ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าขืนอยู่กับค่านิยมเสพบริโภคและชอบพึ่งอำนาจดลบันดาล
สังคมไทยจะก้าวไม่ไหว เพราะไม่มีแรงแม้แต่จะคลาน

สังคมของเรามีภูมิหลังที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความอ่อนแออยู่หลายประการ ตามธรรมดานั้นมนุษย์เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายหาทางแก้ปัญหา จึงเป็นเหตุเร่งเร้าให้เข้มแข็ง แต่เมื่อสุขสบายก็มีแนวโน้มที่จะนอนเสวยสุข สังคมไทยนั้น โดยทั่วไปเป็นสังคมที่สะดวกสบาย ไม่ค่อยมีทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จึงเปิดโอกาสให้เพลิดเพลินผัดเพี้ยน ทำให้มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชาและนอนเสวยสุข แล้วก็อ่อนแอ ถ้าคนไทยไม่รู้จักระวังตัวก็จะตกอยู่ในความประมาท เมื่อประมาทก็ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก

คนไทยมีภูมิหลังและสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยที่จะให้อ่อนแอ ซึ่งจะต้องตระหนักและพยายามระมัดระวังไม่ปล่อยตัวให้อ่อนแอไปตามสภาพแวดล้อมที่ให้โอกาสนั้น

สภาพแวดล้อมดีหรือสุขสบาย ที่ว่าให้โอกาสนั้น มีความหมายทางบวกก็ได้ ทางลบก็ได้ ในทางบวกก็คือ จะทำอะไรก็ทำได้ง่าย เพราะสภาพแวดล้อมช่วยหนุน และไม่มีเครื่องกีดขวาง หรือมีอุปสรรคน้อย ส่วนในทางลบก็คือ มันชวนให้ปล่อยตัวเพลิดเพลินผัดเพี้ยน ซึ่งเท่ากับทิ้งโอกาสนั้นเสียนั่นเอง กลายเป็นว่า เพราะมีโอกาสก็เลยตกอยู่ในความประมาท

คนประมาทก็คือคนที่ไม่รู้จักใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะได้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ก็กลายเป็นว่าเอาโอกาสนั้นมาเป็นเครื่องเปิดช่องทางแห่งความเสื่อมและทุกข์ภัยให้แก่ตนเอง หรือแก่สังคมของตน

เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยนี้จึงเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพของคนไทยด้วยว่า คนของเรามีศักยภาพในการพัฒนาแค่ไหน เมื่อโอกาสดีมีอยู่อย่างชัดเจนแล้วเราก็ควรจะเอามันมาใช้ประโยชน์ เพราะถ้าเราใช้เป็น สภาพที่ดีนั้นก็กลายเป็นข้อได้เปรียบ แต่เท่าที่เป็นมาคนไทยโดยทั่วไปได้ปล่อยตัวให้เพลิดเพลินอยู่ภายใต้อิทธิพลหล่อหลอมชักจูงในทางลบของสภาพแวดล้อม คือ

1. สภาพอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม เช่น ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้

2. สภาพการพบและรับเอาเทคโนโลยีแบบสำเร็จรูป ที่ตนเองไม่ต้องผลิต ไม่ต้องเพียรพยายามสร้างสรรค์ กับทั้งเป็นเทคโนโลยีประเภทบริโภค ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ เพิ่มความสบายที่จะไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย

จากสภาพความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีแบบรับของสำเร็จรูปมาเพื่อเสพบริโภคนี้ ความหมายของเทคโนโลยีสำหรับคนไทย จึงแตกต่างจากชาวตะวันตก ซึ่งมองเทคโนโลยีในแง่ที่เป็นผลงานจากความเพียรพยายามสร้างสรรค์มาตลอดกาลเวลาเป็นร้อยๆ ปี โดยผ่านวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ หมายถึง วิถีชีวิตแห่งความใฝ่รู้ ชอบศึกษา ค้นคว้าทดลอง คิดตามแนวเหตุผล ส่วนวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ก็หมายถึง วิถีชีวิตแห่งความขยันหมั่นเพียร (industry คืออุตสาหกรรมนั้น แปลว่า ความขยันหมั่นเพียร) ชอบผลิต คิดจะทำ รวมทั้งความอดทนสู้ยากบากบั่น ไม่ยอมแก่งานหนักและความเหน็ดเหนื่อย

ชาวตะวันตกสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงความคิดและฝีมือของตนเอง กว่าจะสร้างสำเร็จได้ก็ต้องพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และใช้วิธีการทางอุตสาหกรรม ไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ ฉะนั้น จึงทำให้ชาวตะวันตกได้พัฒนาคุณสมบัติของตนมาบนภูมิหลังแห่งความเข้มแข็งและความใฝ่รู้

3. วัฒนธรรมน้ำใจ ซึ่งเมื่อใช้ผิดก็กลายมาหนุนระบบอุปถัมภ์ และทำให้เกิดความอ่อนแอ การที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ปฏิบัติธรรมตามหลักพรหมวิหารไม่ครบ 4 ข้อ คือ ใช้เพียง ข้อ 1-2 ได้แก่ เมตตากับกรุณา ไม่ถึงข้อ 3-4 ได้แก่ มุทิตากับอุเบกขา แง่ดีคือทำให้คนทั่วไปในสังคมไทย เป็นคนมีน้ำใจพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน แต่ในแง่เสียก็คือ เมื่อปฏิบัติไม่ถึงข้อ 4 คือ อุเบกขา ก็เสียดุล ทำให้คนจำนวนมากมีนิสัยชอบรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ดิ้นรนขวนขวาย เพราะหวังพึ่งผู้อื่นได้ แล้วก็กลายเป็นคนอ่อนแอ

4. ลัทธิรอผลดลบันดาล กระแสความเชื่อในลัทธิศาสนาที่มาคู่กับสังคมไทยมี 2 สาย คือ ศาสนาแบบพึ่งตนเอง ได้แก่ พุทธศาสนา กับศาสนาแห่งการพึ่งอำนาจดลบันดาลของสิ่งเร้นลับ ได้แก่ ไสยศาสตร์ ลัทธิผีสางเทวดา เทพเจ้า คนไทยปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางนับถือลัทธิพึ่งอำนาจดลบันดาลมาก เมื่อหวังพึ่งอำนาจภายนอกให้มาช่วยเหลือ ก็แน่นอนว่าจะต้องอ่อนแอลงๆ เพราะไม่คิดพึ่งตนเอง และไม่พัฒนาสติปัญญาความสามารถ

5. ค่านิยมเสพบริโภค สังคมไทยนี้มีค่านิยมบริโภคมาก คือ ต้องการได้รับการบำรุงบำเรอเห็นแก่สะดวกสบายไม่อยากทำอะไร ไม่เป็นนักผลิต ไม่เป็นนักสร้างสรรค์ อย่างที่พูดในข้อก่อนว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่สังคมที่ผลิตเทคโนโลยี จึงเป็นผู้รับและผู้ตาม คือต้องคอยรอดูว่าใครเขาผลิตอะไรใหม่ๆ คอยตามดูตามฟังข่าวและตามรับ เมื่อเป็นผู้บริโภคก็ต้องซื้อ เขาก็ล่อให้ติดเหยื่อ เลยเป็นผู้รับ เป็นผู้ตาม และเป็นเหยื่อของประเทศผู้ผลิตเรื่อยไป

แม้แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ คนไทยก็ใช้เพื่อเสพมากกว่าเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า เด็กและเยาวชนไทยดูโทรทัศน์เพื่อเสพมากกว่าเพื่อศึกษา ถ้าคุยกับเด็กๆ จะพบว่าเยาวชนไทยดูโทรทัศน์เพื่อเสพไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ดูเพื่อการศึกษาไม่ถึงร้อยละ 20 ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรแนะนำส่งเสริมให้เยาวชนไทยดูโทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้มากขึ้น โดยในระยะแรกอาจเริ่มด้วยอัตราส่วนที่ดูเพื่อเสพร้อยละ 70 และดูเพื่อการศึกษาร้อยละ 30 แล้วค่อยพัฒนาการดูเพื่อการศึกษาให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เยาวชนไทยที่จะให้ความหวังแก่สังคมไทยได้ จะต้องเป็นคนประเภทที่มีความสุขจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำการสร้างสรรค์ จะเห็นว่ามีคน 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คือ พวกหนึ่งหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี และอีกพวกหนึ่งหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ ถ้าเยาวชนของเรามีนิสัยชอบหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ ต่อไปประเทศไทยจะชนะทั้งในเวทีเอเชียและในเวทีโลก ถ้าเด็กไทยชอบหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์แล้วต่อไปเขาจะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีเองด้วย และจะมีความสำเร็จที่สูงยิ่งขึ้นไป

เหตุปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ เมื่อกล่าวโดยสรุปมี 2 อย่าง คือ

1. การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาล ซึ่งทำให้ไม่เพียรพยายามที่จะทำการให้สำเร็จด้วยตนเอง (ข้อนี้เกิดจากวัฒนธรรมน้ำใจที่เสียดุล และความเชื่อในลัทธิไสยศาสตร์ รออำนาจฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์)

2. การเห็นแก่สะดวกสบายและค่านิยมเสพบริโภค ชอบความโก้เก๋ เป็นต้น (ข้อนี้เกิดจากความเพลิดเพลินปล่อยตัวตามธรรมชาติแวดล้อมที่สะดวกสบาย ไม่มีภัยคุกคาม และเคยชินกับการเสพบริโภคเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่สังคมอื่นผลิตเสร็จมาแล้ว)

เพื่อรับมือและแก้ไขเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ผู้บริหารประเทศ นักการศึกษาและคณะสงฆ์จะต้องมาตกลงกำหนดเป็นแนวทางให้ชัดเจนว่า เราจะพัฒนาคนของเราอย่างไร และพร้อมกันนั้นก็จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างด้วย ถ้าแก้ 2 ข้อนี้ไม่ได้สังคมไทยคงจะต้องย่ำอยู่กับที่ หรือไม่ก็ถอยหลัง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง