่หนึ่ง แต่เป็นการปฏิบัติธรรมที่เอียงสุด เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการแท้ คือความไม่ประมาท
ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะต้องได้ทั้งสองอย่าง คือ ด้านที่หนึ่ง ด้วยความมีปัญญารู้เท่าทัน ความจริงของกฎธรรมชาติคืออนิจจังนั้น ก็ทำให้เราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจตัณหา คือความปรารถนาที่จะเอาอย่างใจ และไม่ได้อย่างใจก็เกิดความทุกข์ แต่ด้วยการรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามคติธรรมดา ที่เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ก็จะทำให้เราวางใจเป็นอิสระจากความเป็นไปของธรรมชาติโดยไม่เอามากระทบตัวเอง ทำให้เราไม่ทุกข์ ในแง่นี้เรียกได้ว่าปลง แต่พร้อมกันนั้นในเชิงปฏิบัติจะต้องไม่ประมาทเพื่อจะได้ประโยชน์จากปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เป็นอันว่าต้องได้ทั้งสองอย่างคือ ใจก็สบาย งานก็ได้ผลด้วย หรืองานก็ได้ ใจก็สุข ต้องได้ทั้งสองอย่าง ถ้าอย่างนี้จึงจะไปรอด เวลานี้มีปัญหาว่าคนไทยเอาแค่ใจสุขแต่งานไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็จะไปไม่รอด
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตมากคือ ระบบอุปถัมภ์ จะขอโอกาสพูดสักนิด เพราะเรื่องระบบอุปถัมภ์โยงมาหาเมตตากรุณา นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ระบบอุปถัมภ์นี้ถ้าใช้ไม่ดีก็เกิดโทษ หนึ่ง ทำให้คนช่วยเหลือกัน จนไม่เอากฎเกณฑ์ กติกา เสียความเป็นธรรม และ สอง ทำให้คนอ่อนแอ หวังพึ่งคนอื่น ไม่เพียรพยายาม ไม่หวังพึ่งตนเอง
คนไทยเรามักพูดแค่เมตตากรุณา ทั้งๆ ที่หลักธรรมชุดนี้มี ๔ ข้อ แต่เราพูดไม่ครบ เอาแค่ เมตตากรุณา แล้วยังแถมบอกว่าเป็นธรรมของผู้ใหญ่ มีที่ไหนในพระไตรปิฎกที่บอกว่า เมตตากรุณาเป็นธรรมของผู้ใหญ่ ค้นมาเท่าไรไม่เคยเจอ แท้จริงนั้น เมตตากรุณาเป็นธรรมระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่ทุกคนจะต้องมีต่อกัน คือเป็นท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน พระต้องมีต่อโยม โยมก็ต้องมีต่อพระ ตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ว่า ให้คฤหัสถ์มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรมต่อพระสงฆ์ ท่านให้โยมเมตตาพระ ผู้ใหญ่เมตตาเด็ก เด็กก็ต้องเมตตาผู้ใหญ่ เมตตาเป็นคุณธรรมระหว่างกันของมนุษย์ทุกคน เมตตาก็คือความเป็นมิตรเท่านั้นเอง เพราะเมตตากับมิตตะเป็นคำที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน มิตตะ แปลง อิ เป็น เอ ก็เป็นเมตตะ แล้วตามไวยากรณ์เป็นภาวนาม อะก็กลายเป็นอา เมตตาก็คือน้ำใจมิตรนั่นเอง ท่านให้ทุกคนมีความเป็นมิตรต่อกัน
หลักธรรมชุดนี้ที่สำคัญก็คือมันเป็นระบบองค์รวม เป็นธรรมที่บูรณาการ โดยมีดุลยภาพ จึงต้องมาครบทั้ง ๔ ข้อ คือ ๑. เมตตา ๒. กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา ทีนี้ลองให้ความหมายกันย่อๆ นิดหน่อย ธรรม ๔ ข้อนี้ใช้ต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นจะต้องดูสถานการณ์ที่เขาประสบ การมองความหมายของธรรม ๔ ข้อนี้ดูจากสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสบ
สถานการณ์ที่หนึ่ง เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร ปรารถนาดี
สอง สถานการณ์เปลี่ยนไป เขาเดือดร้อน เปลี่ยนจากปกติเป็นตกต่ำ เกิดความทุกข์ เราก็มีกรุณา มีใจพลอยหวั่นไหว ปรารถนาจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์
เมตตากับกรุณา นี้ต่างกันชัดเจน แต่คนไทยแยกไม่ค่อยออก ที่จริงแยกง่ายนิดเดียว คือใช้กับสถานการณ์ที่ต่างกัน
สถานการณ์ที่สาม คือเขาขึ้นสูง ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เราก็มุทิตา พลอยยินดีส่งเสริม สนับสนุน
นี่สามสถานการณ์แล้ว เหลืออีกสถานการณ์เดียวที่ยากที่สุด ที่จริงสามสถานการณ์นี้ตามปกติก็ครบ มนุษย์เราโดยทั่วไปก็อยู่ในสามสถานการณ์นี้ คือ ปกติ ตกต่ำ ขึ้นสูง เราก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา ให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้น อย่างไรก็ตาม คนไทยเรามักได้แค่สองอย่างแรก คือ เมตตา และกรุณา เรามักพูดกันอยู่แค่นี้ แต่มุทิตาไม่ค่อยเอา มุทิตาหมายความว่า ต้องส่งเสริมคนดี
ต่อไป ข้อที่สี่ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนไทยเราไม่รู้เรื่องและถึงกับเข้าใจผิดเลย ข้อที่สี่คือ อุเบกขา อุเบกขาคืออะไร สถานการณ์อะไรอีกที่มนุษย์จะประสบ สถานการณ์สามอย่างที่ผ่านมาดูน่าจะครบแล้ว
ก่อนที่จะเข้าสู่สถานการณ์ที่สี่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทั่วไปกันก่อนว่า ในด้านหนึ่ง มนุษย์เราอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน ประกอบกันเข้าเป็นสังคมมนุษย์ เมื่อเราพยายามอยู่กันด้วยดีโดยมีธรรมสามข้อที่พูดมานั้น ก็หาได้เพียงพอที่จะให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงด้วยดีได้ไม่ เพราะโลกมนุษย์หรือสังคมมนุษย์นั้นจะอยู่ลำพังด้วยตัวมันเองไม่ได้ เบื้องหลังหรือภายใต้สังคมมนุษย์นั้นยังมีความจริงของกฎธรรมชาติรองรับอยู่ ซึ่งเป็นความเป็นจริงของธรรมชาติที่ไม่เข้าใครออกใคร
มนุษย์จะอยู่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันเท่านั้นไม่พอ แม้มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดีแต่ถ้าเขาปฏิบัติผิดต่อหลักความจริงของกฎธรรมชาติคือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม ที่เรียกว่าธรรม สังคมมนุษย์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้ จะต้องสลาย เพราะฉะนั้นจึงมาถึงข้อที่สี่คือ สถานการณ์ที่จะต้องรักษาหลักการแห่งความจริงความถูกต้องที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติไว้
เป็นอันว่า สถานการณ์ที่สี่ คือ ถ้าเมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบส่งผลเสียหายต่อหลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ที่เรียกว่าธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในทุกข้อข้างต้นจะต้องหยุดหมด นี่คือข้อที่สี่ อุเบกขา ที่แปลกันว่า เฉย คือเฉยต่อคนนั้นๆ เฉยต่อคนนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมออกมาแสดงบทบาท คือจะต้องปฏิบัติไปตามธรรม อันได้แก่หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ตลอดจนหลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ความชอบธรรมนั้นที่ออกมาสู่รูปแบบในสังคมมนุษย์ คือกฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย เป็นต้น
เป็นอันว่าสังคมมาถึงสถานการณ์ที่สี่คือ การที่จะต้องถือหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา เป็นใหญ่ เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน ๓ ข้อต้น ไปกระทบหรือละเมิดต่อตัวหลักการ ตัวธรรม ตัวกฎเกณฑ์นี้เข้า จะต้องหยุดหมด เมตตาไม่ได้ กรุณาไม่ได้ มุทิตาไม่ได้ เช่น เด็กไปลักของเขา ประสบความสำเร็จได้เงินมา เราจะมุทิตาไม่ได้ ส่งเสริมไม่ได้ เพราะว่ามันไปกระทบต่อตัวธรรม นี่คือต้องอุเบกขา ได้แก่วางใจเป็นกลางแล้วจัดการไปตามธรรม โดยเอาหลักการเป็นใหญ่ กฎต้องเป็นกฎ
ไม่ค่อยมีใครเข้าใจอุเบกขา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา จึงยากที่จะเข้าใจ คนทั่วไปมักนึกถึงอุเบกขา ว่าเป็นความเฉย ถ้าแปลอย่างนี้ต้องระวัง เพราะถ้าเฉยไม่รู้เรื่อง ก็กลายเป็นเฉยโง่ ท่านเรียกว่าอัญญาณุเบกขา เฉยโง่นี้ใช้ไม่ได้ เป็นอกุศล แต่อุเบกขาที่แท้ เป็นท่าทีของจิตใจที่เกิดจากความรู้ ต่างจากสามข้อแรกที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โดยให้มีความรู้สึกที่ดี หนักไปในด้านความรู้สึก ส่วนข้อสี่คืออุเบกขานี้ต้องใช้ปัญญา เพราะต้องรู้ว่า อะไรคือความจริง ความถูกต้องดีงาม หรือว่าหลักการเป็นอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร แล้วเอาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้พอดี คือความรู้นั้นมาปรับความรู้สึก ทำให้จิตของเราลงตัว วางใจเป็นกลางได้ จิตจะเรียบสงบ เข้าสู่ดุลยภาพ แล้วปฏิบัติไปตามธรรม คือตามหลักการ กฎเกณฑ์กติกา หรือตามเหตุผลที่ควรจะเป็น
สังคมมักจะเอียงเสียดุลเพราะจิตใจของคนขาดอุเบกขา ไม่สามารถรักษาดุลยภาพ สังคมที่ดีจะต้องมีดุลยภาพด้วยการที่คนมีความรู้มาดุลกับความรู้สึก คือมีอุเบกขามาคุมเมตตา กรุณา และมุทิตา สามข้อแรกทำให้คนช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนกัน ในขณะที่ข้อสี่คืออุเบกขา มาดูแลให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุผลที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีธรรมครบทั้ง ๔ ข้อ จึงเรียกว่า พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม คือ สภาพจิตใจของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์และอภิบาลสังคมได้
ศาสนาพราหมณ์ถือว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก แล้วก็รักษาอภิบาล บำรุงเลี้ยงโลกไว้ แต่พุทธศาสนาบอกว่าอย่ามัวทำลายโลกแล้วรอพระพรหมมาสร้างโลก มนุษย์ทุกคนต้องเป็นพรหม ให้ทุกคนเป็นพรหม โดยทำหน้าที่เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และดำรงรักษาสังคมด้วยการปฏิบัติตามหลักการ ๔ ข้อนี้ แล้วก็จะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้
สังคมดีต้องมีดุลยภาพ ด้วยการที่มนุษย์แต่ละคนปฏิบัติให้ถูกต้องในสถานการณ์ทั้งสี่ ซึ่งจัดรวมได้เป็นสองด้าน คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในสามข้อต้น และสอง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมคือความเป็นจริงโลกและชีวิตตามกฎธรรมชาติ ถ้ามีดุลยภาพนี้สังคมก็อยู่ได้ แต่สังคมมักจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
สังคมบางสังคมหนักไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็เอาแต่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่นช่วยกันจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์ กติกา ถ้าจะช่วยเหลือกัน แม้แต่เสียหลักการ ทำลายกฎเกณฑ์หรือละเมิดกฎหมายก็เอา ในสังคมอย่างนี้ความเป็นธรรมก็เสียไป นอกจากนั้นก็จะทำให้คนอ่อนแอ คนจำนวนมากจะหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่คิดพึ่งตัวเอง คิดว่าเดี๋ยวเราตกต่ำลำบากเดือดร้อนก็จะไปพึ่งผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้ จะไปหาญาติมิตรคนโน้นให้ช่วยได้ ก็เลยไม่ขวนขวายดิ้นรน ทำให้เฉื่อยชา
ส่วนในอีกสังคมหนึ่งก็ขาดดุลยภาพ คนเอาแต่ความสัมพันธ์กับตัวธรรม คือความเป็นจริง เหตุผล และหลักการ คิดแต่จะรักษากฎเกณฑ์กติกา เอากฎหมายเป็นหลัก ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่มีน้ำใจ สังคมแบบนี้ก็รักษาความเป็นธรรมได้ดี และทำให้คนเข้มแข็งเพราะตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยเหลือกัน ถ้าใครไม่ช่วยตัวเอง ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็ตายเอง อยู่ไม่รอด เมื่อคนหวังพึ่งกันไม่ได้ ทุกคนก็ต้องดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง ก็เข้มแข็งก้าวหน้า ก็ดีไปอย่างหนึ่ง แต่แห้งแล้งน้ำใจ ขาดความอบอุ่น ไม่มีความร่มเย็น คนจะเครียดเป็นโรคจิตมาก เพราะฉะนั้นก็เสียดุล
สังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่หนักไปทางอุเบกขา ถือกฏเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ ส่วนสังคมไทยก็หนักไปในทางรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพราะฉะนั้นก็เสียดุลทั้งสองสังคม ถ้าจะให้พอดีก็ต้องใช้ธรรมให้ครบ ทุกคนต้องเป็นพระพรหม ตอนนี้ไม่มีพระพรหม พระพรหมในตัวคนหายไป เพราะคนมัวแต่ไปอ้อนวอนพระพรหมข้างนอกกันหมด ไม่ยอมเป็นพรหมเอง สังคมก็จะไปไม่รอด มัวแต่หวังพึ่งให้พระพรหมจากฟ้ามาช่วย ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นจะต้องเอาพระพรหมที่แท้กลับมา
นี่เป็นเรื่องที่การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และเป็นไปเพื่ออนาคตของสังคมไทย เราจะต้องมาตกลงกันไห้ได้ โดยมีความชัดเจนในเชิงปัญญา การวิจัยเวลานี้จะต้องวิจัยซ้อนวิจัย คือวิจัยอิทธิพลที่เป็นเหตุปัจจัยอยู่เบื้องหลังการวิจัยนั้นอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้การวิจัยนี้ช่วยนำเราไปสู่อนาคตที่ดีงามของประเทศไทย ที่ไม่ใช่เป็นไปเพื่ออนาคตของประเทศของตนเท่านั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลกเท่านั้น แต่เพื่อนำมนุษยชาติทั้งหมดไปสู่ความดีงาม และความมีสันติสุข ฉะนั้นอาตมภาพจึงได้นำเอาเรื่องนี้มาเสนอเพื่อเป็นส่วนช่วยในการที่จะวิจัยกันให้ถูกทาง และวิจัยกันให้ถึงขั้นที่จะแก้ปัญหาอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องติดตันของโลก
เราจะต้องเชื่อว่าคนไทยเรามีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาของโลกได้ แล้วพัฒนาจิตใจของนักวิจัยขึ้นมา และมีชีวิตแห่งการวิจัย ถ้าอย่างนี้ ไม่ว่าจะจับงานวิจัยเรื่องใด ก็จะนำงานวิจัยนั้นไปสู่จุดหมายแห่งการเข้าถึงความจริง และหาทางทำให้มันดีจนสำเร็จได้