พอเริ่มเรื่อง ท่านเมตตาฯ ก็เขียนบอกแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับพุทธปรินิพพานอย่างหนักแน่น เหมือนกับมีความมั่นใจเต็มที่ ดังคำของท่านเองว่า
รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นมาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือ มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ยาวที่สุดสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งนอกจากจะมีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไปแล้ว ยังมี…ปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกรวมกันทั้งหมด
แต่ปรากฏว่าคำกล่าวของท่านเมตตาฯ ข้างบนนี้ ผิดพลาดตรงข้ามกับความเป็นจริงเลยทีเดียว เพราะที่แท้นั้น เหตุการณ์สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับพุทธปรินิพพาน ที่เล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มอื่น ตอนอื่น แห่งอื่นด้วย เพียงแต่กระจายอยู่หลายแห่ง และหลายตอนก็มีซ้ำๆ กันหลายเล่มหลายที่
เรื่องที่พูดตรงนี้ ญาติโยมจะเข้าใจชัดเจนมากขึ้น เมื่อรู้เรื่องพระไตรปิฎกว่าท่านจัดแบ่งแยกประเภทอย่างไร ในที่นี้จึงจะพูดเพิ่มเติมเสริมความรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎกเล็กน้อย แต่จะเน้นเฉพาะพระสุตตันตปิฎก
พระไตรปิฎก (ปิฎก ๓) นั้น ชาวพุทธทราบกันดีว่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ประมวลพุทธพจน์ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งเรื่องราวเกี่ยวข้อง ที่ถือเป็นหลักเป็นมาตรฐานของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ มีพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นฐานและเป็นมาตรฐาน
พระไตรปิฎกบาลี แบ่งเป็น ๔๕ เล่ม จัดเป็น ๓ ปิฎก คือ
เรียกแบบรู้กันสั้นๆ ว่า พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม
มหาปรินิพพานสูตรที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ เป็นพระสูตรหนึ่ง (จึงอยู่ในพระสุตตันตปิฎก) อยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ มีความยาว ๑๑๑ หน้า (ในจำนวน ๓๙๖ หน้าของเล่ม ๑๐ และในจำนวน ๒๒,๓๗๙ หน้าของทั้งหมด ๔๕ เล่ม)
พระสูตร คือ พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า และพระมหาสาวกบางท่าน ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนที่เป็นหลักฐานชั้นต้นของพระพุทธศาสนา
พูดอย่างง่ายว่า พระสูตรหนึ่งๆ ก็คือ พระธรรมเทศนาเรื่องหนึ่งๆ ของพระพุทธเจ้า ส่วนนี้ถือเป็นหลัก
เนื่องจากพระสูตรเป็นพระธรรมเทศนา แกนของเรื่องจึงได้แก่ พุทธพจน์ คือคำตรัสสอนของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ การรวบรวมเก็บรักษาพระสูตรทั้งหลาย จึงมุ่งไปหาธรรมที่ทรงสอนว่า พระสูตรนั้นว่าด้วยหลักธรรมอะไร มีเนื้อหาสาระคำสอนว่าอย่างไร ส่วนเรื่องราวเกี่ยวข้องบอกเพียงว่า คำสอนนั้นตรัสแก่ใคร เมื่อประทับอยู่ที่ไหน เมื่อการตรัสสอนครั้งนั้นจบแล้ว ก็เป็นอันจบพระสูตร ส่วนเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นมาก่อนนั้น หรือที่เป็นไปหลังจากนั้น ท่านไม่เล่าไว้หรือไม่พูดถึง
ดังนั้น พระสูตรต่างๆ ที่เราเห็นเรียงอยู่ต่อๆ กันในพระสุตตันตปิฎกนั้น เราไปอ่านจะไม่อาจรู้ได้ว่า พระสูตรที่จัดเรียงไว้ต่อลำดับกันนั้น ตรัสในเวลาห่างกันเท่าไร มีเรื่องราวเหตุการณ์ในระหว่างอย่างไรบ้าง
ยิ่งกว่านั้น พระสูตรต่างๆ ทั้งหลายนั้น ท่านยังมีหลักเกณฑ์ในการจัดหมวดหมู่แยกประเภทไว้ด้วย คือ1
๑. พระสูตรที่มีขนาดยาว จัดไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ทีฆนิกาย (= พระไตรปิฎก เล่ม ๙-๑๐-๑๑)
๒. พระสูตรที่มีขนาดปานกลาง จัดไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย (= เล่ม ๑๒-๑๓-๑๔)
๓. พระสูตรอย่างสั้น ที่จัดรวมกลุ่ม โดยยึดเอาหลักธรรม บุคคล สถานที่ เป็นต้น อันใดอันหนึ่งเป็นจุดร่วม เช่น เกี่ยวกับขันธ์ ๕ (เรียก ขันธสังยุตต์) เกี่ยวกับภิกษุณี (เรียก ภิกขุนีสังยุตต์) ฯลฯ ทั้งหมดนี้จัดไว้เป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า สังยุตตนิกาย (= เล่ม ๑๕ ถึง ๑๙)
๔. พระสูตรอย่างสั้น ที่จัดรวมกลุ่มโดยยึดเอาตัวเลขจำนวนข้อธรรมเป็นจุดร่วม เช่น ธรรมข้อเดียว รวมไว้เป็นหมวด ๑ (เรียก เอกนิบาต) ธรรม ๒ ข้อ รวมไว้เป็นหมวด ๒ (เรียก ทุกนิบาต) ฯลฯ ทั้งหมดนี้จัดไว้เป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า อังคุตตรนิกาย (= เล่ม ๒๐ ถึง ๒๔)
๕. พระสูตรปลีกย่อย หรือเรื่องราวเบ็ดเตล็ด นอกเหนือจาก ๔ นิกายแรกนั้น ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันหลากหลาย เช่น คาถาธรรมบท คาถาชาดก พระพุทธอุทาน ฯลฯ) มี ๑๕ คัมภีร์ย่อย จัดไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ขุททกนิกาย (๙ เล่ม = เล่ม ๒๕ ถึง ๓๓)2
เท่าที่อธิบายมาตอนนี้ ได้ข้อสังเกตที่ควรทราบ ๓ อย่าง คือ
ก. พระสูตรหลายสูตรที่จัดเรียงไว้ในลำดับต่อกัน เหมือนติดกันนั้น อาจตรัสในเวลาห่างกันหลายเดือน หรือหลายปี
ข. พระสูตรหลายสูตร ซึ่งในเหตุการณ์จริง ตรัสในเวลาใกล้ๆ กัน หรือต่อกัน (เช่น ที่เกี่ยวกับการปรินิพพานนี้) อาจแยกกระจายกันไปอยู่ในพระไตรปิฎกต่างหมวดต่างเล่ม ห่างไกลกัน เช่น
- พระสูตรหนึ่งหรือเรื่องหนึ่งแสดงสติปัฏฐาน ๔ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ (ที่รวมพระสูตรเกี่ยวกับโพธิปักขิยธรรม)
- อีกพระสูตรหนึ่ง ซึ่งก็ตรัสในเหตุการณ์ต่อกันนั้น แต่ทรงแสดงเรื่องบริษัท คือชุมชน ๘ ประเภท ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ (รวมพระสูตร หมวด ๗-๘)
- และอีกพระสูตรหนึ่ง ซึ่งก็ตรัสในเวลาใกล้กันหรือต่อกันนั้นแหละ แต่มีพระอุทานของพระพุทธเจ้า ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ (ตอนหนึ่งในเล่มนี้รวบรวมพุทธอุทานไว้) ฯลฯ
ค. พระสูตรหนึ่งสูตรเดียวกัน แต่มีเนื้อหาสาระเข้ากับเกณฑ์หลายอย่างในการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก ก็เลยไปปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกต่างหมวดต่างเล่มหลายแห่ง กลายเป็นว่าพระสูตรเดียวกัน แต่ไปพบที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง เหมือนซ้ำกัน เช่น
เหตุการณ์เฉพาะตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพานแท้ๆ ตั้งแต่ตรัสปัจฉิมวาจา จนกระทั่งขณะที่ปรินิพพาน มีบุคคลสำคัญ ๔ ท่าน กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช แน่นอนว่า เนื้อความตอนนี้ มีอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ที่เรากำลังพูดถึง
แต่พร้อมกันนี้ เหตุการณ์เฉพาะช่วงตรงนี้ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ด้วย เพราะอะไร เพราะในบุคคล ๔ ท่านที่กล่าวคาถาธรรมสังเวชนั้น มีสหัมบดีพรหมอยู่ด้วย ก็เลยเข้าเกณฑ์เป็นพระสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับพรหม จึงจัดเข้าในพรหมสังยุตต์ ในสังยุตตนิกาย
นอกจากนั้น บางพระสูตรที่สั้นอยู่แห่งหนึ่ง อาจจะไปเป็นส่วนหนึ่งของพระสูตรที่ยาวกว่าอีกแห่งหนึ่ง ดังเช่นเนื้อความหลายตอนในมหาปรินิพพานสูตรนี้ ที่ไปอยู่เป็นสูตรสั้นๆ ในที่อื่นๆ หลายแห่งตามลักษณะการจัดหมวดหมู่ที่อธิบายไปแล้ว3
ที่พูดนี้ ยังไม่รวมถึงพระสูตรอีกไม่น้อย ที่มีเนื้อความตรงกัน เป็นเรื่องเดียวกันกับหลายแห่งของพระวินัยปิฎก กล่าวไว้ซ้ำกัน
ถึงตอนนี้ขอตั้งเป็นประเด็นที่จะพิจารณาพร้อมไปด้วยกัน รวมเป็น ๓ ข้อ คือ
ในการพิจารณาประเด็นทั้ง ๓ นี้ เมื่อญาติโยมมีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการจัดหมวดหมู่พระสูตรต่างๆ อย่างที่ว่าไปแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ได้ง่ายขึ้น
ตอนนี้ขอให้ทำความรู้จักกับมหาปรินิพพานสูตรให้ชัดมากขึ้น
มหาปรินิพพานสูตรไม่ใช่เป็นเพียงพระสูตรที่ยาวที่สุดสูตรหนึ่ง แต่เป็นพระสูตรที่ยาวที่สุดในบรรดาพระสูตรทั้งหมดเลยทีเดียว คือ (นับตามพระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ) ยาวถึง ๑๑๑ หน้า (ที.ม.๑๐/๖๗-๑๖๒/๘๕-๑๙๕)
เนื้อความและเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตร รวม ๑๑๑ หน้า ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ นี้ มิใช่มีอยู่เฉพาะในมหาปรินิพพานสูตรเท่านั้น แต่ปรากฏอยู่ในหลายที่หลายแห่งในพระไตรปิฎกเล่มต่างๆ โดยแยกเป็นพระสูตรย่อยๆ จำนวนมาก และหลายพระสูตรก็พบได้หลายแห่งหรือในหลายเล่ม ขอยกตัวอย่างให้ดู ดังนี้
๑. เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลให้ทราบว่าจะกรีฑาทัพไปย่ำยีวัชชีให้พินาศขาดสูญ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ด้วย (องฺ.สตฺตก.๒๓/๒๐-๒๕/๑๗-๒๔)
๒. เรื่องทรงแวะประทับที่เมืองนาลันทา และพระสารีบุตรเข้าเฝ้า มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๗๒๖/๒๑๑)
๓. เรื่องทรงแวะปาฏลิคาม ตรัสแสดงโทษของสีลวิบัติและอานิสงส์ของสีลสัมปทา จนถึงทรงพบกับสุนีธะและวัสสการพราหมณ์ ซึ่งกำลังสร้างเมืองปาฏลีบุตร กระทั่งปาฏิหาริย์ข้ามแม่น้ำคงคา เข้าในเขตแคว้นวัชชี มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๕ และเล่ม ๒๕ ด้วย (วินย.๕/๖๗-๗๔/๘๖-๙๓; ขุ.อุ.๒๕/๑๖๙-๑๗๔/๒๑๕-๒๒๒)
๔. เรื่องทรงแวะประทับในเมืองนาติก ตรัสธัมมาทาสปริยาย คือแว่นส่องธรรม สำหรับสำรวจตนว่าได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ มีในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๑๔๖๙-๑๔๗๗/๔๔๖-๔๕๐)
๕. เรื่องเสด็จเข้าจำพรรษาที่เวฬุวคาม และในพรรษานั้นประชวรหนัก มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๗๐๘/๒๐๓)
๖. เรื่องทรงปลงพระชนมายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ และเล่ม ๒๕ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๑๑๒๓-๑๑๓๕/๓๓๒-๓๓๗; องฺ.อฎฺฐก.๒๓/๑๖๗/๓๑๘-๓๒๓; ขุ.อุ.๒๕/๑๒๗-๑๓๑/๑๖๙-๑๗๖)
๗. เรื่องทรงแสดงมหาปเทส ๔ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ ด้วย (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๘๐/๒๒๗-๒๓๑)
๘. เรื่องที่เมืองปาวา นายจุนทะ กัมมารบุตร ถวายสูกรมัททวะ เมื่อเสวยแล้วประชวรหนัก จนถึงลงสรงในแม่น้ำกกุธานที และทรงส่งพระอานนท์ไปปลอบใจนายจุนทะ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วย (ขุ.อุ.๒๕/๑๖๖-๑๖๘/๒๑๒-๒๑๔)
๙. เรื่องประทับในสาลวัน ระหว่างสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา ตรัสปัจฉิมวาจา เสด็จดับขันธปรินิพพาน จนถึงบุคคลสำคัญ ๔ ท่านกล่าวคาถาธรรมสังเวช มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ด้วย (สํ.ส.๑๕/๖๒๐-๖๒๕/๒๓๑-๒๓๓)
๑๐. เรื่องพระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยสงฆ์ติดตาม ระหว่างเดินทาง ได้ข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกคนหนึ่ง และสุภัททะวุฒบรรพชิต กล่าวคำจ้วงจาบพระธรรมวินัย มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๗ ด้วย (วินย.๗/๖๑๔/๓๗๙)
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวและการตรัสแสดงธรรมในมหาปรินิพพานสูตรนี้อีกบางแห่ง ที่พบได้ในพระไตรปิฎกเล่มอื่น แต่ขอถือเป็นเรื่องปลีกย่อย ถ้านำมาระบุไว้ก็จะทำให้ฟั่นเฝือ จึงขอไม่กล่าวไว้ในที่นี้ แต่ถ้ามีโอกาสเหมาะควร ก็อาจจะทำบัญชีแสดงไว้
จากที่ยกมาให้ดูนี้ จะเห็นชัดว่า เหตุการณ์สำคัญทุกตอนเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนี้ มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่นด้วย แต่แยกกระจายอยู่มากมายหลายแห่ง และบางเรื่องบางตอนก็พบได้หลายแห่งด้วย
ความผิดพลาดแค่จุดนี้ ก็ทำให้สิ่งที่ท่านเมตตาฯ เขียนหมดความหมาย ไปแทบทั้งหมดในทันที เพราะแสดงว่าสิ่งที่ท่านเขียนมานั้น เหมือนกับว่าท่านไม่ได้ศึกษาไม่ได้ตรวจสอบไม่ได้รู้จริงเลย หรือรู้ผิวเผินเกินไป ความบกพร่องนี้ ทำให้สิ่งที่ท่านเมตตาฯ เขียนต่อไปทั้งหมดไม่มีฐานที่จะทำให้น่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ ว่าท่านไม่รู้จักหรือไม่มีความรู้ในมหาปรินิพพานสูตรที่ท่านจะวิเคราะห์วิจารณ์นั้นเพียงพอที่จะยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์