มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หน้าที่หลักของสื่อมวลชน

ทีนี้ก็มาดูว่าการที่จะเป็นสื่อสาร หรือสื่อสิ่งที่เป็นแก่นสารแก่ประชาชนได้นั้น สื่อมวลชนมีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าว่าถึงหน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชน ก็เห็นกันง่ายๆ จากความหมายที่พูดไปแล้วว่า หน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชน ก็คือ การนำเอาข่าวสารความรู้ไปให้แก่ประชาชน หน้าที่นี้ที่จริงมีความสำคัญมาก คนเรานี้จะต้องมีการสดับตรับฟังข่าวคราวความเป็นไป สมัยโบราณเรายังไม่มีสื่อมวลชน และระบบการกระจายแพร่ข่าวยังไม่ดีพอ ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็ใช้วิธีปากต่อปาก เมื่อพูดต่อๆ กันไปหลายชั้นเข้าก็มักกลายเป็นข่าวลือ ด้วยเหตุนี้ ในสมัยก่อนนั้นข่าวลือจึงมีบทบาทมากในสังคม ฉะนั้น ในสมัยปัจจุบัน ถ้าเราไม่มีสื่อมวลชนมาทำหน้าที่นี้ ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าข่าวลือมากมาย ในแง่นี้สื่อมวลชนก็มามีบทบาทแทนที่ข่าวลือ โดยทำหน้าที่ให้ข่าวสารที่เที่ยงตรง แน่นอน ถูกต้อง ไม่ต้องมีข่าวลือ นับว่าเกื้อกูลต่อความเจริญปัญญาและประโยชน์สุขของมนุษย์มาก จัดว่าเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สังคม

อย่างไรก็ตาม ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นข่าวลวงหรือข่าวลือแบบใหม่ที่อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหายยิ่งกว่าข่าวลือเสียอีก เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ข่าวลือนั้นเป็นโทษแก่สังคมเพียงไร ตอนนี้สื่อมวลชนมาช่วยทำให้เราไม่ต้องไปเชื่อฟังข่าวลือ เราจะได้รับข่าวสารความรู้ที่แน่นอน เราหวังคุณค่าหรือประโยชน์นี้จากสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ คือ ให้ข่าวสารข้อมูลความจริงที่ถูกต้องเป็นหลักเป็นฐาน ซึ่งจะทำให้เราภูมิใจได้ว่า ประชาชนจะไม่ต้องหลงไปตามข่าวลือ ไม่ต้องหมกอยู่ในความมืดของการพูดปากต่อปาก ที่ไม่อาจจะรู้ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และเป็นหน้าที่พื้นฐานทีเดียว

นอกจากเป็นสื่อที่ให้ข่าวสารความรู้แล้ว ก็สื่อความคิดเห็นด้วย สื่อมวลชนไม่ใช่ให้เพียงข้อมูลข่าวสาร แต่ให้ความคิดความเห็นหรือทรรศนะต่างๆ ด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน เป็นหน้าที่ขั้นที่สอง เราจะเห็นว่าในวงการหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เผยแพร่เฉพาะข่าวที่เล่าว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในสังคมเท่านั้น แต่จะมีเรื่องของคอลัมนิสต์ เป็นต้น ที่พูดแสดงความคิดเห็นต่างๆ เช่นวิจารณ์ข่าวที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัจจุบันนี้สื่อมวลชนดูเหมือนจะมีแนวโน้มในการแสดงบทบาทด้านนี้มากขึ้นๆ ซึ่งจะเป็นการย้ำเน้นการทำหน้าที่ในฐานะเป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม ตลอดจนรัฐบาลกับ ประชาชน แล้วสะท้อนเสียงประชาชนเข้ามาสู่รัฐบาลหรือองค์การนั้นๆ ด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง