กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ใฝ่รู้จริง รักความจริง ชื่อตรงต่อความจริง
นักวิชาการไทยจะสร้างปัญญาให้แก่สังคมได้

จะด้วยเข้าใจผิดเอง หรือพยายามจะให้คนทั่วไปเข้าใจผิด ก็ตาม ได้มีการพูดและเขียนในทำนองที่จะทำให้คนไขว้เขวว่ากรณีของท่านเมตตาฯ นี้ เป็นการตีความทางวิชาการ และว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านหรือชี้แจงเป็นคนใจแคบ ทั้งที่แท้จริงนั้น กรณีของท่านเมตตาฯ นี้ เห็นอยู่ชัดๆ ว่าเป็นเพียงความผิดพลาดบกพร่องในเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริงง่ายๆ พื้นๆ เท่านั้น

เปรียบเหมือนว่า มีชาวต่างประเทศนายหนึ่งมาทัศนาจรเมืองไทย ไปเที่ยวชมแม่ฮ่องสอนได้จังหวัดเดียว ก็กลับไปเขียนเล่าว่า ประเทศไทยมีแต่ภูเขาเต็มไปหมด

ชาวต่างประเทศอีกนายหนึ่ง มาเมืองไทย เที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็มาทัศนาจรในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงจนถึงอยุธยา กลับไปแล้ว ก็เขียนบอกว่า เมืองไทยมีภูเขาอยู่ที่เดียว คือในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกนั้นมีแต่ที่ราบ

ใครไปชี้แจงให้เขาฟังว่า ที่เขาพูดนั้นยังไม่ถูกต้อง ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเขาตอบกลับมาว่า เป็นการตีความทางวิชาการ เขามีสิทธิทำเช่นนั้น คำพูดของเขานี้คงต้องถือว่าแปลกประหลาด ไม่มีใครจะยอมรับได้

กรณีบทความของท่านเมตตาฯ นี้ ในส่วนที่ท่านยกขึ้นตั้งเป็นประเด็นใหญ่ให้เป็นชื่อเรื่องว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?” นั้น แพทย์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารเอง ก็พูดแล้วว่า การวินิจฉัยโรคที่ท่านเมตตาฯ ทำไปนั้น ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำไปโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ เป็นการเดาที่ยึดถือไม่ได้

ในส่วนของประเด็นที่ซ้อนหรือแฝงอยู่ (ซึ่งที่จริงท่านเมตตาฯ คงตั้งใจให้เป็นประเด็นหลักเลยทีเดียว) โดยเฉพาะข้อที่ว่า

  1. ผู้เรียบเรียงพระไตรปิฎกฟั่นเฟือนไปบ้าง แต่งเติมเข้ามาบ้าง
  2. พุทธปรินิพพานมีในฤดูหนาว-จวนหนาว ไม่ใช่เดือนวิสาขะ
  3. พุทธปรินิพพานเกิดขึ้นในเมือง ไม่ใช่ในสวนป่าสาลวัน

ทั้งหมดนี้ ท่านเมตตาฯ ยิ่งพลาดหนัก เหมือนพูดขึ้นมาลอยๆ

บทความของท่านเมตตาฯ เป็นอย่างไร ญาติโยมอาจมองเห็นง่ายขึ้นโดยเปรียบเทียบว่า บางส่วนก็คล้ายกับคนต่างประเทศที่สรุปสภาพภูมิศาสตร์ประเทศไทยจากการไปเที่ยวชมแม่ฮ่องสอน บางส่วนก็เหมือนหลวงลุงที่ฟังคำว่า “มีถ่านใส่เทปไหม?” แต่เข้าใจเป็น “มีถาดใส่เทปไหม?” บางส่วนก็เหมือนคนที่เจอคำฝรั่งว่า “fall” ในข้อความที่หมายถึงกรุงศรีอยุธยาแตก แต่เข้าใจผิดเป็นว่า กรุงศรีอยุธยามีฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มีเกณฑ์วินิจฉัยความถูกผิดได้ ต้องตัดสินด้วยข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น เมื่อท่านเข้าใจหรือจับข้อมูลผิด หรือได้ข้อมูลพลาดๆ พร่องๆ ไปแล้ว เรื่องที่ไม่มีเหตุให้ต้องตีความหรือสันนิษฐาน ท่านก็เลยต้องไปพยายามตีความหรือสันนิษฐานโดยไม่จำเป็น และถึงแม้จะตีความหรือสันนิษฐาน การตีความหรือสันนิษฐานนั้นก็กลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้ความหมาย อย่างที่ได้กล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาเฟื่องไปกับการตีความแต่อย่างใด

ความไขว้เขวสับสนเพียงด้วยการฟังตามๆ พูดตามๆ กันไป หรือเพียงตื่นป้ายว่าเป็นเรื่องวิชาการอย่างนี้ กำลังเกิดบ่อยขึ้นในสังคมไทย กรณีซึ่งที่จริงเป็นเพียงปัญหาในเรื่องความผิดพลาดสับสน(ตลอดจนบิดเบือน) ในเรื่องข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงธรรมดา ก็มีการพยายามเลี่ยงหลบบิดเบนความเข้าใจของคนทั่วไปให้มองเป็นเรื่องการตีความ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ไขว้เขวไปตามเสียงล่อหลอก แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งที่ไม่ทันได้พิจารณาเรื่องให้ชัด ก็ได้พาซื่อพลอยพูดไปตามกลวิธีที่ชักจูง ให้ติดอยู่แค่ว่าเป็นเรื่องของการตีความทางวิชาการ

ถ้าจะให้วิชาการเจริญงอกงาม เป็นทางสร้างปัญญาแก่สังคมไทย คนในวงวิชาการจะต้องมีความใฝ่รู้ แสวงความจริง ศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นความหวังว่าวิชาการแท้จริงที่สร้างสรรค์ปัญญาจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

สรุปว่า บทความของท่านเมตตาฯ นี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ความผิดพลาดเพียงแค่ในขั้นหลักฐานข้อมูลง่ายๆ พื้นๆ ได้ถูกยกชูให้ดูเหมือนเป็นเรื่องมีเนื้อหาสาระ โดยอาศัยความตื่นป้ายวิชาการ ซึ่งเป็นการอำพราง ที่ทำให้เรื่องซึ่งไม่เป็นปัญหา กลายเป็นปัญหาต่อพระพุทธศาสนา และก่อความสับสนโดยใช่เหตุ เป็นกรณีใหม่คล้ายกับเรื่องก่อนนี้ที่ค้างคาอยู่ คือกรณีธรรมกาย ซึ่งปัญหาเพียงในขั้นหลักฐานข้อมูล ได้ถูกอำพรางให้ดูเหมือนยากและซับซ้อน เนื่องจาก

• จับข้อมูลผิดพลาดสับสน รวมทั้งเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ เพราะไม่ศึกษาให้แม่นยำชัดเจน

• นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือ(จงใจ)ให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

• แยกไม่ได้ระหว่างข้อมูลกับการตีความ หรือทำให้สับสนกัน หรือนำเอาข้อมูลที่ผิดพลาดสับสนมาเป็นฐานของการตีความ

• เกิดความเข้าใจผิด หรือการพยายามทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวสับสนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการตีความ

แท้จริงนั้น ทั้งกรณีท่านเมตตาฯ นี้ และกรณีธรรมกาย มีประเด็นซึ่งเห็นได้ไม่ยาก ถ้าตั้งใจพินิจ ก็จะไม่ไขว้เขวไปไกล

อย่างไรก็ตาม กรณีท่านเมตตาฯ ก็ยังเบา เพราะไม่ได้เกิดเป็นการกระทำรุนแรงขึ้นมา ต่างจากในเหตุการณ์กรณีธรรมกาย ที่ถึงกับเกิดมีขบวนการขึ้นมาดำเนินการใช้กลวิธีต่างๆ ที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจไขว้เขวสับสน ตลอดจนมีการทำร้ายผู้อื่น เช่น

• หลีกหลบการตรวจสอบ โดยปั่นข่าว หรือปั้นแต่งเรื่องให้คนเข้าใจไขว้เขวสับสนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการตีความ

• ปั้นแต่งเรื่องป้ายสีใส่ความ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่ออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน หรือเพื่อเบนประเด็น

สิ่งที่พุทธศาสนิกชนต้องการ คือ ความซื่อตรงต่อข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และการพูดจาถกเถียงกันตามเหตุผลโดยสุจริต

ปัญหาที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และขัดขวางพัฒนาการทางปัญญาของสังคมไทยนั้น ไม่ใช่เพราะคนไทยมีใจคับแคบ หรือผูกขาดความคิด ซึ่งที่จริงนั้นตรงข้ามเลยทีเดียว คนไทยเป็นคนใจกว้าง เราจึงไม่มีประวัติการรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง ความคิดความเชื่ออย่างชาติตะวันตก

โดยวิสัยปุถุชน ไม่ว่าคนฝรั่ง หรือคนไทย หรือคนชาติไหน ก็มีทิฐิ มีการยึดถือความเห็นของตัวตนด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อมองในขั้นการสั่งสมทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นความโน้มหนักหรือวิถีของสังคม ไทยกับฝรั่งมีลักษณะเด่นและปัญหาในเรื่องนี้ต่างกันไกล:

• ฝรั่งหรือพวกตะวันตก มีภูมิหลังด้านลัทธิศาสนาที่มีการยึดถือรุนแรง เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการบีบบังคับข่มเหงทำสงครามรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่องความคิดความเชื่อ ปัญหาของเขา คือการที่ต้องดิ้นรนต่อสู้มากมายกว่าจะได้เสรีภาพทางศาสนา แต่ในแง่ดีก็เกิดเป็นมรดกแห่งลักษณะนิสัยใฝ่รู้แสวงปัญญา

• ส่วนคนไทยนั้นตรงข้าม เรามีภูมิหลังด้านลัทธิศาสนาที่เสรีสบายๆ จนกลายเป็นภาพที่แปลกแก่ฝรั่ง อย่างที่นายพลฝรั่งเศสยุคกรุงศรีอยุธยา ชื่อ เชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เล่าแก่บาทหลวงใหญ่ในประเทศของเขา (ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๕๐ ภาคที่ ๘๐) ว่า “เมื่อผู้สั่งสอนศาสนาของเราแสดงคริสต์ธรรม คนไทยซึ่งเป็นคนว่านอนสอนง่าย นั่งฟังธรรมปริยายนั้นเหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง ความพอใจของเขานั้น ไม่ว่าจะสอนศาสนาใดก็ชอบฟังทั้งนั้น” ปัญหาของเราคือ ปล่อยเสรีไปเสรีมาจนจะกลายเป็นเลยเถิด ชักเรื่อยเปื่อย ถึงกับจะละเลย ไม่ใส่ใจในเรื่องทางด้านความคิดและการแสวงปัญญา

สาเหตุที่แท้ของปัญหานี้ น่าจะสืบค้นดูในวงวิชาการไทยเรานี้ให้มาก บางทีเราจะขาดความใฝ่รู้และความเพียรที่จะสืบค้นความจริงให้ถ่องแท้ถึงที่สุด (เช่นที่ตีความอะไรง่ายๆ โดยไม่ศึกษาเรื่องให้ชัดเจน และไม่หาข้อมูลให้เพียงพอ พูดสั้นๆ ว่า ชอบแสดงความเห็น แต่ไม่ชอบหาความรู้) ถ้าแก้จุดอ่อนนี้ได้ นักวิชาการไทยจะเป็นที่หวังว่าจะมาเป็นผู้นำทางปัญญา ช่วยพาสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมแห่งปัญญา และเดินหน้าไปในวิถีแห่งการสร้างสรรค์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.