ต่อไปนี้จะนำเสนอหลักการบางอย่างทางพุทธธรรมที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทย พุทธธรรมนั้นมีหลักการใหญ่อยู่ว่า การแก้ปัญหาหรือการพัฒนามนุษย์ต้องทำจาก ๒ ด้านเข้าประสานบรรจบกัน สองด้านนี้คืออะไร อันที่ ๑ คือ ทำจากข้างนอก เข้ามาหาข้างใน เรียกว่าวินัย อันดับที่ ๒ ทำจากข้างในออกไปข้างนอก เรียกว่าธรรม พุทธศาสนามีหลักการใหญ่นี้ เรียกว่าธรรมกับวินัย รวมกันเป็นชื่อเรียกเดิมของพระพุทธศาสนาว่า ธรรมวินัย หลักนี้มักจะลืมกันเสีย และถ้ามองแต่ธรรมก็จะบอกว่าพุทธศาสนานี้แก้ปัญหาแต่ข้างในไม่เอาใจใส่ข้างนอก ความจริงท่านถือว่าต้องเอา ๒ อันควบประสานและบรรจบกัน วินัยคืออะไร วินัยไม่ใช่ความหมายแคบๆ ที่เข้าใจในภาษาไทย วินัย คือระเบียบชีวิตและระบบของสังคม ที่วางขึ้นโดยสอดคล้องกับธรรมเอาธรรมเป็นพื้นฐาน ธรรมคืออะไร ธรรม คือหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม ที่เราแนะนำเรียนรู้กัน ใช้ในการอบรมฝึกฝนตน นี่เป็นหลักการใหญ่ ต่อไปนี้อาตมภาพจะพูดแต่ด้านธรรมอย่างเดียว และในแง่ของธรรมก็จะพูดเฉพาะที่สำคัญบางข้อเท่านั้น
เรื่องที่ ๑ ที่น่าจะนำมาพูดก็คือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนาที่พุทธศาสนาถูกกล่าวหาบ่อยๆ ซึ่งอาตมภาพว่าถึงเวลานี้เราควรจะพ้นไปได้เสียที เพราะถ้าไม่พ้นแล้วเราจะแก้ปัญหากันไม่ได้ เดินต่อไปไม่ได้ คือปัญหาเรื่องความอยาก เมื่อกี้นี้อาตมภาพได้พูดว่า ในการแก้ปัญหาของสังคมไทย งานอย่างหนึ่งก็คือจะต้องส่งเสริมให้เกิดความอยากที่ชอบธรรม ในระยะเวลาที่ผ่านมาเท่าที่สังเกตดู มีคน ๒ พวก ฝ่ายหนึ่งบอกว่าการพัฒนาประเทศพัฒนาสังคมนั้น จะต้องให้คนเกิดความอยาก อยากร่ำอยากรวย อยากมีสิ่งฟุ่มเฟือยใช้ อยากได้ยศได้ตำแหน่ง อยากหรูหราอะไรเป็นต้น แล้วเขาจะได้เร่งทำการงานแล้วจะพัฒนาประเทศได้สำเร็จ นี่เป็นแนวหนึ่ง และอีกพวกหนึ่งก็บอกว่า ความอยากเป็นตัณหา พุทธศาสนาสอนให้ละตัณหา ชาวพุทธจึงต้องเป็นคนไม่มีความอยาก ต้องเป็นคนคอยดับตัณหา เมื่อต้องพยายามลดตัณหา ดับความอยาก ชาวพุทธก็พยายามแสดงตัวว่าเป็นคนไม่อยากได้อยากดีอะไร ชักจะมีลักษณะบุคลิกภาพแบบเป็นคนไม่อยากได้อะไร เป็นคนไม่มีความอยาก ชาวพุทธที่ดีก็ชักจะกลายเป็นคนเซื่องๆ หงอยๆ ไป ทีนี้ที่ถูกเป็นอย่างไร เป็นเรื่องน่าพิจารณา ในที่นี้ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ผิดทั้งคู่ ทำไม? วิธีที่ ๑ นั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาหลอกๆ พัฒนาผิดพลาด หลงทางอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า False Development หรือ Misdirected Development หรืออาจจะเกิดเป็นสภาพ “ทันสมัยแต่ไม่ได้พัฒนา” อย่างเมื่อกี้ หรืออาจจะเป็นอีกอันที่ว่า “ทันสมัยแต่หายนะ” ก็ได้ การพัฒนาวิธีแรกจะนำไปสู่สภาวะอย่างนี้โดยการส่งเสริมความอยาก ส่วนวิธีที่ ๒ พวกหลังที่ว่าอยากอะไรไม่ได้ เดี๋ยวไม่เป็นชาวพุทธ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดต่อพุทธธรรม เรื่องนี้เราจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน
ความอยากนี่ ในทัศนะของพุทธธรรมคืออะไร ในแง่ของพุทธธรรม ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ว่าอยากหรือไม่อยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าอยากอะไรดี อยากอะไรไม่ดี อยากอย่างไรผิด อยากอย่างไรถูก ปัญหาอยู่ที่นี่ ขอทำความเข้าใจเพียงว่า ในพุทธธรรมนั้นท่านแบ่งความอยากเป็น ๒ อย่าง
๑. ความอยากเสพเสวย ปรนเปรอตนเอง
๒. ความอยากที่เกี่ยวกับความรู้และการกระทำที่ถูกต้องดีงาม
ความอยากอย่างที่ ๑ ท่านเรียกว่า ตัณหา เป็นความอยากที่ก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนา เช่น การทุจริต การหาผลประโยชน์ในทางลัด ความเกียจคร้านมัวเมา เป็นความอยากที่ต้องควบคุมหรือจะต้องเบนทิศทางให้หันมาเป็นประโยชน์หรือเป็นไปในทางบวก ขอให้คิดดูอย่างที่อาตมภาพเล่าเมื่อกี้ แม้แต่ของตะวันตกตอนที่เป็นสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) ตอนที่เขากำลังสร้างตัว ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว จริยธรรมของเขาเป็นจริยธรรมแบบข่มระงับดับตัณหา คือเป็นจริยธรรมที่สอนให้คนต้องคอยระงับความอยากแบบนี้ ไม่ยอมตามใจตัวและไม่พยายามแสวงหาความสุข และเขาก็ได้สร้างสังคมของเขาให้เจริญพรั่งพร้อมขึ้นมาได้ด้วยจริยธรรมอันนี้
ความอยากอย่างที่ ๒ เรียกว่า ฉันทะ เป็นความอยากที่จำเป็นในการแก้ปัญหาทุกชนิด เรียกชื่อเต็มว่าธรรมฉันทะ ธรรมฉันทะนี้คือสิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจกันต่อไป ถ้าแปลง่ายๆ ก็แปลว่า อยากในธรรมหรือใฝ่ธรรม ธรรมแปลว่าอะไร ในแง่หนึ่ง ธรรมแปลว่าความจริง ความจริงคืออะไร ความจริงเป็นสิ่งอันพึงรู้ การที่เราเกี่ยวข้องกับความจริงก็คือการที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น ฉันทะในแง่เกี่ยวกับความจริง จึงแปลว่าอยากรู้หรือใฝ่รู้ หมายถึงอยากรู้ความจริง คำว่าฉันทะในลักษณะที่ ๑ คือความอยากรู้ ใฝ่รู้
ทีนี้ธรรมในแง่ที่ ๒ แปลว่าความถูกต้อง ความดีงาม ความถูกต้องความดีงามเป็นอย่างไร ความถูกต้องความดีงามเป็นสิ่งอันพึงปฏิบัติ หรือเป็นสิ่งที่พึงทำให้เกิดให้มีขึ้น เพราะฉะนั้นฉันทะในแง่นี้ก็จะแปลว่าอยากทำหรือต้องการทำ คืออยากทำสิ่งดีงาม อยากทำให้ความถูกต้องความดีงามเกิดมี เป็นจริงขึ้น
รวมความว่า ฉันทะแปลว่าความอยากรู้ ความใฝ่รู้และความอยากทำ ใฝ่ทำ อาตมภาพถือว่า ฉันทะนี้เป็นธรรมแกนกลางของการพัฒนา เป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ แล้วเราจะไม่มีปัญหาเรื่องอยากหรือไม่อยาก เลิกพูดกันได้เลย เรื่องนี้สำคัญมาก เราจะต้องแยกให้ได้ว่าความอยากอย่างไหนเป็นตัณหา ความอยากอย่างไหนเป็นธรรมฉันทะ ยกตัวอย่าง แม้แต่การสร้างระเบียบวินัย ถ้ามีตัณหาหรืออยากด้วยตัณหาแล้วสร้างไม่สำเร็จแต่ตรงข้ามจะทำให้ขาดระเบียบวินัยเป็นอย่างยิ่ง ในสังคมนี้ที่ขาดระเบียบวินัยกันนักก็เพราะเรื่องตัณหานี้แหละ ถ้าจะให้มีระเบียบวินัย จะต้องมีฉันทะ คนที่มีตัณหาจะเห็นแก่การเสพเสวยผลประโยชน์ส่วนตน ระบบตัณหาคือระบบผลประโยชน์ ระบบเอาแต่ให้ตัวได้ เอาแต่ตัวสะดวกสบายเข้าว่า ในสังคมที่เป็นอย่างนี้ แม้แต่กระดาษพิมพ์ดีดก็ไม่มีวินัย ขอให้ลองสังเกต แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในสังคมของเรานี่ กระดาษพิมพ์ดีดอย่างขนาดพับสามนี่มันไม่เท่ากัน ซื้อมาจากร้านหนึ่งอาจจะสั้นหน่อย อีกร้านอาจจะยาวหน่อย แคบบ้างกว้างบ้าง ได้ทราบว่าบางทีเขาหาทางให้ตัดได้มากๆ จึงตัดให้สั้นหรือแคบเข้ามาหน่อย เพื่อจะได้ตัดมันได้หลายๆ ครั้ง ปริมาณจะได้เพิ่มขึ้น จะได้ผลประโยชน์กำไรมากๆ พอหาผลประโยชน์แบบนี้ เห็นแก่โลภะ ตัณหาครอบงำ ก็ไม่มีวินัย กระดาษก็ไม่มีวินัย
ทีนี้ถ้าหากว่าพ่อค้ากระดาษนั้นแกมีฉันทะแรง รักความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นจริง แม้แกจะอยากได้ผลประโยชน์ แต่ถ้าแกมีฉันทะแรง ถ้าความอยากดี ความใฝ่ธรรม ความรักความถูกต้องดีงามมันแรง มันจะชนะและตัณหาจะเอาผลประโยชน์มาครอบงำไม่สำเร็จ แกจะต้องตัดกระดาษให้ตรงตามมาตรฐาน วินัยมันจะอยู่ได้ คนที่รักความถูกต้องความดีงามอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะเอาชนะความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หรือความสะดวกสบายเฉพาะหน้าได้ การเห็นแก่ความสะดวกสบายผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้าคือตัณหา ความรักความจริงความถูกต้องดีงามคือฉันทะ เราจะต้องสร้างฉันทะขึ้นมาให้เป็นตัวที่แรงกว่าตัณหา เรายอมรับว่าทุกคนมีตัณหา ถ้าไม่มีฉันทะแรงกล้าแล้ว สำหรับปุถุชนแก้ไม่สำเร็จ เราจะมัวไปพูดเรื่องละตัณหาอยู่ไม่พอ ต้องเอาความอยากด้วยกันมาแก้ ความอยากอย่างไหนที่มันถูกก็เอามาระงับความอยากที่มันผิด อย่างในอเมริกาอาตมภาพสังเกตดู แต่อาจจะดูไม่ทั่วก็ได้ รู้สึกว่ากระดาษพับ ๓ ของเขา ๘.๕" x ๑๑" ไปที่ไหนไม่ว่าแบบบาง แบบหนา แบบแอร์ มันเท่ากันหมดเปี๊ยบเลย นี่อาจจะแสดงว่าสังคมของเขาเคยมีธรรมฉันทะมาแรง หรืออย่างน้อยก็มีรากฐานธรรมฉันทะนี้อยู่
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาชนบท ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้าน ลองดูคนที่ไปทำงานพัฒนาก่อน นักพัฒนาเข้าไปสู่ชนบทพร้อมด้วยความอยากทั้ง ๒ อย่าง อย่างแรกเป็นธรรมดาของปุถุชน ตัณหาอยากได้ผลประโยชน์ เช่น เงินเดือน อาจจะมากสักหน่อย ตามสมควรไม่ว่าอะไร ต่อไปอย่างที่สองฉันทะ อยากช่วยให้ชาวบ้านอยู่ดีมีความสุข พ้นจากความขัดสนยากไร้ อยากให้ท้องถิ่นสงบสุข ปลอดภัยไร้โรค ถ้ามีแต่ความอยากอย่างแรก คือ ตัณหา หรือถ้ามุ่งสนองมัน คงทำงานพัฒนาไม่ได้แน่ จะเพิ่มปัญหาเช่นทุจริตมากกว่า แต่เพราะคุมตัณหาไว้ให้เรียบร้อยได้ และทำงานด้วยความอยากแบบฉันทะ งานพัฒนาจึงจะสำเร็จ หรืออย่างในกรุงเทพฯ จะแก้ปัญหาให้คนข้ามถนนตรง ทางข้าม ถ้าปล่อยตามตัณหา เอาแต่สะดวกสบายสนองใจอยากของตัว แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าปลุกเร้าสร้างฉันทะไม่สำเร็จ แก้ไม่ได้ ทั้งคนข้ามและคนคุมจะสมคบกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้แก้ไม่ได้
ตัณหาถามว่าฉันจะได้อะไร แต่ฉันทะถามว่าฉันจะทำอะไร ถ้าฉันทะจะถามว่าได้อะไร ก็หมายถึงการได้ผลของงาน ว่างานนี้ทำแล้วจะเกิดผลดีอะไร ไม่ใช่ว่าตัวฉันจะได้ผลประโยชน์อะไร ปัจจุบันนี้ระบบตัณหาแพร่หลายก่อปัญหาทั่วไปหมด ถ้าจะแก้ปัญหา พัฒนาสังคมกันจริง ก็ต้องหันไปเร่งระบบฉันทะ อย่ามัวถามว่าฉันจะได้อะไร จงถามว่าฉันจะทำอะไร หรือฉันจะต้องทำอะไร
เมื่อมีฉันทะแล้ว อยากรู้ ใฝ่รู้ อยากทำสิ่งที่ถูกต้อง มันจะต้องแสวงปัญญา เพื่อจะรู้ว่าความจริง สิ่งถูกต้องดีงามที่ควรจะทำนั้นคืออะไร เป็นสิ่งที่พ่วงมาทันที เมื่อศิษย์แสวงปัญญาแล้ว ครูก็จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรได้ ช่วยชี้แนะให้ข้อมูลเสนอแนะความเห็นฝึกให้เกิดโยนิโสมนสิการ เป็นคน รู้จักคิด แล้วก็สร้างปัญญาได้ อันนี้ก็เข้าสู่ขบวนการศึกษาแบบพุทธศาสนาแล้ว ถ้าการศึกษาสร้างอันนี้สำเร็จ ก็เป็นการสัมฤทธิ์ผลในเป้าหมายของการศึกษาของเรา
ขอพูดแทรกอีกนิดหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องฉันทะ ได้มีการวิจัยสังคมไทยเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนา บอกว่าคนไทยนี่สันโดษแล้ว ก็มีบางท่าน อาจจะเป็นท่านเดียวกันนั่นแหละ วิจัยออกมาแล้วบอกว่า คนไทยมีค่านิยมแห่งการบริโภค (คือบอกว่ามีตัณหามากนั่นเอง) ไม่ชอบผลิต อันนี้อาตมภาพถือว่าขัดกัน ถ้าคนไทยสันโดษ ย่อมมีค่านิยมบริโภคไม่ได้ ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภคจะสันโดษไม่ได้ มันขัดกัน มันตรงกันข้าม นี่แสดงว่าเรื่องนี้ เรายังไม่ยุติ ยังเป็นปัญหากันอยู่ ถ้าไม่พ้นจุดนี้จะไปทำอะไรได้ มันดำเนินการอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันคิด แม้แต่ปัญหาขั้นพื้นฐาน เราบอกคนไทยสันโดษ เราบอกคนไทยมีค่านิยมบริโภค นี่มันขัดกันในตัว
แต่เอาละเรื่องนี้อย่าเถียงกันต่อไปเลย ยุติกันเสียที ยุติอย่างไร ยุติได้ในแง่ว่า สันโดษนี่มันไม่ใช่คุณธรรมที่เสร็จสิ้นในตัว มันเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งที่จะปฏิบัติร่วมกับคุณธรรมอื่น เราจะเอาสันโดษอย่างเดียวมาตัดสินไม่ได้ ถ้าสักแต่ว่าสันโดษลอยๆ สันโดษเลื่อนลอย นี่ก็จะได้ผลเหมือนกัน ผลอะไร คือตัณหาก็อาจจะตามมา แล้วก็กลายเป็นคนขี้เกียจอย่างมีความสุข นี่สันโดษอย่างเลื่อนลอย ปล่อยช่องให้ตัณหาเข้ามา ก็กลายเป็นขี้เกียจอย่างมีความสุข เหมือนอย่างชาวบ้านเราบางคน (ที่จริงมากคนทีเดียว) บอกว่าไม่อยากได้อยากดีอะไร พอมีเงินมีทองมาบ้าง ถึงเวลาก็มานั่งล้อมวงกินเหล้า หรือเล่นการพนันกันไปวันๆ หมดเงินเมื่อไร ค่อยคิดทำงานหาเงินกันใหม่ อย่างนี้สันโดษพ่วงมากับตัณหา ก็มีความสุขดีเหมือนกัน แต่อมทุกข์ แย่ลงทุกวัน ทีนี้ถ้าหากว่าเอาสันโดษนี้มาประกอบเข้ากับฉันทะ จะได้ผลอะไร ถ้าเอาสันโดษมาประกอบเข้ากับฉันทะ มันจะได้ผล คือกลายเป็นคนทำงานอย่างทุ่มเทอุทิศตัว คือจะไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มุ่งเอาผลประโยชน์ ทำงานเต็มที่ อุทิศเวลาให้แก่งานนั้นอย่างเต็มที่ทีเดียว เพราะมุ่งจะให้รู้ความจริงหรือมุ่งทำสิ่งที่ดีงามให้สำเร็จ งานสำคัญๆ ที่สำเร็จได้ หรืองานใหญ่โตมีคุณค่ามากนั้น มันมักจะมาจากคนที่มีฉันทะ โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยความสันโดษแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องความสันโดษอาตมภาพว่าควรจะสิ้นสุดเสียที
ขอแทรกตอนนี้หน่อย ในการสร้างความเจริญของตะวันตกเมื่อก่อน ๔๐-๕๐ ปีมาแล้วนั้น คนของเขาดูจะมีฉันทะมากต่อเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาของชีวิตและสังคม (สัมพันธ์กับคุณค่าทางศาสนา) และมีสันโดษไม่น้อยด้วย จึงสร้างความเจริญสำเร็จ แต่ที่มาเกิดเป็นปัญหาในสมัยปัจจุบันวุ่นวายนั้น จุดพลาดอยู่ที่มีเป้าหมายสั้นและเเคบไป เพียงจะแก้ปัญหาความขาดแคลนให้มีวัตถุพรั่งพร้อม เมื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วก็เคว้งคว้าง ฉันทะหมดที่จับหมดความหมายไป ไม่เห็นจุดหมายที่จะไปต่อ จึงเริ่มแสวงหากันใหม่ ยิ่งกว่านั้นเป้าหมายแห่งความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ก็กลายเป็นเหยื่อเปิดช่องให้แก่ตัณหาเสียอีก ปัญหาจากตัณหาก็ตามมา จนเกิดสภาพสับสนในปัจจุบัน นี้เป็นข้อเสนอไว้คิดพิจารณาแง่หนึ่ง