มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความบกพร่อง: อุปสรรคหรือทางเลือกของสื่อมวลชน

ทีนี้อาตมาอยากจะพูดถึงสภาพปัญหาบางอย่างในปัจจุบัน ที่ทำให้สื่อมวลชนบางทีก็ทำหน้าที่และบทบาทไม่ได้เท่าที่ควร หรือไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ประการที่ ๑ ก็คือ เรายังมีจุดอ่อนในวงการสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อย เกี่ยวกับเรื่องการเสนอข่าวสารที่ขาดความถูกต้องแม่นยำ อันนี้ก็ต้องบอกว่าตัวอาตมาเองก็ได้ประสบ คือ สื่อมวลชนหรือผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์อะไร เวลาไปลงข่าวไม่เหมือนอย่างที่เราพูด ก็เกิดโทษ เพราะว่าสื่อมวลชนนี่ประชาชนเชื่อถือ และอีกอย่างหนึ่งระยะยาวมันเป็นหลักฐานอ้างอิงด้วย เพราะฉะนั้น หนังสือพิมพ์ควรจะเป็นหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ถ้าหลักฐานอ้างอิงเชื่อถือไม่ได้ อันตรายก็เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราจะพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เราก็พึ่งหนังสือพิมพ์ เราก็ไปค้นเอาข่าวหนังสือพิมพ์เป็นหลักฐานอ้างอิงมาบอกว่า หนังสือพิมพ์วันที่เท่านั้น เดือนนั้น ปีนั้น ลงข่าวว่าอย่างนี้ แต่เมื่อหลักฐานอ้างอิงนั้นไม่ถูกต้อง ก็เสียหายหมด กลายเป็นเรื่องเท็จ เพราะฉะนั้น ข้อนี้จะต้องถือว่าเป็นหน้าที่พื้นฐานเลยทีเดียว และจะต้องทำให้ได้ คือ ความถูกต้องแม่นยำในการเสนอข่าวสารข้อมูล

ยิ่งกว่านั้นเมื่อให้ข่าวสารข้อมูลไปแล้ว ถ้าสื่อมวลชนนำมาเสนอผิดพลาด ต่อไปผู้ให้สัมภาษณ์ก็กลัว เวลาจะเจอกับผู้สื่อข่าว เราก็จะเกิดกลัวขึ้นมาว่า เอ! นี่จะพูดยังไงดี หรือบางทีเราก็หาทางหลบ ไม่อยากจะพูดด้วย ก็เสียประโยชน์ไป

เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นข้อที่หนึ่งที่จะต้องทำให้ได้ ซึ่งยังมีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร เราต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีความบกพร่องในเรื่องของการเสนอข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ไม่แม่นยำ

ประการที่ ๒ คือ ความลึกซึ้งในเชิงปัญญาและเหตุผล อันนี้ไม่เฉพาะการเสนอข่าวหน้า ๑ เท่านั้น แต่ที่สำคัญคือการเสนอข้อวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้เหตุผลกันมาก บางทีก็พูดเอาง่ายๆ เกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะว่ากราดไปหมด หนังสือพิมพ์และนักเขียนนักข่าวที่มีความรับผิดชอบและใช้สติปัญญาอย่างดีก็มี แต่เราพูดถึงสภาพปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ และพูดในแง่ที่ว่า มันยังมีอยู่มาก ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไข

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ก็คือบางทีเราไปเน้นในแง่ของรูปแบบ มุ่งเอาสีสันทันสมัยเสียมากกว่า มุ่งแต่จะทำให้เกิดความตื่นเต้นจูงใจ แทนที่จะเน้นในแง่ของความถูกต้องแม่นยำและการใช้ปัญญาหาเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญหรือเป็นสาระของงานสื่อมวลชน หากว่าสื่อมวลชนทำตามหลักการนี้ได้ ก็จะพัฒนาคุณภาพประชาชนไปด้วย แต่ถ้าหากเรามุ่งเอาแต่เรื่องของการเสนอรูปแบบสีสันที่น่าตื่นเต้นแล้ว ประชาชนก็จะจมอยู่อย่างนั้นเอง ได้แต่วกวนอยู่ในเรื่องของความสนุกสนานมัวเมาวนเวียนอยู่กันอย่างนี้ ไม่ค่อยพัฒนาทางปัญญา ถ้าใช้คำแรงก็ต้องว่า บางทีสื่อมวลชนก็อาจจะเห็นแก่ผลประโยชน์มากไป คือ แทนที่จะมุ่งอุดมคติในการที่จะสร้างสรรค์สังคม ก็มุ่งแต่ในแง่ของผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นส่วนบุคคลบ้าง เป็นส่วนของกลุ่มพวกของตัวบ้าง มุ่งหาผลประโยชน์โดยสร้างความตื่นเต้นให้ประชาชนสนใจ และเป็นความสนใจทางอารมณ์ แต่ด้านปัญญาไม่ค่อยมี

ในแง่นี้ เราอาจจะใช้คำรุนแรงว่า สื่อมวลชนจะกลายเป็นผู้หากินบนความโง่ของประชาชน ซึ่งเป็นไปได้เหมือนกัน และไม่ใช่แค่ความโง่ของประชาชนเท่านั้น แต่กลายเป็นว่า หากินบนโลภะ โทสะ โมหะของประชาชน คือ ประชาชนมีความปรารถนามุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว หรือจะสนองความต้องการของตัว อยากจะได้อะไร สื่อมวลชนก็ไปสนองอันนั้น หรือชาวบ้านโกรธชังอะไร เกลียดชัง ไม่ชอบอะไร สื่อมวลชนก็ไปสนองอันนั้น ให้เขาโกรธเกลียดขัดแย้ง ทะเลาะกัน ให้เขาตีกัน เขามีโมหะลุ่มหลงงมงายในเรื่องอะไร ก็ไปเสนอและส่งเสริมในเรื่องนั้น ทำอย่างนี้ก็ได้สิ ประชาชนก็สนใจก็ชอบ แต่สังคมได้อะไร มีแต่เสื่อมลง ไม่มีการสร้างสรรค์ ไม่มีการพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นการทำตามอุดมคติและหลักการ ในทางที่ถูก เราจะต้องนำประชาชนเข้าสู่ความจริง และหลักการแห่งความดีงาม อันนี้จะต้องเป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายสำคัญที่สื่อมวลชนจะต้องทำให้ได้

ขอยกตัวอย่าง ปัจจุบันนี้พูดถึงวงการศาสนา เรามีปัญหาเรื่องพระเครื่อง เรื่องวัตถุมงคล ซึ่งมีการนำมาใช้ในการหาผลประโยชน์ จนกระทั่งเราเรียกกันว่า พุทธพาณิชย์ หนังสือพิมพ์เองก็สามารถหาประโยชน์จากเรื่องนี้ได้เป็นอันมาก ว่ากันไปแล้ว บางทีกลายเป็นการสมคบกันระหว่างพระหรือคนบางกลุ่มกับสื่อมวลชนในการที่จะหาผลประโยชน์อันนี้ไป แล้วก็ทำให้ประชาชนวนเวียนหลงหมกมุ่นอยู่ในระบบผลประโยชน์ และในเรื่องของความลุ่มหลงมัวเมา ถ้าจะเสนอสิ่งเหล่านี้ ทำอย่างไรสื่อมวลชนจะมีเป้าหมายในการที่จะนำประชาชนไปสู่แนวทางที่ดีงามยิ่งขึ้น ให้เขาเกิดปัญญาหรือเป็นการสร้างสรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องหาทางออกให้ได้

สีสันและรูปแบบนั้นก็สำคัญและมีประโยชน์ การที่ทำได้ดีก็เป็นความสามารถที่ควรยกย่องอย่างหนึ่ง แต่จะต้องมีขอบเขต โดยอยู่ในความดีงาม ไม่ชักจูงใจไปในทางตกต่ำ และข้อสำคัญก็คือมันถูกใช้เพื่อสนองเป้าหมายอะไร ถ้าใช้เพื่อชักจูงนำเข้าสู่สิ่งดีงามที่เป็นสาระ ก็เป็นวิธีการที่ดีได้

บางทีหนังสือพิมพ์ก็ชอบแต่เรื่องตื่นเต้น ประชาชนก็ชอบ คบกันได้ดี แต่มันได้แค่อารมณ์ ปัญญาไม่เกิด บางทีก็แหย่ให้คนทะเลาะกัน แหย่ทางโน้นทีทางนี้ที ก็สนุกดีแล้วข่าวก็ตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น อันนี้จะถือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งก็ว่าได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้ภาษา บางทีเราก็ใช้ภาษาเพียงว่าให้ถึงใจคน ซึ่งก็เป็นการสนองความรู้สึกตื่นเต้นอีกนั่นแหละ แต่เสร็จแล้วมันได้สาระอะไร ถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นการสนองความต้องการของประชาชนในทางที่ทำให้ลดคุณภาพลงแทนที่จะพัฒนา บางทีหนังสือพิมพ์ก็อาจจะใช้พวกภาพที่เรียกว่า โป๊ หรือ อนาจารมาช่วย อย่างนี้ก็เป็นวิธีการอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องของระบบผลประโยชน์ทั้งนั้นแหละ แล้วเราจะทำอย่างไร มันเป็นเรื่องของคุณภาพ ทั้งของประชาชน และของสื่อมวลชนเองไปพร้อมกัน ถ้าจะสร้างสรรค์ก็ต้องดึงกันขึ้นไป เราจะต้องขึ้นสู่ทางที่ยากลำบากสักหน่อย สื่อมวลชนจะต้องมีความเพียรพยายามที่จะดึงประชาชนขึ้น พัฒนาปัญญาให้คนรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล การที่จะสร้างสรรค์สังคมนี้ บางทีเราก็ต้องทวนกระแสบ้าง ไม่ใช่ตามกระแส ถ้าตามกระแสกันเรื่อยไป สังคมก็คงพัฒนายาก แล้วบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมก็คงเป็นไปได้ยาก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง