มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สะท้อนภาพปัญหาสังคมไทย

เมื่อสักครึ่งเดือนมานี้ อาตมภาพได้พบกับพระเถระท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าให้ฟังว่า คนรู้จักกับท่านคนหนึ่ง ได้เดินทางไปต่างจังหวัดโดยรถโดยสาร ขณะที่รถวิ่งอยู่นั้น คนขับก็ขับด้วยความเร็วอย่างมาก ฝ่ายพวกพนักงานรถมีความคึกคะนอง ก็ยุคนขับให้ขับให้เร็วยิ่งขึ้น ส่งเสียงเชียร์เป็นการใหญ่ เวลารถหลีกกันก็ให้หลีกกันเฉียดๆ จนเสียงดังเฟี้ยว แล้วก็หัวเราะชอบใจเฮฮากัน แต่เขาคงจะรู้สึกว่ายังตื่นเต้นหรือแสดงความสามารถของคนขับไม่เพียงพอ จึงเอาผลส้มมาผลหนึ่งผูกเชือกเข้าแล้วห้อยลงไปข้างรถ เวลารถหลีกกันนั้น นอกจากจะให้เฉี่ยวกันเสียงเฟี้ยวแล้ว ก็ให้ผลส้มนั้นแตกด้วย เพื่อแสดงว่าคนขับมีความสามารถอย่างเยี่ยม พอผลส้มแตก พวกคนในรถก็สนุกสนาน เฮฮากันอย่างมาก ท่านที่โดยสารไปนั้นเห็นว่าไม่สามารถจะร่วมเดินทางไปกับคนเหล่านี้ได้ พอถึงสถานที่ที่พอจะลงได้ในระหว่างทาง ท่านก็เลยขอลงไปก่อน โดยไม่สามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยรถคันนั้นได้ นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาสังคมไทยได้ไม่น้อย

เรื่องที่พระเถระท่านเล่าให้อาตมภาพฟังนั้น ใจของอาตมภาพไม่ค่อยยอมเชื่อ แม้กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ยอมเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ถึงอย่างนั้น แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันก็ใกล้เคียงกับที่ได้เล่ามานี้มาก และท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ก็คงจะเห็นด้วย ปัจจุบัน อุปัทวเหตุในเมืองไทยนี้มีมากมายเหลือเกิน เป็นเรื่องเด่นเสียจนกระทั่งว่าขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติขึ้นมา เป็นการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องความประมาท เรื่องอุบัติเหตุจากรถ เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องการจราจรนี่เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง

ทีนี้ ผู้ที่ได้ฟังเรื่องนี้แล้ว ตอนแรกก็อาจจะพูดด่าว่าติเตียนคนขับรถและพนักงานรถโดยสารว่า ทำไมเขาจึงขับอย่างนั้น เป็นความประพฤติไม่ดีไม่งาม แต่ในการแก้ปัญหานั้น เราจะมองเพียงแค่พฤติการณ์ของคนขับและพนักงานรถนั้นคงจะไม่เพียงพอ เราจะต้องสืบสาวไปอีกมากมาย เช่นอาจจะตั้งคำถามว่า คนที่จ้างเขามานั้นเป็นอย่างไร บริษัทที่เป็นเจ้าของรถนั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงรับคนขับที่มีความประพฤติอย่างนี้เข้ามา ทำไมจึงไม่จัดการอบรม อาจจะพูดไปถึงตำรวจว่าทำไมจึงปล่อยให้เป็นอย่างนี้ เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมจึงออกใบอนุญาตให้คนขับอย่างนี้มา หรือบางท่านอาจจะบอกว่า พระภิกษุสงฆ์ไปจำวัดอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่มาสั่งสอนคนเหล่านี้ หรืออาจจะติเตียนว่า โรงเรียนให้การศึกษาอย่างไรจึงได้คนอย่างนี้มา อาจว่าไปถึงครอบครัว ทำไมพ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอน ตลอดจนว่ารัฐบาลปกครองประเทศอย่างไร จึงไม่เรียบร้อย ก็สุดแต่จะว่ากันไป กระทั่งว่าสังคมนี้มีค่านิยมอะไร จึงเป็นการเกื้อหนุนส่งเสริมให้เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น เหตุต่างๆ เหล่านั้นประมวลประดังกันเข้าก็นำมาสู่ผลที่เกิดขึ้นอย่างนั้น ซึ่งเป็นผลครั้งเดียว แต่ว่าเหตุนั้นมันมากมายเหลือเกิน

ว่าถึงในแง่ของพระพุทธศาสนา เราสามารถพูดถึงการแก้ปัญหาได้หลายอย่าง แต่ว่าโดยย่อแล้วก็อาจจะสรุปเป็น ๒ ด้าน คือ การแก้ปัญหาด้วยหลักธรรมด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่ง คือการแก้ปัญหาในทางสถาบัน ในแง่หลักธรรมนั้น เราอาจพูดถึงว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนาข้อใดบ้างที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่เป็นอย่างนี้ เช่นมีหลักการฝึกฝนระเบียบวินัยอย่างไร มีหลักเรื่องทาน เรื่องเมตตากรุณา เรื่องสังคหวัตถุ เรื่องฆราวาสธรรม หลักธรรมเหล่านี้จะนำไปใช้อย่างไร ในการที่จะแก้ปัญหาของสังคมซึ่งมีมากมายอย่างนี้

ในแง่สถาบัน ก็อาจจะพูดถึงกิจการเริ่มต้นตั้งแต่ว่า สถาบันที่เป็นหลักของพระศาสนา ได้แก่ คณะสงฆ์จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ควรจะมีบทบาทอย่างไร องค์การทางพระศาสนาทั้งของคณะสงฆ์และของคณะคฤหัสถ์ทั้งหลายจะช่วยได้อย่างไร จะดำเนินกิจการอะไรกันบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่าจะต้องใช้เวลาพูดกันนานเหลือเกิน ถ้าพูดในเวลาสั้นๆ ก็จะเข้าใจไม่แจ่มชัด บางทีก็อาจเกิดความเข้าใจผิดต่อผู้พูดไปเลยก็ได้ เช่นสมมติถ้าอาตมภาพพูดแต่ใจความสั้นๆ ว่า ในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ก่อนที่จะเกิดความพร้อม จะต้องมีการปรับปรุงคณะสงฆ์ ปรับปรุงกรมการศาสนา อะไรเหล่านี้เป็นต้น ถ้าพูดไปอย่างนี้ เมื่อเวลาที่จะชี้แจงไม่พอ ก็จะเกิดความเข้าใจผิด แล้วก็อาจจะเกิดความขัดเคืองกันไปด้วยก็ได้

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่สั้นนี้ อาตมภาพก็จะถือเป็นอิสระ จะไม่พูดตามหัวข้อที่ท่านให้พูด แต่ถึงแม้จะไม่พูดตามหัวข้อที่ตั้งให้ โดยที่ว่ามองดูเผินๆ อาจจะไม่สัมพันธ์กัน แต่โดยเนื้อแท้ อาตมภาพถือว่าเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานของการแก้ปัญหาของสังคมไทย มีความสำคัญในขั้นถึงแก่นถึงโคนทีเดียว และจะเน้นในระดับของปัญหา ยังไม่พูดถึงสาเหตุและวิธีแก้ ความจริงนั้นตัวปัญหาก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจะต้องรู้ตระหนัก มองปัญหาให้ชัด ถ้าหากว่ามองปัญหาได้ชัดแล้ว การแก้ไขก็ตามมาได้ง่าย แต่ถ้าปัญหานั้นยังมองไม่ชัดแล้ว แก้ก็ไม่ถูกจุด เมื่อมองปัญหาชัดแล้ว ในการแก้นั้นบางทีเราไม่จำเป็นจะต้องไปแก้ในรายละเอียดที่มากมาย ซึ่งอาจจะแก้กันไม่ไหว เราจะต้องจับจุดสำคัญให้ได้ เมื่อจับจุดสำคัญได้สักเรื่องหนึ่งแล้ว พอแก้ปัญหาที่จุดนั้นได้ การแก้ปัญหาอื่นๆ ก็ตามมาโดยง่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเราสามารถสร้างความภูมิใจ ความมั่นใจในสายวัฒนธรรมของชาติขึ้นมาได้ หมายถึงว่า ความมั่นใจในวัฒนธรรมอย่างมีสติปัญญา ไม่ใช่มั่นใจอย่างเขลางมงาย ถ้าหากสร้างอันนี้ได้แล้วการแก้ปัญหาอื่นก็ตามมาโดยง่าย บางทีมันตามกันมาเองเป็นพรวนเลยทีเดียว ฉะนั้น อาตมภาพก็จะพูดถึงปัญหาเพียงบางอย่างในสังคมไทยที่เห็น ว่าเป็นเรื่องสำคัญ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.