ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พอลูกลืมตาดูโลก
พ่อแม่ก็เริ่มแสดงบทบาทแรก

เด็กๆ เป็นผู้เข้ามาหรือออกมาสู่โลกใหม่ๆ เขายังไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักสิ่งแวดล้อม และยังไม่มีความคิดว่าจะเอาอย่างไรกับโลก ตอนนี้แหละที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อเด็ก “ลืมตาดูโลก” เขาจะมองเห็นโลกอย่างไร รู้สึกต่อโลกอย่างไร และนึกคิดตั้งใจว่าจะสัมพันธ์กับโลกหรือปฏิบัติต่อโลกอย่างไร ก็อยู่ที่คนแรกที่ใกล้ชิดจะแสดงหรือนำเสนอโลกนั้นแก่เขา และเมื่อเขารู้จักโลกนี้ มองโลกนี้ มีความรู้สึกและตั้งใจต่อโลกนี้อย่างไรแล้ว ทัศนคติและเจตจำนงนั้นก็จะมีอิทธิพลกำกับบทบาทของเขาต่อโลกนี้ไปจนตลอดชีวิต

พ่อแม่เป็นมนุษย์คนแรกที่เด็กรู้จัก อยู่ใกล้ชิดกับเขามากที่สุด และเอาใจใส่เขาอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น ตามปกติพ่อแม่จึงเป็นผู้ทำบทบาทนี้ต่อลูก คือเป็นผู้เปิดฉากแสดงหรือนำเสนอโลกนี้แก่ลูก บทบาทของพ่อแม่ข้อนี้มีความสำคัญยิ่งที่จะกำหนดวิถีชีวิตของลูกและชะตากรรมที่เขาจะมีส่วนสร้างให้แก่สังคม พ่อแม่จึงจะต้องระลึกตระหนักไว้ให้ดี และต้องพยายามนำเสนอโลกแก่ลูกให้ดีที่สุด

ว่าโดยย่อ การนำเสนอโลกแก่ลูกหรือแก่เด็กๆ นั้น จะมีอิทธิพลสำคัญในการหล่อหลอม หรือชักจูงในเรื่องที่สำคัญ 3 อย่าง คือ

1. การมองโลกมนุษย์ คือการรู้จัก รู้สึก นึกคิด มองเห็น เข้าใจ และ มีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ ในทางบวกว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่จะมีความรัก มีไมตรี เป็นมิตร เป็นผู้ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือในทางลบว่าเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรู ที่จะต้องต่อสู้แย่งชิงกัน ทำลายล้างห้ำหั่นกันให้แหลกลาญลงไปข้างใดข้างหนึ่ง

2. การมองโลกแห่งสิ่งแวดล้อม คือทัศนคติต่อโลกแห่งธรรมชาติ ต่อโลกแห่งวัตถุ หรือสิ่งสร้างสรรค์และปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมทั้งโลกแห่งเทคโนโลยี ในทางบวก เช่น มองเห็นโลกเป็นดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่น่าอัศจรรย์น่าเรียนรู้น่าศึกษา มีความงดงาม ที่จะออกไปชื่นชมและร่วมสร้างสรรค์ หรือในทางลบ มองเห็นโลกเป็นแหล่งแห่งสิ่งที่เราอยากจะได้อยากจะเอา เป็นเวทีแห่งการต่อสู้ช่วงชิง ที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งเสพบริโภคที่จะมาบำรุงบำเรอตัวเองให้มีความสุขมากที่สุด หรือในทางแห่งปัญญาที่จะมองตามความเป็นจริง ให้รู้เข้าใจ มองเห็นเหตุผลในสิ่งต่างๆ พร้อมที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาหรือสิ่งเลวร้าย และสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งที่ดีงามเป็นคุณ

3. เจตจำนงต่อโลก คือความคิดความตั้งใจ หรือความตั้งจิตคิดหมายของเด็ก ทั้งต่อโลกมนุษย์ และโลกแห่งสิ่งแวดล้อม ว่าจะเอาอย่างไรกับโลก จะปฏิบัติต่อโลกหรือมีความสัมพันธ์กับโลกนั้นอย่างไร เขาจะออกไปทำอะไรกับโลก หรือเอาอะไรจากโลก เป็นต้น เช่นในทางบวกว่าจะออกไปร่วมอยู่ร่วมสร้างสรรค์ หรือในทางลบว่าจะออกไปต่อสู้ห้ำหั่นชิงชัย ฯลฯ

เริ่มต้นตั้งแต่ข้อแรก พ่อแม่ คือมนุษย์ชายหญิงที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกตลอดเวลานั้น ก็คือตัวแทนของมนุษย์หมดทั้งโลก ซึ่งรวมแล้วก็มีเพียง 2 คน คือหญิงกับชาย พ่อแม่ในฐานะมนุษย์ชายหญิงที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดนี้ กำลังทำหน้าที่ในบทบาทที่สำคัญยิ่ง คือการก่อร่างสร้างทัศนคติของเด็กต่อโลกมนุษย์ หรือต่อมนุษย์หญิงชายทั่วทั้งโลก

ตอนนี้ข้ออุ่นใจก็เกิดขึ้นว่า โดยทุนเดิมตามธรรมชาติที่พ่อแม่มีความรักต่อลูก ท่าทีความรู้สึกและการปฏิบัติต่อลูก แม้โดยไม่รู้ตัว หรือไม่ได้ตั้งใจ ก็จึงเป็นไปในทางแห่งความมีเมตตากรุณา นำเด็กให้มีความรู้สึกที่ดีงาม คือท่าทีแห่งมิตรไมตรี ความรักความอบอุ่น และการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

เมื่อพ่อแม่มีลูกคนอื่นๆ พ่อแม่ก็จะนำให้ลูกมีความรู้สึกต่อลูกคนอื่นๆ นั้นว่าเป็นพี่เป็นน้อง และให้ความเป็นพี่เป็นน้อง มีความหมายในแง่ของความรักความผูกพัน พ่วงมาในตัว (เราจึงใช้คำว่าพี่น้องในความหมายที่แสดงถึงความรักความอบอุ่นช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน) ต่อมาพ่อแม่ก็แนะนำแสดงญาติมิตรอื่นๆ เช่น ลุง ป้า น้า อา โดยพ่วงมากับความรู้สึกและทัศนคติที่ดี กว่าเด็กจะโตขึ้นมา พ่อแม่ที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติคู่นี้ ก็ได้ชักนำให้ลูกเกิดมีทัศนคติพื้นฐานต่อเพื่อนมนุษย์ในทางที่ดีเป็นมิตร มีไมตรีขึ้นแล้ว นี้เป็นตัวอย่างของการทำบทบาทของพ่อแม่ในการแสดงโลกหรือนำเสนอโลกนี้แก่ลูก

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง