ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ลักษณะของคนมีการศึกษา คือ เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาจึงเป็นเครื่องแสดงว่าคนผู้นั้นเริ่มมีการศึกษา ถ้าใครไม่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาก็แสดงว่ายังไม่มีการศึกษา

การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ต้องเริ่มฝึกกันตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การนอน การเล่น เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่า ให้ฝึกการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาเริ่มตั้งแต่การกินอยู่ประจำวัน จะกินอาหารก็รู้จักกินด้วยปัญญา ถ้ามนุษย์รู้จักบริโภคปัจจัย 4 เริ่มแต่กินอาหารด้วยปัญญา การศึกษาก็เริ่มต้น คือกินด้วยความรู้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการกินว่ากินเพื่ออะไร ไม่ใช่กินแบบขาดสติหลงเพลินเรื่อยๆ เปื่อยๆ ไปตามรสอร่อย แต่มีความตระหนักรู้ว่ากินเพื่อบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต กินเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง หรือกินเพื่อคุณภาพชีวิต

เมื่อกินด้วยความรู้เข้าใจมีปัญญาแล้ว ความรู้หรือปัญญานั้นก็จะมาจำกัดขอบเขตของการกินให้พอดี ทั้งในแง่ปริมาณของอาหาร และประเภทของอาหาร เพื่อให้การกินเกิดประโยชน์แก่ชีวิตมากที่สุด นี้คือศีลที่เรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” แปลว่า ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักกินให้พอดี

การกินพอดี ซึ่งเป็นการกินด้วยปัญญา จะพ่วงมาด้วยด้วยท่าทีแห่งการมองอาหารในความหมายว่าเป็นปัจจัย การมองอาหาร มองสิ่งของเครื่องใช้ มองวัตถุ มองเทคโนโลยี มองเงินทอง และมองเศรษฐกิจเป็น ปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่มองเป็นจุดหมาย จะมีผลสืบเนื่องในเชิงสร้างสรรค์อีกหลายอย่างกว้างไกล อย่างน้อยก็จะเป็นการบริโภคที่มีความมั่นใจด้วยปัญญา คนที่บริโภคด้วยปัญญารู้ว่าตนทำถูกต้องตรงตามความจริงแล้วจึงมีความมั่นใจด้วยปัญญา และจะไม่หวั่นไหวต่อค่านิยมโก๋เก๋ ใครจะชอบไปกินอาหารปรุงแต่งอย่างไรก็รู้ทัน ไม่สนใจ เพราะตนเองมั่นคงด้วยปัญญา นี้คือการศึกษาได้เริ่มต้นแล้ว และเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ

ปัจจุบัน การกินอาหาร และการเสพบริโภคเทคโนโลยีต่างๆ ได้หวั่นไหวไปตามค่านิยม ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ถูกเขาใช้เป็นเครื่องมือล่อเหยื่อหาผลประโยชน์กันได้เต็มที่ เพราะเป็นการบริโภคอย่างขาดปัญญา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง