ตัวอย่างที่ ๓ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินมายังที่ปรินิพพาน ก็มีตอนหนึ่งว่าพระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อน ๔ ชั้น ท่านเมตตาฯ ก็บอกว่า อ๋อนี่ พระพุทธเจ้า “ไม่อาจลุกนั่งได้เอง” พระพุทธเจ้าเสด็จไปไม่ไหวแล้วถึงได้ให้พระอานนท์ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น
ท่านเมตตาฯ จะสนับสนุนคำสันนิษฐานหรือวินิจฉัยของท่านว่า พระพุทธเจ้าลุกไม่ไหวแน่แล้ว และมีอาการหนาวจากการช็อก (shock) เพราะเสียพระโลหิตมาก ท่านก็จับเอาการปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น เป็นข้อมูลหลักฐานที่จะใช้ยืนยันอาการหนาวของพระพุทธเจ้า ดังคำของท่านเองว่า
… ความดันโลหิตน่าจะต่ำมากจนไม่อาจเสด็จไปด้วยพระองค์เองได้
ข้อที่สนับสนุนอีกประการหนึ่งว่าทรงเสียพระโลหิตไปมาก คืออาการหนาว ซึ่งเป็นผลพวงจากการเสียโลหิตไปมาก โดยดูได้จากการที่สั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิหนาถึง ๔ ชั้น
เรื่องนี้ท่านก็ใช้เสรีภาพสันนิษฐานเองเลย โดยไม่ตรวจดูว่า พระสมัยนั้นมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร ใช้บริขารกันอย่างไร พระไตรปิฎกกล่าวถึงการใช้สังฆาฏิปู ๔ ชั้นที่อื่นอีกไหม ในกรณีอย่างไร
การปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น “จตุคฺคุณํ” อย่างนี้ เป็นเรื่องทั่วไป เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปทั่วทุกแห่ง โดยเฉพาะบนหนทางในป่าเขาและระหว่างเมืองตำบลหมู่บ้าน เมื่อทรงแวะพักใต้ร่มไม้ระหว่างทาง พื้นที่เป็นดินหินกรวดทราย มีเศษกิ่งไม้ รากไม้ อาจจะขรุขระ กระด้าง อย่างน้อยก็ไม่เรียบ ไม่สบาย ก็ทรงให้ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น เพื่อประทับพักนั่งบ้าง บรรทมบ้าง มิใช่ใช้เฉพาะกันหนาว แต่ใช้ในกรณีทั่วไปที่เหมาะควร โดยไม่ได้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือความหนาวความเย็นอะไรเลย
ไปดูในพระไตรปิฎกที่อื่น เล่มอื่นก็มี พระพุทธเจ้าเสด็จในที่ต่างๆ มีกล่าวไว้ บางเรื่องก็ปูประทับนั่ง บางเรื่องก็ปูประทับนอน สังฆาฏิปู ๔ ชั้น นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ระหว่างทรงเดินทางก็มี ในอาคารก็มี (เช่น ที.ปา.๑๑/๒๒๔/๒๒๔; สํ.นิ.๑๖/๕๒๔/๒๖๐)
ในกรณีเสด็จคราวนั้น พระองค์ทรงแวะที่ร่มไม้ข้างทาง รับสั่งให้พระอานนท์ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วประทับนั่ง แต่ท่านเมตตาฯ คะเนว่า โอ้ พระพุทธเจ้าไปไม่ไหวแล้ว ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงหนาวมาก ลุกนั่งเองไม่ได้ (ต้องนอนแน่) ว่างั้น ก็กลายเป็นคิดเอาเอง
นอกจากนั้น พอสันนิษฐานว่าต้องเป็นโรคนี้ ไปไม่ไหวแล้ว ทั้งที่ข้อมูลที่เอามาสันนิษฐานวินิจฉัยว่าพระพุทธเจ้าประชวรด้วยโรคนี้ๆ ท่านก็เอาจากมหาปรินิพพานสูตรนั้นแหละ แต่พอท่านลงสันนิษฐานไปแล้ว ข้อมูลต่อจากนั้นที่ขัดกับการสันนิษฐานของท่าน ท่านก็บอกว่า "ต่อเติมขึ้นภายหลัง" อ้าว ก็ทำไมไม่ปฏิบัติต่อข้อมูลทั้งหลายซึ่งมาจากที่มาเดียวกันให้สม่ำเสมอ
ถ้าอย่างนั้น ลองมองกลับกัน ถ้าข้อมูลข้างหลังถูก ข้อมูลต้นที่ท่านเอามาสันนิษฐานก็แต่งใหม่ซิ ใช่ไหม กลายเป็นว่า อันไหนตัวเอาก็ถูก ตัวไม่เอาก็ผิด หรือแต่งเติมใหม่ ถ้าเราซื่อสัตย์ เราก็ต้องเอาข้อมูลตามนั้น ในฐานะที่เท่ากันก่อน แต่ท่านเมตตาฯ บอกว่า พระพุทธเจ้านี่ ตอนนั้นน่ะไม่ไหวแล้ว หนาวสั่น เดินไม่ได้แล้ว พระสาวกต้องช่วยกันทำแคร่หามมาหามพระองค์ไป ซึ่งมิใช่เป็นข้อมูลในพระสูตรนั้นเลย ท่านก็ว่าของท่านไป
แต่ในพระไตรปิฎกนั้นน่ะ พระพุทธเจ้า เมื่อประทับที่ว่าปูสังฆาฏิ ๔ ชั้นนั้น ก็ประทับนั่ง แล้วตอนนั้นนายปุกกุสะเดินทางมาพบ ก็เลยได้แวะนั่งสนทนา ทรงนั่งสนทนาธรรมด้วย แล้วต่อมา พระองค์เสด็จเดินทางต่อไปอีก ถึงแม่น้ำกกุธานที ก็ยังลงสรงในแม่น้ำด้วย จะไปแคร่หามนอนหนาวสั่นอย่างไร ก็ยังเดินทางอยู่
ในฉบับภาษาอังกฤษ ท่านเมตตาฯ เขียนว่า “He could no longer walk, and from then to his deathbed he was most likely carried on a stretcher.” (แปลว่า: พระพุทธเจ้าทรงเดินอีกไม่ได้เลย และต่อแต่นั้นไปจนถึงที่ปรินิพพาน น่าจะเป็นได้มากที่สุดว่า พระองค์ได้ถูกหามขึ้นแคร่ไป) ที่ท่านว่านี้ตรงข้ามกับข้อมูลในพระไตรปิฎกว่า พระองค์ทรงนั่งสนทนา และเสด็จพุทธดำเนินต่อไป
ท่านเมตตาฯ ยังเขียนต่อไปอีกว่า “If this was indeed the situation, the sutta remains silent about the Buddha's travelling to his deathbed, possibly because the author felt that it would be an embarrassment for the Buddha.” (แปลว่า: ถ้าสถานการณ์เป็นจริงอย่างนี้ พระสูตรไม่กล่าวถึงการเสด็จไปยังที่ปรินิพพานเลย คงเป็นเพราะผู้เรียบเรียงรู้สึกว่า (ถ้าเล่า) จะเป็นการอัปยศ/เสื่อมเสียเกียรติคุณแก่พระพุทธเจ้า)
ที่ท่านเมตตาฯ ว่านี้ ดูแล้วตรงข้ามกับความเป็นจริงไปเลย เพราะเหตุการณ์ตอนเสด็จสู่ที่ปรินิพพานนี้ กลับเป็นตอนที่พระสูตรเล่าไว้เป็นลำดับอย่างที่เรียกได้ว่าละเอียดกว่าตอนอื่นด้วยซ้ำ
ดูแล้วก็คือ ข้อมูลมันไม่เป็นไปตามที่ท่านว่า ถ้าตัวท่านไม่เชื่อ ก็ต้องให้เหตุผล ต้องบอกมาว่า เออ ข้อมูลในมหาปรินิพพานสูตร ตอนนี้ว่าอย่างนี้ๆ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเพราะอย่างนี้ๆ ต้องว่าไปให้จะแจ้ง ไม่ใช่ว่า อันไหนตัวไม่เอาไม่เห็นด้วยก็ข้ามไป แล้วบอกเฉยๆ ว่า ตอนนั้นแต่งมาใหม่
ส่วนข้อสงสัยที่ท่านยกขึ้นตั้งเหมือนเป็นตัวประเด็นหลัก (แต่ที่จริง น่าจะเป็นประเด็นซ่อนเงื่อน) ว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไรนั้น เป็นเรื่องทางแพทย์ที่พระและชาวบ้านทั่วไปคงมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะวิจารณ์ด้วย และคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องวิจารณ์ เพราะมีท่านผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเขียนไว้แล้ว
คุณหมอสมพนธ์ บุณยคุปต์ ซึ่ง “เป็นอายุรแพทย์ที่ดูแลรักษาคนไข้มากว่า ๔๕ ปี และยังเป็นแพทย์ระบบโรคทางเดินอาหารและโรคติดเชื้อ และเคยเป็นกรรมการสอบเพื่อความรู้ความชำนาญของอายุรแพทย์ของแพทยสภาอยู่นานพอสมควร” ได้เขียนบทความไว้ ชื่อเรื่องว่า “อันสืบเนื่องมาจากบทความเรื่อง ‘พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร’ ธรรมรักษา และการรักษาพระปฏิบัติ” ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
ถ้ามีแพทย์ผู้เข้าสอบตอบอย่างที่ท่านผู้นิพนธ์เขียนไว้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะให้สอบผ่านหรือไม่ เพราะยังมีสาเหตุของโรค ที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้อีกหลายโรค และพบได้บ่อยกว่า แต่ที่สำคัญคือ แพทย์คงจะไม่กล้าวินิจฉัยโรคอย่างมั่นใจด้วยข้อมูลเท่าที่มี แพทย์จะต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก คือ ถามผลการตรวจร่างกาย ต้องทดสอบเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่มีทางจะมีข้อมูลเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์ที่จะพยายามหาคำตอบ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นการเดาตามหลักวิชาการที่ยึดถือไม่ได้…1