มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คิดให้กว้าง มองให้ไกล ใฝ่ให้สูง

เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบต่างๆ แล้ว ก็อยากจะพูดถึงจุดเน้นที่ควรทำของสื่อมวลชนไทยปัจจุบัน ก่อนจะพูดเรื่องนั้น ขอทบทวนเรื่องที่พูดไปแล้วว่า ตอนแรกได้พูดถึงปัญหา แล้วก็พูดถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหา

ข้อที่หนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่ว่าไปแล้ว ก็คือ การเสนอข่าวสารข้อมูลให้ถูกต้องแม่นยำตรงประเด็น น่าเชื่อถือหรือเชื่อถือได้ ให้ถึงขั้นที่ว่าเป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงต่อไปได้

ต่อไปก็คือ การพัฒนาคุณภาพของประชาชน โดยเฉพาะพัฒนาด้านปัญญา ให้ประชาชนมีความใฝ่รู้ สนใจสิ่งที่เป็นแก่นสารเป็นสาระ ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวข่าวตื่นเต้น สื่อมวลชนต้องเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ คือบอกกล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม อย่างที่ว่าไปแล้ว

อีกประการหนึ่ง ก็คือ การช่วยแก้กระแสร้ายในสังคม อะไรที่เป็นภัยเป็นอันตรายแก่สังคม เช่น ในปัจจุบันเรามีปัญหายาเสพติด เรื่องเอดส์ เรื่องสภาพแวดล้อมเสียหาย ฯลฯ อะไรที่เป็นภัยอันตราย หรือจะทำให้เกิดภัยอันตราย ตลอดจนแนวโน้มที่ผิดพลาดไม่ถูกต้อง สื่อมวลชนจะต้องยกขึ้นมาพูดเพื่อให้เป็นประเด็นที่จี้ความสนใจของประชาชน เพื่อให้มวลชนได้ร่วมกันตระหนักในปัญหา เท่ากับเป็นยามระวังภัยให้แก่สังคม เรามาช่วยกันป้องกันกำราบภัยอันตรายของสังคมไม่ให้เกิดขึ้น แล้วก็แก้ไขค่านิยมที่ผิดๆ ในสังคม อย่างค่านิยมบริโภคในปัจจุบันนี้ก็ทำความเสียหายแก่สังคมของเรามาก สื่อมวลชนก็น่าจะมีบทบาทว่า ทำอย่างไรเราจะแก้ไขค่านิยมประเภทนี้ได้ แล้วก็เตือนสติสังคมว่า ต่อไปถ้ามีแนวโน้มอย่างนี้ๆ ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น แล้วเราควรจะทำอะไรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ข้อสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดก็คือ การทำหน้าที่ผู้นำที่ดีของสังคมอย่างที่พูดมาแล้ว การทำหน้าที่ข้อนี้จะสำเร็จได้ดี ถ้ามีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อเป้าหมายและจุดหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดมีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานสร้างสรรค์สังคมนี้ คือ

๑. เป้าหมายพื้นฐานของการทำงานเพื่อสังคม สื่อมวลชนแต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร แต่ละหน่วย หรือหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ น่าจะมีเป้าหมายของตนเองที่ชัดเจนว่า เราจะทำอะไรให้แก่สังคม การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะต้องตั้งให้เด่นชัดออกมาว่า ฉบับของเรานี้จะทำอะไรให้แก่สังคม

๒. จุดหมายที่ใฝ่สัมฤทธิ์สำหรับสถาบันของตน คือการมีจุดหมายสูงส่งที่เป็นอุดมคติ น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะต้องมีหนังสือพิมพ์ไทยสักฉบับหนึ่งที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพสูงมาก เป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในระดับนำของโลก

อันนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องน่าขำ แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ขออย่าให้มองตัวเองต่ำหรือดูถูกตัวเอง เรื่องนี้อยู่ที่เราต้องมีความมุ่งหมาย ถ้าเราไม่ตั้งความมุ่งหมาย ไม่มีความเด็ดเดี่ยวในความตั้งใจ มันก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เราจะมัวคิดแคบๆ อยู่แค่ประเทศของเรา แล้วก็มองประเทศของเราเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยคงจะไม่ได้ ถ้าเราตีค่าตัวเองต่ำ มันก็ทำให้เราไม่ทำอะไรที่มีความสำนึกในทางที่สูง หรือที่เป็นการสร้างสรรค์พัฒนาอย่างสูง เราจะต้องตั้งเป้าหมายให้สูง การตั้งเป้าหมายสูงทำให้เราต้องพัฒนาศักยภาพของตน และเราก็มีศักยภาพที่พัฒนาได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจะต้องคิดในระดับโลก ไม่ใช่คิดแค่ในระดับประเทศไทย เราจะต้องนำกิจการของเรา นำสถาบันของเราขึ้นไปสู่ระดับโลก สู่มาตรฐานที่สูง หรือแม้แต่จะเป็นผู้นำผู้หนึ่งในโลกให้ได้ และในกรณีนี้การสร้างสรรค์สังคมนั้นก็ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์สังคมไทยเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างสรรค์สังคมในระดับโลกที่เป็นอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมด การสร้างสรรค์สังคมในที่นี้จึงต้องมองให้กว้าง เพราะเวลาเราพูดว่าสร้างสรรค์สังคม เราก็มักจะมองแค่สังคมไทย ซึ่งคิดว่าไม่พอ และปัจจุบันนี้ถ้าเราแก้ปัญหาระดับโลกไม่ได้ ก็แก้ปัญหาของสังคมไทยไม่สำเร็จด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องมองให้ถึงขั้นที่ว่าจะสร้างสรรค์สังคมของมนุษยชาติทั้งหมด คือ สร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยโลกทั้งหมด

ถ้าหนังสือพิมพ์มีความรับผิดชอบในตัวเอง ทำหน้าที่ของตนให้ดี ทำตัวเองให้น่าเชื่อถือแล้ว มันก็เป็นการสร้างสรรค์สังคมไปในตัวเลย เราทำงานของเรา งานนั้นเป็นการสร้างสรรค์สังคมอยู่แล้วในตัว แม้แต่ไม่ไปคิดอะไรเป็นพิเศษ มันก็เป็นการสร้างสรรค์สังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อาตมาจึงบอกว่าการที่ตั้งชื่อเรื่องว่า สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรหรอก มันเป็นงานของสื่อมวลชนอยู่แล้ว เพียงแต่เราทำหน้าที่ของเราให้ดีให้ตรง อย่างมีความรับผิดชอบเท่านั้น มันก็ได้สำเร็จความมุ่งหมายนี้ในทันทีอยู่แล้ว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง