กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มหาปรินิพพานสูตรมีลักษณะพิเศษแท้อยู่ที่ไหน

ข้อต่อไปที่จะพิจารณา เนื่องจากคำกล่าวของท่านเมตตาฯ คือ

๒. มหาปรินิพพานสูตร มีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดรวมกัน จริงหรือ?

ความที่ได้อธิบายมา เท่ากับได้ตอบชี้แจงคำกล่าวนี้ไปแล้ว เพราะเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตรส่วนมากก็แยกย้ายไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มต่างๆ ปาฏิหาริย์ที่กล่าวถึงในเรื่องราวนั้นๆ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มนั้นๆ ด้วย เช่น

- การหายตัวข้ามแม่น้ำคงคาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ไปมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วย พร้อมกับพุทธอุทานครั้งนั้น (สาระที่ท่านมุ่งหมาย ไม่ใช่ให้ติดอยู่กับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่อยู่ที่ธรรมในพุทธอุทานที่ว่า ขณะที่คนทั้งหลายสาละวนอยู่กับการผูกหาเรือแพเพื่อจะข้ามน้ำข้ามทะเล เมธีชนได้ข้ามไปแล้ว ซึ่งหมายถึงข้ามฝั่งสังสารสาคร เมื่อตรัสพุทธอุทานคือธรรมจบ เรื่องจึงจบ ไม่ใช่จบที่ฤทธิ์ปาฏิหาริย์)

- การเห็นเหล่าเทพยดาที่ลงมาตั้งถิ่นฐานในเมืองปาฏลีบุตร ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพุทธอุทานข้อเดียวกันนั้นแหละ

- เรื่องสามารถมีอายุยืนได้ตลอดกัปป์ ก็ได้อธิบายแล้วว่า หมายถึงอายุกัปป์ ไม่ใช่มหากัปป์ที่จะอยู่ถึงสิ้นโลก และเป็นเรื่องที่มีในพระไตรปิฎกมากแห่ง ทั้งเล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ เล่ม ๒๕ และเล่ม ๑๐ นี้

เมื่อเรื่องทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตร มีอยู่ในที่อื่นๆ ในพระไตรปิฎก ปาฏิหาริย์ทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตรก็มีในที่อื่นๆ ของพระไตรปิฎกด้วย เพราะฉะนั้น มหาปรินิพพานสูตรจึงไม่อาจจะมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎก ทั้งหมดรวมกัน

หลักการก็คือ ปาฏิหาริย์เรื่องใด ในมหาปรินิพพานสูตร จะไปมีในพระไตรปิฎกเล่มอื่นหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าในพระไตรปิฎกเล่มอื่นนั้นๆ เก็บเรื่องราวตอนนั้นๆ ด้วยหรือไม่

อย่างเรื่องปาฏิหาริย์ตอนหลังปรินิพพาน ก็ย่อมไม่มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่น เพราะ (อย่างที่บอกแล้วว่า โดยทั่วไปพระไตรปิฎก มุ่งเก็บพุทธพจน์ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เล่าเหตุการณ์ที่ไม่มีพุทธพจน์) ท่านจึงไม่ได้เก็บเรื่องราวตอนนั้นด้วย

แต่ในทำนองเดียวกัน ปาฏิหาริย์หลายเรื่องที่เนื่องอยู่กับเรื่องราวตอนอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการปรินิพพาน ก็มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่น แต่ไม่มีในมหาปรินิพพานสูตร เช่น ปาฏิหาริย์ตอนประสูติ และตอนทรมานชฎิล (คือฝึกให้ชฎิลเปลี่ยนใจ)

จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดว่า มหาปรินิพพานสูตรมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกรวมกันทั้งหมด เดี๋ยวก็จะมีผู้อื่นมาเถียงว่า ปาฏิหาริย์ในพระสูตรอื่น เช่น มหาปทานสูตร น่าอัศจรรย์กว่าในมหาปรินิพพานสูตร

ที่จริง น่าจะมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่จะมีเรื่องเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เด่นพิเศษในบางเรื่องบางเหตุการณ์ แต่รวมแล้วในที่สุด เป้าหมายก็อยู่ที่ธรรมเป็นสูงสุด ทุกอย่างไปจบที่ธรรม

อีกข้อหนึ่งที่จะพิจารณาเนื่องจากคำกล่าวของท่านเมตตาฯ คือ

๓. มหาปรินิพพานสูตร มีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไป จริงหรือ?

คำกล่าวนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างธรรมดา ที่ไม่น่าตื่นเต้นหรือแปลกใจ ที่จริงพระสูตรแต่ละสูตรก็มีลีลาของตน ตามเนื้อหาสาระ และขึ้นต่อวิธีแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าในคราวนั้นๆ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า

  • พระสูตรทั่วๆ ไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการจัดหมู่แยกประเภท ที่ถือธรรมหรือเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้น เรื่องราวที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันหรือใกล้ๆ กัน จึงถูกจัดแยกไปรวมไว้ในพระไตรปิฎกต่างแห่งต่างที่กระจัดกระจายไกลกัน
  • ส่วนมหาปรินิพพานสูตรนี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ายึดเอาการปรินิพพานเป็นหลัก คือยึดเอาเหตุการณ์เป็นหลัก จึงทำให้เรื่องราวที่เกี่ยวกับการปรินิพพานมาเรียงรวมอยู่ด้วยกัน และที่ถือได้ว่าแปลกจากพระสูตรทั่วๆ ไป ก็คือในแง่นี้

พูดง่ายๆ ว่า พระสูตรทั่วๆ ไปมีหลักธรรมหรือเนื้อหาสาระเป็นแกนร้อยให้มารวมกัน แต่มหาปรินิพพานสูตรมีเหตุการณ์เป็นแกนร้อยเรื่องราวให้มารวมและเรียงกัน (ที่เรียกว่าพระสูตรก็เพราะเป็นเหมือนแกนหรือด้ายร้อยนี่แหละ)

แม้จะใช้แกนร้อยคนละอย่าง แต่เนื้อความเรื่องราวส่วนมากก็อันเดียวกัน คือเหมือนกัน เพียงแต่จับมาใส่คนละที่โดยเรียงลำดับคนละอย่าง เพราะฉะนั้น พอลงไปถึงตัวเนื้อความก็กลายเป็นลีลาเดียวกัน จึงว่าไม่ได้น่าแปลกใจหรือตื่นเต้นอะไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.