ในเรื่องของการทำหน้าที่สื่อมวลชนนี้ อาตมาขอเสนอหลักอย่างหนึ่งว่า สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูล ท่านสอนหลักการว่า จะต้องมีปัญญาชุดหนึ่ง ในระดับของวิธีการที่จะจัดการกับข่าวสารข้อมูล ปัญญาในการจัดการกับข่าวสารข้อมูลนี้ มี ๔ ข้อที่สำคัญ คือ
ข้อที่หนึ่ง ชัดเจนในเนื้อหา หมายความว่าเราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่กำลังพูดจากล่าวถึงนั้นๆ อย่างชัดเจนเพียงพอ เรียกว่าเมื่อมองหรือนึกถึงเรื่องนั้นๆ แล้ว เรามองเนื้อหาของมันได้ชัดว่ามีอะไรบ้างและเป็นอย่างไร สามารถลำดับเรื่องราวได้ พรรณนาได้ บรรยายได้ในใจของเรา นี้เรียกว่ามีความเข้าใจเนื้อหาสาระความเป็นไปของเรื่องราวนั้นอย่างเพียงพอ อันนี้เป็นประการแรกในการที่เราจะทำงานเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล ต้องได้อันนี้ก่อน ต้องถามตัวเองว่าเรามีความเข้าใจเรื่องนี้เพียงพอไหม ชัดเจนไหม ถูกต้องไหม รู้ความจริงไหม ถามตัวเองให้ชัดก่อน ถ้ายังไม่ชัดจะได้รีบค้นหาสืบสาวให้ชัด มิฉะนั้นแล้ว ถ้าขั้นนี้พลาด เราก็พลาดหมดเลย แล้วจะทำหน้าที่ไม่ได้แม้แต่ในการที่จะเสนอข่าวสารให้ถูกต้องแม่นยำ จะต้องถามตัวเองให้ได้ในข้อนี้ก่อน
ข้อที่สอง จับประเด็นได้ คือ จะต้องรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้หรือเรื่องราวความเป็นไปหรือเนื้อความทั้งหมดนี้ ตัวประเด็นอยู่ที่ไหน จุดของปัญหาอยู่ที่ไหน จะเห็นว่าหลายคนสำหรับเรื่องราวนี่ ตัวเองพอจะรู้ เข้าใจหรือรู้รายละเอียดชัดเจน แต่จับประเด็นไม่ถูก ทำให้เจาะเรื่องไม่ถูกและไปไม่ได้ไกล เพราะฉะนั้น ในประการที่สอง ผู้ทำงานสื่อมวลชนจะต้องถามตัวเองว่า ในเรื่องนี้ตัวประเด็นอยู่ที่ไหน จุดของปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วตัวเองมีความชัดในตัวประเด็นหรือไม่
ข้อที่สาม ใช้ภาษาเป็น คือ มีความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสาร จะต้องสามารถใช้ภาษาสื่อความเข้าใจให้แก่ประชาชน ให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราเสนอได้ถูกต้องแม่นยำชัดเจน ตรงตามที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ ถ้าสามารถมากกว่านั้น สื่อมวลชนบางคนเก่งก็สามารถแม้แต่ชักจูงความคิดเห็นความเชื่อได้ ถึงขั้นที่เรียกว่าสร้างประชามติได้ สร้างมติมหาชนได้ สร้างทัศนคติได้
ผู้ที่สามารถถึงขั้นนี้ จะต้องให้ความสามารถพัฒนาไปพร้อมกับคุณธรรมความรับผิดชอบ ทั้งในแง่การใช้ตัวภาษาที่ถูกต้องดีงาม เป็นแบบอย่างได้ และในการโน้มน้าวชักจูงประชาชนในทางที่ดีงาม ด้วยเจตนาที่เป็นกุศล แต่อย่างน้อยจะต้องใช้ภาษาสื่อสารให้เขาเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
ข้อที่สี่ ให้ความรู้ความคิดใหม่ คือ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ต่างๆ มาสร้างสรรค์ความคิดหรือความรู้ใหม่ๆ เกิดเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือแนวทางที่จะแก้ปัญหา ข้อนี้ก็คือ การเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วนั่นเองมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน สร้างความรู้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ผู้ใดมีปัญญาในด้านการจัดการข่าวสารข้อมูลสี่ประการนี้ ผู้นั้นก็มีความพร้อมในการทำหน้าที่สื่อมวลชน
สี่อย่างนี้ก็เป็นธรรมะในพุทธศาสนานั่นเอง
ข้อที่หนึ่ง เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในเนื้อหา เข้าใจเรื่องราวความเป็นไปถูกต้องชัดเจน
ข้อที่สอง เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในตัวหลัก หมายถึงจับประเด็นได้ รู้จุดของปัญหา
ข้อที่สาม เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา คือ ความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสาร ให้ได้ผลตามต้องการ ตลอดจนนำความคิดของประชาชนได้
ข้อที่สี่ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ คือ การเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ความรู้ความคิดใหม่ที่จะใช้แก้ปัญหาและทำสิ่งใหม่ๆ ให้เจริญก้าวหน้าไปได้
วิธีปฏิบัติอย่างง่ายๆ เมื่อเสนอข่าวหรือโดยเฉพาะเมื่อเขียนบทความหรือข้อเขียนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ลองถามคำถาม ๔ ข้อ ต่อไปนี้กับตัวเอง ว่าเรื่องที่เราพูดหรือเขียนหรือนำเสนอนี้
๑. เรารู้ชัดเจนแน่ใจตรงตามความจริงและเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวโล่งตลอดดีหรือไม่?
๒. เราจับประเด็นได้ถูกต้อง หรือมองเห็นจุดของปัญหาแน่นอนหรือว่าคืออะไร?
๓. คำความสำนวนทำนองภาษาที่ใช้ดีงาม สื่อความได้ชัดเจน ตรงประเด็น และมั่นใจว่าจะได้ผลอย่างที่ต้องการไหม?
๔. ที่เราพูดหรือเขียนนี้ มีอะไรเสนอที่มีคุณค่าในการแก้ปัญหา หรือให้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ บ้างหรือไม่?
สี่ข้อนี้เป็นบทฝึกหัดอย่างดีสำหรับผู้เข้าสู่วงการสื่อมวลชน ถ้าตอบได้คะแนนบวกทั้งสี่ข้อ ก็เชื่อได้ว่า หนทางแห่งความเจริญก้าวหน้าในวงการนี้รออยู่แล้วข้างหน้า
ถ้าผู้ทำงานสื่อมวลชนมีคุณสมบัติ ๔ อย่างนี้แล้ว ก็มีความพร้อมในการจัดการกับข่าวสารข้อมูล ต่อจากนี้ก็อยู่ที่คุณธรรมว่า ในการใช้ปัญญาแตกฉานนั้น เรามีคุณธรรมหรือไม่ และมีเจตนาอย่างไรในการที่จะเอาความสามารถนี้มาใช้จัดการกับข่าวสารข้อมูล ถ้าสื่อมวลชนมีเจตนาดีบริสุทธิ์ใจ ต้องการจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมอย่างแท้จริง เราก็ใช้ความสามารถในการจัดการกับข่าวสารข้อมูลนั้นให้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ได้