เรื่องที่สอง ค่านิยมเสพบริโภค หมายถึงการเห็นแก่ความง่าย สะดวกสบาย เป็นนักเสพบริโภค เอาแต่สนุกสนาน รวมไปถึงค่านิยมที่ชอบโก้เก๋ เอาพฤติกรรมเสพบริโภคมาอวดกัน ไม่เป็นนักผลิต ไม่ขยันอดทน ไม่สู้งาน
เมื่อคนไทยไม่เป็นนักผลิต สังคมไทยก็ไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อมองอย่างเปรียบเทียบกันในระบบแข่งขัน ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่สังคมที่ผลิตเทคโนโลยี สังคมไทยก็ย่อมเสียเปรียบ เพราะเป็นผู้รับ เป็นผู้ตาม และเป็นเหยื่อของสังคมที่เป็นผู้ผลิต เป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกกำหนด หมดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอิสรภาพ
ยิ่งกว่านั้น เมื่อรับเอาเทคโนโลยีมาแล้ว เรายังนำมาใช้เพื่อการเสพ มากกว่าใช้เพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์ และไม่รู้จักหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต้องเป็นการแก้ระยะยาวและแก้ให้ถึงเนื้อตัวหัวใจของการศึกษา หมายความว่า การศึกษาจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาเป็นนักศึกษาและนักสร้างสรรค์ ไม่ใช่ให้มาเป็นนักเสพนักบริโภค ซึ่งก็คือกลายเป็นคนไม่มีการศึกษา เวลานี้เมืองไทยเต็มไปด้วยนักเสพนักบริโภค หานักศึกษาและนักสร้างสรรค์ได้ยาก
สาระของการศึกษาก็คือการพัฒนาคน ที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงจากผู้เป็นอยู่เพียงเสพบริโภคมาเป็นผู้มีชีวิตที่รู้จักศึกษา เมื่อมองในแง่นี้ก็กลายเป็นว่า ในสังคมไทย การศึกษายังไม่ได้เริ่มต้นเลย เพราะสังคมไทยยังคงเป็นเพียงสังคมของนักเสพนักบริโภค ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ในการสร้างสังคมให้เข้มแข็งนั้น ความเข้มแข็งแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ
1. ความเข้มแข็งทางพฤติกรรม
2. ความเข้มแข็งทางจิตใจ
3. ความเข้มแข็งทางปัญญา
คนส่วนใหญ่จะมองแค่ภายนอก คือดูแค่ความเข้มแข็งทางพฤติกรรม เช่น การแสดงออกทางร่างกาย และทางวาจา ความเข้มแข็งทางพฤติกรรมไม่ใช่ความก้าวร้าวแข็งกระด้าง ความเข้มแข็งทางพฤติกรรมที่ยอมรับได้ คือความขยันขันแข็งจริงจังในการทำงาน แต่ถึงกระนั้น ถ้ามีแต่อาการเข้มแข็งทางพฤติกรรมอย่างเดียวก็ยังไม่ใช่ความเข้มแข็งที่แท้จริง ความเข้มแข็งที่แท้ต้องเกิดจากฐานภายใน คือ ทางจิตใจและปัญญา เช่น การไม่เป็นผู้คอยรอความช่วยเหลือจากภายนอก แต่มีกำลังใจเข้มแข็งมุ่งมั่นตั้งใจเด็ดเดี่ยว พยายามทำการทั้งหลายให้สำเร็จด้วยตนเอง โดยใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา เมื่อเป็นดังนี้ก็จะเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง สามารถฟื้นตัวและแม้แต่ขึ้นไปนำเขาได้
ผู้นำที่แท้จริง คือผู้นำทางปัญญา สังคมไทยจะต้องเลือกเอาว่าจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ หรือเป็นผู้นำทางปัญญา ถ้าคิดแค่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจก็ต้องพูดว่า มีวิสัยทัศน์แคบ ยุคนี้เป็นยุคของโลกแห่งข่าวสารข้อมูล ชัยชนะที่แท้จริงอยู่ที่ปัญญา และปัญญานี้จะเป็นตัวผันเงินอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่ชนะทางปัญญาจะชนะจริงไม่ได้ แม้แต่เงินเองก็ต้องเอามาทำให้เป็นปัจจัยแห่งปัญญาให้ได้
ปัจจุบันนี้ที่สำคัญที่สุด คือ สังคมไทยให้ความสำคัญแก่ปัญญาน้อยอย่างยิ่ง แทบจะพูดได้ว่าเป็นสังคมที่ไม่นิยมปัญญา เอาแต่ผลประโยชน์ นิยมแต่เงิน อยากจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้นำที่แท้จริง และนำไม่สำเร็จ อย่ามัวภูมิใจกับเศรษฐกิจกลวงใน เศรษฐกิจขายทุนเก่า เศรษฐกิจตามกระแส ที่พลอยฟู่ฟ่าไปตามสถานการณ์ โดยไม่มีความสามารถอยู่ในตัวเอง เศรษฐกิจจะมีคุณค่าและเข้มแข็งจริง ต่อเมื่อเอามาใช้เป็นฐานของการพัฒนาให้เกิดความสามารถขึ้นมาในตัวของเรา โดยเฉพาะจะต้องเอาเศรษฐกิจมาทำให้เป็นปัจจัยแห่งปัญญาให้ได้ สังคมไทยจึงจะพัฒนา และปัญญาจะมาเป็นหลักประกันให้แก่เงินตราต่อไป เวลานี้สังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาน้อยเหลือเกิน
การให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจนั้นถูกต้อง แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่านั้น เศรษฐกิจและเงินนั้นเป็นปัจจัย ไม่ใช่จุดหมาย ปัจจัย หมายความว่า เป็นเครื่องสนับสนุนให้เข้าถึงซึ่งสิ่งที่ดีงามกว่านั้น การพัฒนาของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่เงินตรา แต่ก็ต้องมีวัตถุเป็นเครื่องอาศัย ทางพระพุทธศาสนาเรียกย้ำว่าเป็นปัจจัย เราขาดมันไม่ได้ แต่มันก็เป็นแค่ปัจจัย ซึ่งจะต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ และให้เป็นปัจจัยแก่ความเข้มแข็งทางปัญญาให้ได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปญฺญา ว ธเนน เสยฺโย” แปลว่า ปัญญานี่แหละประเสริฐกว่าทรัพย์ ในยุคปัจจุบันจะต้องเน้นหลักนี้ให้มาก และยังมีพุทธศาสนสุภาษิตอีกข้อหนึ่งว่า “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา” แปลความว่า ในบรรดาสิ่งที่งอกขึ้นมา วิชาประเสริฐสุด บรรดาสิ่งทั้งหลายจะงอกเท่าไรก็ไม่ประเสริฐเท่ากับวิชางอก คือปัญญาเจริญแข็งกล้า แก้ปัญหาลุล่วง และคิดการสำเร็จ คนไทยมองชาวตะวันตกว่าเจริญอย่างไรก็มองไม่ถูก นึกว่าชาวตะวันตกถือลัทธิทุนนิยม ต้องการผลประโยชน์มาก ก็เลยสร้างความเจริญได้สำเร็จ