ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์ อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางรับรู้ติดต่อกับโลกภายนอก มนุษย์จะดำเนินชีวิตอยู่ได้ต้องมีสื่อติดต่อคือ อินทรีย์ ซึ่งทำหน้าที่ 2 อย่าง

1. ใช้เสพ เช่น ตาดูสิ่งสวยงาม หูฟังเสียงไพเราะ ลิ้นลิ้มรสอร่อย เป็นต้น

2. ใช้เรียนรู้ เช่น ตาดูว่าคืออะไร เป็นอย่างไร สัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า ศึกษา

ถ้ามนุษย์ใช้อินทรีย์เพียงเพื่อเสพ ก็ถือว่าการศึกษายังไม่เริ่มต้น มนุษย์ก็จะไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งก็มีอินทรีย์ไว้เสพ การเสพนั้นไม่นำไปสู่การพัฒนา แต่เมื่อใดมนุษย์ใช้อินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียนรู้ ก็หมายถึงว่าการศึกษาได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะการพัฒนา เช่น ความงอกงามของปัญญาจะเริ่มขึ้นในทันที ฉะนั้นจึงต้องฝึกเด็กให้หัดใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้การศึกษาเริ่มต้น และให้เขาก้าวไปในวิถีแห่งการพัฒนาชีวิตของตน ให้เป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี ไม่ใช่เรียนรู้เพียงเพราะจำเป็นที่จะให้อยู่รอด หรือเพียงเพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้เสพบริโภค

ถ้าเด็กใช้อินทรีย์เพื่อเสพ เขาก็จะมัววุ่นอยู่กับการหาสิ่งที่ชอบ และมีความสุขจากการเสพสิ่งที่ชอบใจ เมื่อพบสิ่งที่ไม่ชอบใจก็จะเป็นทุกข์ สุขและทุกข์ก็จะวนเวียนอยู่กับการพบกับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจอย่างนี้ตลอดไป ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องได้รับการบำรุงบำเรอโดยไม่อยากทำอะไร ความสุขมีความหมายพ่วงมา คือการที่สบายไม่ต้องทำอะไร และการกระทำก็กลายเป็นความทุกข์

มนุษย์ที่ใฝ่เสพนั้น มองในแง่ของตัวเขาเองก็จะอ่อนแอลง และต้องทนทุกข์จากการที่ต้องทำอะไรๆ เพราะฝืนใจ เมื่อมองในแง่สังคม การที่จะเสพก็ต้องเอาให้ได้ จึงทำให้ต้องแย่งชิงกัน มือและสมองก็จะมารับใช้ความใฝ่เสพ ดังนั้น สังคมจึงเต็มไปด้วยการแย่งชิงเบียดเบียนและทำลายกัน

ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์เริ่มใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ คือเพื่อการศึกษา เขาจะเริ่มพัฒนาทันที ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น ทัศนคติหรือท่าทีต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป ความหมายของสุขทุกข์ ก็เปลี่ยนไป ความสุขจะพัฒนามากขึ้น ความทุกข์จะน้อยลง เริ่มตั้งแต่ว่าการเรียนรู้ไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ สิ่งชอบใจก็เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจก็เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจเป็นปัญหาบางครั้งกลับเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก ความสุขของเขาเกิดจากการได้เรียนรู้ เมื่อได้สนองความใฝ่รู้เขาก็มีความสุข ฉะนั้นเขาจึงมีความสุขได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ

โดยนัยนี้ คนที่พัฒนาจากการใช้อินทรีย์เพื่อเสพ ขึ้นมาสู่การใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ ก็จะพ้นจากอำนาจครอบงำของความรู้สึก (ฝ่ายตัณหา) ขึ้นมาสู่ความปลอดโปร่งชื่นบานแห่งความรู้ความเข้าใจ (ฝ่ายปัญญา) เรียกว่า พ้นจากสังสารวัฏแห่งความสุขและความทุกข์เพราะชอบใจและไม่ชอบใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ได้พบ เขาจะมองเป็นประสบการณ์ที่จะได้เรียนรู้ ไม่ใช่มองแค่เพียงชอบใจหรือไม่ชอบใจ เมื่อมองในแง่ของการเรียนรู้ก็จะพัฒนาความใฝ่รู้ให้มากขึ้น พอเกิดความใฝ่รู้ก็จะได้ความสุขจากการเรียนรู้ เพราะได้สนองความต้องการคือความใฝ่รู้นั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง