เรื่องการตามในระดับต่อไปนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อาตมาจะขอพูดถึงขั้นที่ล้ำลึกคือเรื่องจิตใจ ความคิด เรื่องทางนามธรรม เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงค่านิยมของคนทั่วไป ค่านิยมนี้ก็บอกแล้วว่าเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องความคิด ความคิดนำการกระทำนำการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญมาก ทีนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องของนักวิชาการ ของปัญญาชน ซึ่งลึกซึ้งเป็นแกนกลางยิ่งกว่าที่กล่าวมานั้นอีก เพราะว่าปัญญาชนนักวิชาการเป็นผู้นำทางความคิดของสังคมนี้ ฉะนั้นความรู้ความเชื่อของปัญญาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะมีอิทธิพลต่อสังคมไทยต่อไป เราต้องยอมรับว่านักวิชาการปัญญาชนของเราโดยส่วนใหญ่ ก็ตามฝรั่งเช่นเดียวกัน และก็มีหลายเรื่องที่ตามอย่างผิดๆ ซึ่งอันนี้จะเป็นผลร้ายต่อสังคมไทยมาก ตอนนี้เราจึงต้องมาเน้นในระดับนี้ด้วย ไม่ใช่แก้เฉพาะปัญหาระดับประชาชน แต่จะต้องมาแก้ปัญหาในระดับปัญญาชนและจะต้องรีบแก้เร็วด้วย
เมื่อสักเดือนเศษมานี้ อาตมภาพได้ฟังรายการวิทยุของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นรายการเกี่ยวกับสังคมไทย ท่านอาจารย์ผู้บรรยาย พูดไปพูดมา ก็จับใจความสำคัญสรุป บอกว่าที่ประเทศไทยไม่พัฒนานี่ อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการที่ประชาชนยอมรับสภาพเดิม หรือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งมาจากหลักกรรมของพุทธศาสนา พอได้ฟังอย่างนี้ เราก็รู้ทันที สายความคิดนี้แล่นมาเป็นแถวทีเดียว เริ่มตั้งแต่นายแม็กซ์ เวบเบอร์ นายอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ โปรเฟซเซอร์ โรเบิร์ต แอล. ซัตตัน ตลอดจนนายนอร์มัน จาคอบส์ เป็นต้น วนเวียนอยู่แค่นี้ไม่ไปไหนเลย แล้วอาจารย์ไทยเราก็รับความคิดนี้มาพูดเลย และไม่ได้บรรยายให้เต็มตามความคิดของฝรั่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ได้แนวมาสรุปความคิดขึ้น แต่ข้อที่น่าพิจารณาก็คือว่า เราทำไมจะต้องไปตามฝรั่งหรือรู้ได้แค่ฝรั่งในเรื่องของเราเอง ในเรื่องของเราเองซึ่งเราควรจะรู้ดีกว่า และเราก็มีโอกาสที่จะรู้ดีกว่าได้ด้วย เช่นตัวอย่างเราสามารถวิเคราะห์ได้ถึงความคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ ศึกษาวิวัฒนาการของความเชื่อเรื่องนี้ของชาวไทยว่าเป็นอย่างไร ความเชื่อกรรมในระดับชาวบ้านกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาต่างกันหรือเหมือนกันแค่ไหนอย่างไร ก็วิเคราะห์กันได้ แล้วเราก็จะเห็นจุดที่จะต้องแก้ไข แต่ถ้าเรามัวตามฝรั่งอยู่อย่างนี้ เมื่อไรจะแก้ปัญหาสังคมไทยได้ ฉะนั้น ในระดับนักวิชาการนี่ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจตัวเอง ให้ดีกว่าฝรั่งแล้ว จะแก้ไขปัญหาสังคมไทยไม่ได้ กลายเป็นว่า ฝรั่งเดี๋ยวนี้ เขารู้เรื่องเมืองไทยดีกว่าเรา และฝรั่งก็ยังมาแก้ปัญหาสังคมไทยไม่ได้ แล้วเราเองรู้แค่ฝรั่งหรือรู้ตามฝรั่ง จะมาแก้ปัญหาสังคมไทยได้อย่างไร
ที่พูดนี้มิใช่มุ่งจะตำหนิติเตียนอาจารย์ที่บรรยายนั้น เพราะสภาพทั่วไปก็เป็นกันอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล เพียงแต่ยกเป็นตัวอย่างขึ้นมาสำหรับแสดงให้เห็นสภาพทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยทางการศึกษาที่เราสะสมกันมา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาด่าว่ากัน แต่จะได้ช่วยกันคิดแก้ไข
เพราะฉะนั้น ในการที่จะศึกษาความคิดและวิชาการของฝรั่งนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือจะต้องตั้งจิตสำนึกไว้ จิตสำนึกในการที่จะไปศึกษาความคิดและวิชาการของฝรั่งก็คือ เราต้องตั้งใจไว้แต่ต้นว่า เราจะศึกษา ไม่ใช่เพื่อจะไปอยู่ใต้ครอบความคิดของเขา แต่ศึกษาให้อยู่ลอยเหนือครอบความคิดนั้น ถ้าเราได้เพียงอยู่ใต้ครอบความคิดของเขา เราก็หมดทางที่จะแก้ปัญหาของเรา เราต้องยืนอยู่เหนือครอบนั้น เราจึงจะทำอะไรได้
ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง อันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงอะไร แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาจัดให้มีการศึกษาวิชาปรัชญาขึ้นมา ซึ่งในสมัยก่อนหลายสิบปีนั้น แม้ประเทศไทยจะได้มีมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่วิชานี้ ต่อมาเราเห็นว่าจะต้องจัดวิชาปรัชญาให้เรียน คนของเราจะได้รู้จักคิด มหาวิทยาลัยในเมืองนอกนั้นเขาเรียนวิชาปรัชญาเป็นธรรมดามานานแล้ว คือเป็นวิชาพื้นฐานอย่างหนึ่งด้วย คนจะต้องรู้จักคิด มิฉะนั้นแล้วการสร้างความเจริญของประเทศ การสร้างระบบประชาธิปไตยอะไรนี่จะไม่สำเร็จ จะพัฒนาไม่ได้ จึงต้องหัดให้รู้จักคิด วิชาปรัชญาเป็นวิชาสำคัญที่จะช่วยให้คนรู้จักคิด เราก็เอาวิชาปรัชญาจัดเข้ามา
แต่ความจริง วิชาปรัชญาไม่ใช่แค่หัดคนให้คิดเท่านั้น ทำไมฝรั่งจึงเอาวิชาปรัชญาเข้ามาเรียน วิชาปรัชญาของเขาหมายถึงปรัชญาตะวันตกก่อนอื่น การเรียนปรัชญาตะวันตกนี้เป็นการเรียนเรื่องของเขาเอง เรียนตั้งแต่ปรัชญากรีก ปรัชญาอะไรต่ออะไรเรื่อยมาตามสายความคิดกรีก-ฮิบรู ส่วนพื้นฐานของการที่เขาเรียนปรัชญากรีก ปรัชญาตะวันตกนั้น ก็เป็นการให้เขารู้จักตัวของเขาเอง แล้วเขาก็รู้จักสายความคิดของเขา แล้วเขาก็ทำตัวเองให้คุ้นกับสายความคิดของเขา แล้วเขาก็หัดคิดตามสายความคิดของเขา ซึ่งเราเรียกว่าคิดอย่างฝรั่ง คิดอย่างฝรั่งก็คือคิดอยู่ในสายความคิดของเขา ตามแนวปรัชญาตะวันตก ตามสายวัฒนธรรมตะวันตก หรือสายกรีก-ฮิบรูนั่นเอง
ทีนี้ เราจัดวิชาปรัชญาเข้ามาให้คนไทยเรียน เราจะหัดให้คนของเราคิดเป็น เราไปรับเอาปรัชญาตะวันตกมาเป็นฐาน เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นปรัชญาพื้นฐาน น่าสงสัยว่าการทำอย่างนี้มันจะถูกไหม ในแง่หนึ่งที่ให้หัดคิดนั้นก็คงได้บ้างละ แต่เห็นได้เลยว่ามันเป็นการหัดคิดอย่างฝรั่ง ถ้าไม่เตรียมพื้นฐานความคิดของตัวไว้ให้ดี และไม่ได้ตั้งจิตสำนึกต่อเป้าหมายของการเรียนไว้ให้ชัดเจนมั่นคง คนของเราอาจจะถูกครอบก็ได้ แล้วก็ไปอยู่ใต้ความคิดของเขา กลายเป็นคนไทยที่คิดอย่างฝรั่ง เมื่อคิดอย่างฝรั่งในเรื่องไทยๆ ก็ไม่สามารถคิดให้ชัดเจนได้ แล้วก็เลยแก้ปัญหาของไทยไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็สักว่าเรียน เหมือนผ่านของแปลกๆ โก้ๆ ไม่ซึมซาบ ไม่เข้าสมองเลย ซึ่งก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนกัน
ทีนี้ หันกลับไปพูดถึงฝรั่งอีก ฝรั่งก็มาเรียนศาสนาปรัชญาตะวันออก หรือเอาไปเรียน เมื่อเรียนศาสนาปรัชญาตะวันออก เขาบอกว่า เพื่อเกิดความเข้าใจดีต่อกัน ในความหมายว่าเข้าใจดีต่อกันนั้น ก็มีความหมายด้วยว่าจะได้รู้จักตะวันออก จะได้รู้จักพื้นเพจิตใจภูมิปัญญาคนตะวันออก และในความหมายว่ารู้จักนั้นเขาหมายถึงว่า รู้เท่าทันด้วย เขาจะได้รู้ว่าชาวตะวันออกคิดอย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้ คนตะวันออกจะคิดจะตอบสนองอย่างไร และเขาควรปฏิบัติหรือเข้าสัมพันธ์อย่างไร และมีอะไรที่ดีแปลกพิเศษออกไป เขาก็จะได้เอาความคิดดีๆ ของตะวันออกนั้นไปพัฒนาความคิดของเขาด้วย เขาได้หลายชั้น
ทีนี้ของเราล่ะพอเริ่มก็เอาปรัชญาตะวันตกดิบๆ ให้เรียนก่อน เหมือนจงใจเตรียมคนของเราไปให้หัดคิดอย่างฝรั่ง เด็กสมัยใหม่เรียนขึ้นมากลายเป็นคนคิดแบบฝรั่ง ไม่รู้จักแนวความคิดของตนเอง ทำไมเราไม่จัดเอาสายความคิดของตัวเองขึ้นมาเป็นหลักเป็นฐานเป็นประธานก่อน แล้วปรัชญาตะวันตกตามมาเป็นส่วนขยายหรือเครื่องเสริม แล้วเราก็จะเดินรอยเดียวกับฝรั่งอย่างตามทันกัน ถ้าเราจะเรียนรู้ปรัชญาตะวันตกบ้าง เราก็ต้องตั้งจิตสำนึกในการเรียนอย่างมีเป้าหมาย เราจะรู้จะเข้าใจฝรั่งรู้ทันความคิดฝรั่ง แล้วเราก็สามารถเอาความคิดฝรั่งมาใช้พัฒนาความคิดของเราได้ด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่าขึ้นเหนือครอบได้ เป็นมิตรกันได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องอยู่ใต้ครอบความคิดของเขาเรื่อยไป
ในทางพุทธศาสนานั้นท่านบอกว่า พระที่จะทำงานให้ได้ผลดำรงพุทธศาสนาได้ จะต้องรู้ทั้งสกสมัยและปรสมัย สกสมัย ก็คือสายความคิดของตัวเอง ปรสมัย ก็คือสายความคิดของผู้อื่น จะต้องรู้ทั้งสองฝ่าย แล้วต่อจากนั้น ยังจะต้อง “ปรปฺปวาทํ สหธมฺเมน นิคฺคเหตฺวา สปฺปฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสสฺสนฺติ” สามารถที่จะดึงเอาวาทะ ลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ลงได้โดยชอบธรรม แล้วแสดงธรรมให้ได้ผลเห็นจริงเห็นจัง
อันนี้เป็นหลักการในการที่จะศึกษาแนวความคิดของผู้อื่นและของตน ถ้าเราแก้ปัญหาในระดับความคิดไม่ได้ เราจะตันและจะแก้ปัญหาของสังคมไม่ได้ ฉะนั้น จึงพูดว่านี้เป็นการแก้ปัญหาสังคมไทยในระดับพื้นฐาน แต่ที่ว่านี้มิใช่ว่าเราจะพร้อม ถ้าเราจะศึกษาสายความคิดของตัวเราเอง อย่างน้อยเริ่มต้นเราจะติดขัด เราทิ้งสายความคิดของเรามานานแล้ว ปัจจุบันนี้สายความคิดของเรา มันไปหมักหมมจมโคลนอยู่ที่ไหน เราอาจจะต้องเอามาชำระล้างปัดฝุ่น เอาโคลนออกเสียก่อน แล้วจึงจะนำมาศึกษาเล่าเรียนกันต่อไปได้ แต่ก็เป็นแง่คิดที่จะต้องพูดกันไว้ (เวลานี้ ก็ดูเหมือนว่าฝรั่งเป็นผู้เริ่มล้างโคลนให้ แต่อาจจะล้างด้วยน้ำยาเคมี!)