มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เสรีภาพที่อยากได้ กับความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ได้

อีกเรื่องหนึ่งคือ สิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือ Freedom of the press อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในสังคมไทยของเรา เราเคยขาดแคลนสิ่งนี้มากมานาน จนกระทั่งเวลานี้เราได้ขึ้นมาเยอะ จากการที่ขาดแคลนมานาน แล้วก็ได้ขึ้นมาใหม่ๆ นี้ ก็มีจุดที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง เรียกว่า ความไม่ประมาท คือ นักการเมืองเหลิงอำนาจได้ฉันใด สื่อมวลชนก็อาจจะเหลิงอำนาจได้ฉันนั้น การที่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารข้อมูลนี้ เมื่อทำไปๆ บางทีอิสรภาพและเสรีภาพก็ทำให้เราเหลิงได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในการที่จะรักษาสถานะให้เป็นที่น่านับถือของสังคม สื่อมวลชนก็จะต้องระมัดระวัง โดยมีความรับผิดชอบในการที่จะรักษาและใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารนี้ มิฉะนั้น วันหนึ่งเสรีภาพนี้ก็อาจจะสูญเสียไปได้ บางทีก็ไม่ใช่สูญเสียแก่ใครที่จะมายึดอำนาจหรอก อันนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ การถูกตีกลับจากประชาชน ทำให้กลายเป็นว่า เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือประชาชนต่อต้านเสรีภาพของหนังสือพิมพ์

เรื่องนี้แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา เราก็คงได้ยินว่าเคยเกิดปัญหาเหมือนกัน สื่อมวลชนในสมัยหนึ่งเคยทำหน้าที่นำเสนอข่าวเจาะลึกในเรื่องของสังคม จนกระทั่งเขาเรียกว่าเป็นการข่าวอย่างนักสืบ สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นนักสืบ นำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ซ่อนเร้นในสังคมอเมริกันมาตีแผ่ โดยเฉพาะเรื่องของคนในวงการรัฐบาลอะไรต่างๆ อันนี้ก็ได้ประโยชน์แก่สังคมมาก เช่น แม้แต่ประธานาธิบดีนิกสันก็ถึงกับต้องลาออก นี่ก็เป็นเพราะอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ แต่ไปๆ มาๆ หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่นักสืบเกินไป ไปถึงจุดหนึ่งก็ถูกตีกลับจากประชาชน ประชาชนไม่พอใจ บอกว่านี่มันเกินไปแล้ว มันเอียงเกินไปแล้ว ชักจะดิ่งไปข้างเดียว ผลที่สุดก็กลายเป็นว่าเสียความเป็นธรรม

สื่อมวลชน ถ้าไม่ระมัดระวังตัวตกอยู่ในความประมาท บางทีก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าความเหลิงอำนาจได้เหมือนกัน แล้วผลเสียก็กลับมา ความเชื่อถือที่ได้จากประชาชนก็กลับลดลงไป เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาความเชื่อถือและแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าอิทธิพลไว้ได้ด้วยดี สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ ยิ่งเขาเชื่อถือ เราก็ยิ่งต้องระมัดระวัง ไม่เหลิง ไม่ประมาท แล้วความไม่ประมาทนี้ก็จะทำให้เรารักษาความเชื่อถือนั้นไว้ได้ ความไม่ประมาทนี้ก็คือ การที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสูง ทำการโดยใช้ปัญญาระมัดระวัง ไม่ใช้อารมณ์ มีความยับยั้งตนเอง มีสติอย่างดี ทำหน้าที่ด้วยวิจารณญาณ อันนี้แหละจะช่วยให้รักษาเสรีภาพในการเสนอข่าวสารไว้ได้ และรักษาความเชื่อถือในสังคมไว้ได้ด้วย

ว่าโดยย่อ ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนนั้นมี ๒ ระดับ

ระดับที่หนึ่ง ระดับข้อมูล จะเรียกว่าระดับความรู้ที่ได้ คือ ระดับของการเสนอข่าวสารข้อมูลแท้ๆ ความรับผิดชอบเป็นเพียงเรื่องของความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลเฉพาะกรณีระยะสั้น เพราะข้อมูลข่าวสารมักเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนระยะสั้น เพียงว่ารู้ผิดหรือรู้ถูก ถ้าพลาดไป ก็อาจจะทำให้การปฏิบัติการในเรื่องนั้นผิดพลาดไปด้วย แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวระยะสั้น ทีนี้อีกระดับหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ระดับที่สอง ระดับความคิด ทางพระเรียกว่าระดับทิฏฐิ ระดับทิฏฐิ คือ ตอนที่เป็นความเชื่อ เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม เป็นแนวความคิดของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวแล้วถ้าผิดก็เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราสร้างความเชื่อ แนวความคิด ทัศนคติหรือค่านิยมอย่างใดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นเรื่องที่มีผลต่อสังคมระยะยาวมาก เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบจึงต้องมีทั้ง ๒ ระดับ

๑. ในระดับข่าวสารข้อมูล ต้องรู้ความจริงรอบด้านทั่วตลอดทะลุโล่ง และนำเสนออย่างชัดเจนแม่นยำถูกต้อง

แต่อันนี้ยังไม่สำคัญลงลึกเท่ากับความรับผิดชอบระดับทิฏฐิ คือ ระดับความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติที่มันมีผลระยะยาวต่อสังคม สังคมจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นต่อทิฏฐิ ขึ้นต่อค่านิยม และความเชื่อถือที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น และสื่อมวลชนก็มีอิทธิพลมากในการที่จะก่อรูปให้เกิดค่านิยม ความเชื่อถือ หรือทิฏฐิ เหล่านี้ สังคมตลอดจนอารยธรรมมนุษย์ทั้งหมดก็เป็นไปตามทิฏฐิของมนุษย์นี่เอง

๒. ในระดับทิฏฐิ ต้องมีความคิดเห็นที่ชอบธรรมเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหา หรือเป็นความคิดนำทางที่ดี และแสดงออกด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจจริง และอย่างมีเหตุผล ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ประกอบด้วยคุณธรรม ไม่มีเจตนาร้ายหรือมุ่งได้มุ่งเอา ซ่อนเร้นแอบแฝง และมีความปรารถนาดี ทำเพื่อการสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ ไม่ถือตามอารมณ์

ในเรื่องความสำคัญของทิฏฐินั้น ขอยกตัวอย่างง่ายๆ อารยธรรมมนุษย์ปัจจุบันนี้ ได้ถูกสร้างสรรค์มาจากทิฏฐิหรือแนวความคิดของอารยธรรมตะวันตกที่ว่า มนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ต่อเมื่อได้พิชิตธรรมชาติสำเร็จ สามารถเอาธรรมชาติ มาจัดการตามปรารถนา เอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการของมนุษย์ อารยธรรมตะวันตกมองว่า มนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ จะต้องเป็นผู้พิชิตธรรมชาติ ทิฏฐินี้ได้เกิดขึ้นมาถึงสองพันปีกว่าแล้ว ผลที่ได้รับตลอดมาก็คือ ความภูมิใจว่ามนุษย์สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมได้สำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้มนุษย์ก็ได้ประสบปัญหาร้ายแรงคือ การที่สภาพแวดล้อมเสีย ธรรมชาติเสื่อมโทรม เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกปัจจุบัน และผู้รู้มากหลายก็ได้พิจารณาวินิจฉัย และก็บอกได้ว่า ปัญหานี้เกิดจากทิฏฐิแนวคิดที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และคิดหลงผิดไปว่า มนุษย์จะสุขสมบูรณ์เมื่อพิชิตธรรมชาติได้นั่นเอง ทิฏฐิที่ได้เกิดขึ้นมาถึงสองพันกว่าปีแล้ว ซึ่งมนุษย์พากันภูมิใจนักหนามาแสนนานว่าเป็นเครื่องนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมนั้น กลับมาจบลงด้วยความผิดหวัง และความสลดหดหู่ใจ นี่แหละคือความสำคัญของทิฏฐิ ทิฏฐิเป็นตัวนำ และเป็นรากฐานทั้งด้านดีและด้านร้ายของอารยธรรมมนุษย์ทั้งหมด มนุษย์จะเป็นไปอย่างไรก็เกิดจากแนวความคิดหรือทิฏฐิทั้งสิ้น สื่อมวลชนมีอิทธิพลสำคัญมากในระดับที่สองนี้ด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องใช้อิทธิพลนี้ด้วยความรับผิดชอบ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง