มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เบื้องหลังปัญหาของสังคมไทย

ต่อไปนี้จะขอย้อนมาพูดถึงสังคมไทย เพราะว่าด้านหนึ่งเราต้องพิจารณาถึงทางเดินที่เราจะมุ่งหน้าไป และอีกด้านเราจะต้องมองดูว่าทางที่เราได้เดินมาเป็นอย่างไร ในการวิเคราะห์เรื่องการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนี้ อาตมภาพว่าเวลาไม่พอแล้ว และเรื่องนี้ก็มีนักวิชาการได้ค้นคว้ากันมาก มีทั้งไทยทั้งฝรั่ง โดยเฉพาะฝรั่งทำเป็นเล่มโตๆ เป็นตำราก็มี อย่างเล่มที่อาตมภาพพูดถึงเมื่อกี้เรื่อง Modernization Without Development (ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา) นั้น ก็เป็นหนังสือใหญ่พอสมควร ตัดบทไปว่าให้ดูเอาเองในหนังสือเหล่านั้น หรือว่าหลายท่านก็ย่อมได้อ่านแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะทัศนะต่างๆ ก็ดี ผลการวิจัยก็ดี ย่อมให้ข้อมูลบ้าง แนวความคิดต่างๆ บ้าง ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติแก้ปัญหาได้ต่อไป แต่มีข้อติงอยู่หน่อยที่ว่า งานที่เขาทำนี้ก็ต้องระวัง มีข้อผิดพลาดอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการที่ได้รับข้อมูลไปผิด ยกตัวอย่างเช่นในหนังสือ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” (Modernization Without Development) นั้นก็มีตอนหนึ่งที่พูดถึงพุทธศาสนา เขาบอกว่า พุทธศาสนานี้ขาด Absolute Standard ไม่มีมาตรฐานที่ตายตัวและได้ยกข้อมูลตัวอย่างมาอ้างเช่นบอกว่า ถ้าพระฉันเพลไม่ทันแม้จะเลยเพลแล้ว ถ้ามีคนอื่นช่วยพูดบอกว่ายังไม่เที่ยงก็ฉันได้อะไรอย่างนี้ นี่ตัวอย่างหนึ่ง หรือบอกว่า พระฉันเนื้อสัตว์ไม่ได้มีข้อห้ามอยู่ แต่ถ้าเขาเอาเนื้อสัตว์นั้นใส่บาตรก็ฉันได้ เพราะมีบัญญัติว่า ถ้าของใส่บาตรแล้วต้องฉัน อะไรอย่างนี้ ซึ่งที่จริงมันไม่ถูกต้องเลย การที่ได้ข้อมูลผิดก็ทำให้การวิเคราะห์ผิดไปด้วย กระทบถึงผลสรุปข้อมูลนั้นหรือการวิจัยนั้นด้วย จึงเป็นข้อที่ควรระวัง เพราะฉะนั้นตัวอย่างที่เขายกมานี่มันจึงไม่ใช่เป็นการแสดงถึงว่า พุทธศาสนาขาด Absolute Standard (มาตรฐานที่ตายตัว) แต่มันกลายเป็นว่าคนไทยเราเองนี่ ไม่เข้าถึงพื้นฐานของตนเอง มันก็กลายเป็นอย่างนั้น เพราะผู้ที่ให้ข้อมูลก็คือคนไทยนั่นเอง ให้ข้อมูลผิดๆ คือตัวเราไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องของตัวเองเท่าที่ควร

ในเมื่อไม่มีเวลาที่จะพูดถึงสังคมไทย อาตมภาพก็เลยขอยกตัวอย่างเพียงนิดเดียว จะพูดถึงเพียงสักแง่หนึ่ง คือว่าเมืองไทยถือว่า ได้เร่งรัดพัฒนาประเทศตามอย่างอารยธรรมตะวันตกเมื่อ ๑๐๐ ปีมานี่หรือ ๑ ศตวรรษ ก่อนหน้าที่จะมีการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอย่างที่ว่ามานี้นั้นสังคมของเรา ก็มีรูปแบบเป็นของตัวเอง อาจจะพูดได้ว่าสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร สถาบันที่สำคัญก็มี ราษฎร์ศาสน์กษัตริย์ ราษฎร์ก็คือราษฎร และศาสน์ก็คือพุทธศาสนา กษัตริย์คือพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อรับความเจริญแบบตะวันตกแล้ว เราได้เดินทางร่วมกันอีกพักหนึ่งประมาณ ๒๐ ปี ต่อจากนั้นก็แยกทางกัน รัฐกับราษฎร์หมายถึงว่าทางบ้านเมืองกับทางประชาชนทั่วไปได้หันไปทางตะวันตกและแล่นพุ่งดิ่งไปเป็นอย่างมาก ส่วนวัดนั้นก็หันเข้ามาเก็บตัวอยู่ข้างในและพยายามรักษาระบบเก่าไว้ ขอแทรกมีข้อสังเกตนิดหนึ่ง รักษาระบบเก่าแต่ไม่ได้รักษาของเก่า ไม่ได้รักษาของเก่า หมายความว่าอาจจะไม่ได้อนุรักษ์ศิลปกรรม เป็นต้น ซึ่งอันนี้กำลังเป็นปัญหาอยู่ แต่ก็พยายามรักษาระบบเก่าไว้

ในเมื่อมีการแยกกันแล้ว ทั้งฝ่ายบ้านเมืองและราษฎรก็ดี ทางฝ่ายศาสนาก็ดี ก็ได้มีความสัมพันธ์เกื้อกูลกันมา แต่เป็นการเกื้อกูลกันในด้านนอก เช่นในด้านพิธีกรรมเป็นต้น แต่ว่าขาดความเข้าใจกันและไม่ได้ช่วยงานกันอย่างแท้จริง เมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่งแล้วก็เริ่มจะพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องแปลกหน้ากัน เวลาพูดเรื่องของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกว่าพูดเรื่องคนอื่น เช่นชาวบ้านพูดถึงปัญหาของชาวบ้าน พระจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เกี่ยวกับตัวท่าน หรือว่าพูดถึงปัญหาของตัวเอง ทางฝ่ายญาติโยมจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องวัดไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างกับในสมัยโบราณที่ปัญหาทั้งหลายเนื่องถึงกันหมด

อาตมภาพจะพูดถึงปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาเพียงเรื่องเดียว เป็นตัวอย่างสำหรับมองสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน แต่ก่อนนี้วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งการศึกษามวลชนดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ต่อมารัฐได้เริ่มรับการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา การศึกษาแบบใหม่ที่รับเข้ามาดำเนินการนั้นอย่างหนึ่งก็คือการศึกษามวลชนๆ นั้นมีหลักการอันหนึ่งคือ ให้เกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ทีนี้ต่อมาเมื่อรัฐได้ดำเนินการศึกษามวลชนมาเป็นเวลาพอสมควร ก็ปรากฏผลว่ารัฐไม่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายนี้ได้ ปรากฏว่าคนยังไม่มีความเสมอภาพในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา โอกาสจะขึ้นต่อสภาพภูมิศาสตร์คือว่าอยู่ในกรุงหรืออยู่ในชนบท อยู่ในเมืองในตลาดหรืออยู่บ้านนอก และขึ้นต่อฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นลูกคนยากจนหรือร่ำรวย ผู้ที่อยู่ในสภาพเศรษฐกิจหรือสภาพภูมิศาสตร์ที่อำนวย ก็เข้าถึงการศึกษาของรัฐ สามารถเรียนสูงๆ ได้ แต่คนที่ไม่มีโอกาสอย่างนั้นไม่สามารถเดินในระบบของรัฐ ก็เลยไปเข้าระบบของวัด ซึ่งเป็นระบบเดิมตามประเพณีที่ถือว่ายกเลิกแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการศึกษาของมวลชน มีผู้ที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ซึ่งได้ไปอยู่วัด ได้บวชเณร บวชพระแล้วก็ได้มีโอกาสขึ้นบ้าง เรียนสูงขึ้นมา ก็ค่อยๆ ย้ายถิ่นฐานเข้ามา จนกระทั่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในที่สุดก็ได้ทำให้เกิดผลอันหนึ่ง คือ ได้ทำให้วัดในกรุงเทพฯ กลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุงฯ นี้เป็นชุมชนชนบทกลางกรุงชุมชนที่ ๑ ท่านทั้งหลายลองไปศึกษาดู ไปถามดูง่ายๆ ก็ได้ ตามวัดต่างๆในกรุงเทพฯนี้ แต่ว่าต้องเอาพระใหม่ออกก่อน พระที่บวชใหม่ ๓ เดือนนี้เป็นชาวกรุงเทพฯ เอาพระ ๓ เดือนนี้ออกแล้ว จะเหลือแต่พระชนบทแทบทั้งหมด อันนี้เป็นชุมชนชนบทกลางกรุงชุมชนที่ ๑

ต่อมาอีกด้านหนึ่งเพราะการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างเมืองกับชนบท เป็นเหตุให้คนชนบทเข้ามาหางานทำในกรุงในระยะยาวนานขึ้นปรากฏว่า ได้เกิดชุมชนชนบทแห่งที่ ๒ ขึ้นในกลางกรุง คือสลัม สลัมหรือชุมชนแออัดนี้ เป็นชุมชนชนบทกลางกรุงแห่งที่ ๒

สรุปได้ว่า เพราะการดิ้นรนแสวงหาโอกาสในสังคมไทยได้เกิดชุมชนชนบทขึ้น ๒ กลุ่มในกรุงเทพฯ ผู้แสวงหาโอกาสทางการศึกษาได้ทำให้วัดในกรุงเทพฯกลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุงแห่งที่ ๑ และผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดชุมชนชนบทกลางกรุงแห่งที่ ๒ คือสลัม พูดได้ว่า ในกรุงเทพฯ วัดเป็นชุมชนชนบททางการศึกษา สลัมเป็นชุมชนชนบททางเศรษฐกิจ วัดในกรุงเทพฯ ทั้งหมดมี ๓๙๙ วัด ในปัจจุบันมีชาววัดทั้งพระเณรทั้งเด็ก (เด็กนักเรียนที่มาอยู่วัดก็เหมือนกัน มาจากชนบทแต่มาเรียนในระบบของรัฐ) มี ๓๒,๐๐๐ เศษ ส่วนสลัม หรือชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ มีประมาณ ๔๐๐ แห่ง แต่มีคนอยู่หลายแสนคน สมาชิกในชุมชนวัดส่วนมากเป็นบุคคลวัยเล่าเรียน ส่วนสมาชิกชุมชนสลัมเป็นคนในครอบครัวทุกระดับวัย ในที่นี้เราไม่มีเวลาที่จะพิจารณานาน ก็จะพูดแต่เพียงเสนอเป็นข้อคิดไว้สำหรับเอาไปพิจารณากันว่า ในขณะที่เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ ในระหว่างชุมชนชนบทกลางกรุง ๒ ประเภทนี้ เราจะชอบอย่างไหน และควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อชุมชนทั้ง ๒ นี้แล้วทีนี้ ก็จะขอผ่านไป

เอาละ เรื่องของสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน ตอนนี้เวลายังเหลืออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ตอนนี้ต้องรวบรัด เพราะยังมีเรื่องจะต้องพูดอยู่อีกมาก การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน อาตมภาพถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะต้องการดูว่าที่เราพัฒนาอย่างอเมริกันนั้นเป็นการพัฒนาตามเขาจริงหรือเปล่า แล้วก็จะได้ผลอย่างไร ตลอดจนถึงว่าเราควรจะตามเขาหรือไม่ และเขามีผลเสียอะไรที่เราควรจะหลีกเลี่ยงได้ เราควรจะเลือกเอาแต่แง่ดีอย่างไร เป็นคำถามที่ควรจะสนใจทั้งสิ้น

ขอกลับย้อนไปดูเป้าหมายและแรงจูงใจในการรับอารยธรรมตะวันตกตอนที่เรานำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยเมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว คือศตวรรษที่แล้วในสมัยประมาณรัชกาลที่ ๕ สิ่งที่จะบอกถึงแรงจูงใจตลอดจนจิตสำนึกในทางสังคมของเรา คือตอนนั้นได้มีแรงกระทบจากการบีบคั้นของลัทธิอาณานิคม ความเจริญของตะวันตกเข้ามาพร้อมกับลัทธิอาณานิคม อันนี้เป็นแรงบีบคั้น และเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเราต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้เจริญทันเขา เพื่อจะได้สามารถป้องกันตัวเองอยู่ได้ รักษาประเทศชาติให้คงอยู่ไม่ตกเป็นอาณานิคม เห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า ตอนนั้นมีเป้าหมายอันนี้ซึ่งเป็นจิตสำนึกอันแรงกล้า จากเป้าหมายและจิตสำนึกกลางที่เป็นแกนร่วมนี้ ในด้านการศึกษาก็มีสิ่งที่ส่อให้เห็นจิตสำนึกอันนี้เช่นเดียวกัน เช่นว่า เมื่อดำเนินการศึกษาทางรัฐก็จะต้องเริ่มให้มีการศึกษาวิชาการที่จะนำไปใช้ในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยก่อน

อย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ ซึ่งโดยฐานะสมบูรณ์ทั้งด้านถ้อยคำและกฎหมาย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อก่อนหน้าที่จะเป็นมหาวิทยาลัยได้เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โดยเปลี่ยนจากโรงเรียนมหาดเล็กมาเมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๓ ในขณะนั้นก็มีวิชาที่ให้ศึกษาอยู่ ๘ อย่าง มีการปกครอง กฎหมาย การทูต การช่าง การแพทย์ การเพาะปลูก การค้าขาย และการเป็นครู จะเห็นว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ หรือเราจะเรียกว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต่อมาได้มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ก็มี ๔ คณะ มีคณะแพทย์ศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่อมารัฐประสาสนศาสตร์ก็แยกเป็น ๒ คณะ คือ เป็นนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ และตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้น ล้วนแต่เป็นวิชาที่ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ให้ทันกับสังคมฝรั่ง เพื่อจะรักษาประเทศชาติของเราไว้ ให้สังเกตว่าวิชาประเภทศาสนาปรัชญาจะไม่มีในตอนต้น เท่าที่ทราบในมหาวิทยาลัยทางโลกอย่างเช่นจุฬาฯ นี้ เพิ่งจะเริ่มสอนวิชาศาสนาปรัชญากันในระยะสัก ๑๕-๒๐ ปีมานี้ แต่ว่าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคณะอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Divinity School หรือ Theological School ขึ้น คือการศึกษาทางศาสนาปรัชญานี้ยังไม่มีฐานะเป็นคณะต่างหากอย่างในมหาวิทยาลัยตะวันตก เพราะเราเน้นในเรื่องวิชาชีพชั้นสูงที่จะปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย เรื่องนี้ขอผ่านไปก่อน

โดยสรุปพึงเห็นได้ว่า ในตอนแรกนี้สิ่งที่เด่นชัดก็คือ เรามีจิตสำนึกทางสังคม ได้แก่จิตสำนึกในการที่จะต้องแก้ปัญหาของประเทศชาติ ในการที่จะต้องทำให้เจริญก้าวหน้าทันตะวันตก แล้วจะรักษาประเทศของตนไว้ได้ แต่อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จิตสำนึกนี้อยู่ในวงจำกัด และจิตสำนึกนี้ยังไม่ทันแพร่หลายไปถึงมวลชนโดยทั่วไปก็จางหายไปก่อน จิตสำนึกในการที่จะแก้ปัญหาของตน หรือในการที่จะทำประเทศของเราให้ทันเขา มันจางไป แต่สิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนาประเทศนี้ยังคงดำเนินต่อมา และก็เป็นการพัฒนาที่เรียกว่าเอาจริงเอาจังต่อเนื่อง แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง อาจจะมีผู้กล่าวในแง่ร้ายได้ว่า ตอนหลังนี้เป็นการรับมากกว่าการพัฒนา คือเป็นแต่เพียงการรับเอามา ไม่ได้พัฒนาตัว (ดังที่กลายเป็นการทำให้ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา) แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า เมื่อขาดจิตสำนึกทางสังคม แรงจูงใจอะไรจะเหลืออยู่ในการที่จะพัฒนาประเทศ อาตมภาพตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อจิตสำนึกนั้นมันอยู่ในวงจำกัดและจางหายไปแล้ว มันก็มีเพียงความต้องการที่จะเสพเสวยความเจริญ หรือความตื่นเต้นใหม่ๆ แบบตะวันตก สังคมไทยระยะที่ผ่านมานี้อาตมภาพว่าเป็นอย่างนี้ เมื่อเรารับระบบตะวันตกด้วยความรู้สึกที่ต้องการมี ต้องการให้ตัวมีความเจริญ มีสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือย มีความสะดวกสบายเท่านั้น จิตสำนึกทางสังคมในการแก้ปัญหาที่แท้ก็ไม่มี แม้ว่าเราจะพูดกันถึงปัญหา แต่มันไม่ได้เข้าถึงจิตสำนึกดังที่กล่าวมาแล้ว พูดได้ว่าที่แท้จริงแล้ว เมื่อจิตสำนึกในการแก้ปัญหาของประเทศจางหายไปแล้ว แรงจูงใจในการพัฒนาก็หมดไปด้วย ไม่มีเหลือ จะมีก็แรงจูงใจที่อยากเสพเสวยสิ่งตื่นเต้นฟุ้งเฟ้อหรูหรา ที่เรียกกันว่าความเจริญ มีแต่ความอยากจะรับเอาและเลียนตามเขาไป

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานี้ไม่ได้หมายความว่า จิตสำนึกในการแก้ปัญหา เพื่อเป้าหมายในการทำประเทศให้เจริญเท่าเทียมฝรั่ง ให้สู้เขาหรือต้านทานเขาได้นั้น เป็นสิ่งที่ดีพอแล้ว น่าพอใจหรือเหมาะสมดีพอแล้วสำหรับการพัฒนาบ้านเมืองต่อๆ ไป แต่มุ่งเพียงให้เห็นว่าอย่างน้อยในระยะต้นๆ นั้น เราก็เคยได้มีจิตสำนึก ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หรือเหมาะสมกับสภาพการณ์ เฉพาะหน้าในช่วงเวลานั้น ซึ่งไม่ควรจะขาดหายไปเสียเฉยๆ

ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศนั้น ถ้าจะให้ได้ผลดี เราต้องมีจุดรวมใจ และจุดร่วมความคิด ปัจจุบันนี้ จุดรวมใจเราอาจจะมี หรืออย่างน้อยบางท่านอาจจะบอกว่าเรามีอยู่แล้ว แต่จุดรวมใจหรือจุดร่วมใจนั้น จะให้เกิดการกระทำที่ได้ผลจริงจังไม่ได้ ถ้าไม่มีจุดร่วมความคิดด้วย คือ จะต้องมีความเห็นความเข้าใจร่วมกัน ในปัญหาและหลักการสำคัญของการพัฒนา เช่นว่า อะไรเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข เป็นต้น มองเห็นเด่นชัดถึงขั้นเป็นจิตสำนึกร่วมอย่างที่กล่าวมาแล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.