ในแง่ที่เป็นนักวิชาการนั้น พิจารณาง่ายๆ ได้ ๒ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๒ คือการวิเคราะห์ ตีความ สันนิษฐานต่างๆ นั้น สืบเนื่องไปจากขั้นที่ ๑. คือเราต้องมีข้อมูลเป็นฐานก่อน ข้อมูลนั้นต้องถูกต้องแม่นยำชัดเจนพอ ถ้าข้อมูลผิดพลาดเสียแล้ว การวิเคราะห์ วิจารณ์ ตีความ สันนิษฐานก็เหลว ผิดหมด ไม่มีความหมาย
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราพูดขึ้นมาประโยคหนึ่ง หรือมีข่าวขึ้นมาว่า “มีคนต่างประเทศเดินทางมาซื้อเสื้อห้าร้อยตัว” ทีนี้เกิดตกไม้โทขึ้นมา ก็กลายเป็นว่าคนต่างประเทศเดินทางมาซื้อเสือห้าร้อยตัว ลองคิดดูซิว่าความหมายจะผิดกันอย่างไร ถ้าได้ข้อมูลนี้ไปผิด การตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ สันนิษฐาน วินิจฉัย ที่สืบเนื่องต่อจากนั้นไปก็จะผิดหมด เช่น กลายเป็นว่าเมืองไทยนี้มีเสือมากมาย ป่าใหญ่เยอะแยะเหลือเกิน และคนนั้นจะซื้อเสือไปทำไมตั้งห้าร้อยตัว เกิดเป็นข่าวแปลกใหม่ คนคงวิจารณ์กันกว้างขวาง ยกใหญ่ แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไร ว่างเปล่า นี่ก็หมายความว่า การวิจารณ์บนฐานของข้อมูลที่ผิดพลาดจะเหลวไหลหมด
อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าจะพูดขึ้นมาว่า ปีนี้ชาวนาไทยขายข้าวได้เกวียนละสี่พัน พูดอย่างนี้คนไทยก็รู้กันว่าสี่พันนี้ คือ สี่พันบาท เกิดฝรั่งมาฟังเข้าใจว่าสี่พันดอลลาร์ เอาไปเขียนว่า ปีนี้ ชาวนาไทยขายข้าวได้เกวียนละสี่พันเหรียญ อย่างนี้ความหมายเปลี่ยนไปเยอะ เมื่อวิเคราะห์วิจารณ์ก็จะกลายเป็นว่า คราวนี้ชาวนาไทยคงจะรวยกันใหญ่ แต่ถ้าขายได้สี่พันบาทก็รวยยากแน่ ฉะนั้น การวิจัยวิจารณ์จึงต้องตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง นี่เป็นเรื่องใหญ่
ปัญหาเรื่องข้อมูลผิดพลาดนี้ ก็มีทางเกิดขึ้นได้หลายอย่าง
เรื่องนี้ก็คล้ายๆ เมื่อกี้เหมือนกัน อย่างเมื่อ ๖-๗ วันก่อนนี้ อาตมาไปพักกันที่ภูเขา ก็พอดีถ่าน คือแบตเตอรี่ของเครื่องบันทึกเสียงที่เรียกง่ายๆ ว่าเทปหมด ไม่รู้จะไปเอาที่ไหน จึงเดินไปถามหลวงลุงว่า "หลวงลุงมีถ่านใส่เทปไหมครับ" หลวงลุงก็เงียบ ท่านหันไปเดี๋ยวก็ถือถาดมาให้ใบหนึ่ง ก็สงสัยว่าอะไรกัน ได้ความว่า ที่อาตมาพูดว่าถ่านใส่เทปมีไหมนั้น หลวงลุงอายุ ๘๗ แล้ว หูท่านชักจะหนัก ได้ยินเป็นว่า มีถาดใส่เทปไหม ท่านนึกว่าอาตมามีม้วนเทปมากแล้ว จะหาถาดไปใส่ ก็เลยหยิบถาดมาให้ นี่ก็เพราะได้ยินไม่ถนัด ท่านจึงเข้าใจเป็นถาด ถ่านกับถาดเสียงใกล้กัน แต่ความหมายไปคนละอย่าง นี้ก็เรียกว่าจับข้อมูลไปผิดพลาด
ขอยกตัวอย่างอีกหน่อย ในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะบทความนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่เมื่อตัวศัพท์เองถูกต้อง คนก็ยังเข้าใจผิดได้ เมื่อเข้าใจความหมายผิด ก็แปลผิด เลยกลายเป็นคนละเรื่องไป เช่นคำว่า fall เมื่อใช้เป็น noun ก็มีความหมายเยอะแยะ ความหมายพื้นที่สุดก็คือการตกหรือการหล่น แต่บางทีก็แปลว่าปริมาณของที่ตกลงมา เช่นปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา
อีกความหมายหนึ่ง fall ในเมืองอเมริกาเขาหมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ที่ในอังกฤษเรียกว่า autumn แต่แปลว่าน้ำตกก็มี ซึ่งนิยมใช้รูปพหูพจน์เป็น falls หรือในทางเทววิทยาของคริสต์ การที่อาดัมและอีวาถูกซาตานแปลงเป็นงูมาหลอกให้กินลูกแอปเปิ้ล ก็เลยสูญเสียความเป็นทิพย์ สูญเสียความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า และถูกขับออกไปจากสวนเอเดน อันนี้เขาเรียกว่า the Fall
การล่มสลายหรือสูญเสียอำนาจความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมต่างๆ อย่างเรื่องกรุงอยุธยาล่ม กรุงแตก ก็พูดว่า the fall of Ayudhya (หรือ Ayutthaya) กรุงเอเธนส์ล่ม ว่า the fall of Athens กรุงโรมล่มสลาย ว่า the fall of Rome อย่างนี้เป็นต้น
นี้เป็นตัวอย่างที่ศัพท์เดียวกัน แต่มีความหมายหลายอย่าง ที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ ก็เพราะเป็นปัญหาที่ตรงกับกรณีนี้ด้วย
เป็นอันว่า ปัญหาในขั้นข้อมูลมีได้หลายอย่าง เช่น
- ข้อมูลที่ได้ไปผิดพลาด
- จับข้อมูลผิดพลาดเอง
- เอาข้อมูลไปนำเสนอผิดพลาด
ทุกแง่นี้เป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น ในกรณีนี้ข้อมูลเขาถูกแล้วตัวเองสรุปผิดไป หรือฟังความที่ผู้อื่นกล่าวแล้วนำไปพูดด้วยสำนวนภาษาของตนเอง แล้วก็พูดให้คนสับสนเข้าใจผิดไป เวลานี้เป็นปัญหาทางวิชาการมากเหมือนกัน บทความทางวิชาการหลายเรื่องหลายกรณี นำเอาข้อมูลไปเสนอผิดพลาด เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน
บางคนเวลาเอาข้อความที่คนอื่นพูดไว้ จะบอกว่าเขาพูดอย่างนั้น ก็ใส่เครื่องหมาย อัญประกาศ ("…") หรือเครื่องหมายคำพูดเข้าไป อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า quote แต่ข้อความภายในเครื่องหมายนั้น กลายเป็นคำพูดที่ตัวเองสรุปเอา หรือพูดไปตามสำนวนของตัวเอง ซึ่งที่จริงจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าจะใส่เครื่องหมายนี้ ต้องเป็นข้อความเดิมแท้ๆ ที่เขาพูด คือเป็นคำพูดของเขาจริงๆ ไม่ใช่ตัวเองไปฟังเขาแล้วมาพูดเอาด้วยถ้อยคำสำนวนของตัวเอง แล้วบอกว่าเขาพูดอย่างนี้โดยใส่เครื่องหมายคำพูดเข้าไป เรื่องนี้ควรระวังกันให้มาก เป็นเรื่องวิชาการที่ไม่น่าจะพลาดกันเลย
เรื่องข้อมูลนี้ เป็นฐานของการที่จะไปตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ สันนิษฐานทั้งหมด ถ้าข้อมูลเสียอย่างที่ว่ามา ก็เป็นอันว่าการวิเคราะห์วิจารณ์นั้นใช้ไม่ได้ หรือหมดความหมายไปเลย