มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม1

ขอเจริญพร ท่านผู้เข้าร่วมในที่ประชุมแห่งนี้ ทั้งท่านที่เป็นกรรมการ และท่านผู้เป็นสมาชิก

วันนี้เรามีเวลาค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นอาตมาจะไม่พูดอารัมภบทอะไรให้ยืดยาว เรื่องที่ได้รับนิมนต์มาพูด กำหนดกันไว้ว่า “สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม” ชื่อเรื่องนี้ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรเลย เพราะว่างานของสื่อมวลชนนั้นเป็นงานสร้างสรรค์สังคมในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถึงจะไม่บอกว่าสร้างสรรค์สังคม ก็ต้องสร้างสรรค์สังคม เพราะคำว่า สื่อมวลชน นั้นบอกอยู่ในตัว

ทำไมจึงว่า คำว่า สื่อมวลชน บอกอยู่ในตัวว่า จะต้องสร้างสรรค์สังคม ก็เพราะว่า สื่อมวลชนนั้นประกอบด้วยคำว่า สื่อ กับคำว่า มวลชน คำว่า มวลชน เป็นคำที่อยู่ในประเภทเดียวกับคำว่า 'สังคม' หมายความว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมนั่นเอง เมื่อทำงานสื่อมวลชนก็ทำงานที่เกี่ยวกับสังคม เมื่อทำงานด้านสังคม ก็ต้องทำงานที่เป็นการสร้างสรรค์สังคม ใครจะไปทำงานที่เป็นการทำลายสังคม ถ้าไปทำงานที่ทำลายสังคม เราก็คงไม่ได้รับการยอมรับ นอกจากนั้น การสื่อเป็นเรื่องของการติดต่อสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตแห่งความรู้และการเกี่ยวข้องกัน ทำให้สังคมเคลื่อนไหว ก้าวหน้า มีอะไรๆ เพิ่มพูน แปลกใหม่ จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับความจริงเหมือนกันว่า การสร้างสรรค์กับการทำลายนั้นบางทีมันก็อยู่เฉียดๆ กันนี่เอง ถ้าหากว่าทำพลาดไป แทนที่จะเป็นการสร้างสรรค์ มันก็กลับเป็นการทำลาย ความพลาดนั้นก็เกิดได้จากเหตุหลายอย่าง เช่น เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีความรู้แท้จริงบ้าง ไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบเพียงพอบ้าง สาเหตุอย่างอื่นบ้าง ซึ่งอาจมีหลายเหตุหลายประการด้วยกัน เพราะฉะนั้น บางครั้งเราจึงต้องมีการมาเน้นในเรื่องการทำหน้าที่ว่าให้เป็นการสร้างสรรค์สังคม ทั้งๆ ที่จริง ตัวงานนั้นก็เป็นงานสร้างสรรค์สังคมอยู่แล้ว

1ปาฐกถาแสดงในโอกาสการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๓๗ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง