ว่าถึงสภาพของสังคมอเมริกันทั่วๆ ไป เราก็รู้ๆ กันดีอยู่แล้ว เพราะว่าเราเห็นเขาเจริญ เราจึงเอามาเป็นแบบอย่าง ความเจริญของสังคมอเมริกันคือความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความสะดวกสบายต่างๆ อันนี้เป็นภาพที่รู้กันอยู่และสังคมอเมริกันเองเขาก็ยอมรับ เขาถือว่าสังคมของเขาเป็นสังคม affluent คือสังคมที่พรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่ในเวลาเดียวกันท่ามกลางความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นมองอีกด้านหนึ่งให้ลึกลงไป เขายอมรับว่า ประเทศของเขากำลังประสบ cultural crisis คือวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจทำให้สังคมอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปมากในอนาคตที่อาจจะมาถึงในเวลาไม่นาน และวิกฤตการณ์หรือ crisis นั้น ก็สืบเนื่องมาจากความพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุนั้นเอง อันนี้จะเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องอธิบาย
ความพรั่งพร้อมนั้นเป็นด้านบวก ทีนี้เรามาดูในด้านลบบ้าง สังคมอเมริกันเรียกว่าเป็นตัวแทนสังคมตะวันตกก็ได้ในแง่หนึ่ง ความเจริญได้มาถึงขั้นที่เราเรียกว่า Push-button Age คือยุคกดปุ่ม หมายความว่าไปไหนมาไหน จะทำอะไรก็กดปุ่ม แล้วก็ทำไปได้โดยสะดวกสบาย บางอย่างเมืองไทยก็มีบ้างแล้ว เช่น ซักผ้าก็ไม่ต้องซักเอง ก็เอาใส่ลงไปในเครื่อง ก็กดปุ่ม เวลาจะตากให้แห้งก็ใส่ไปในเครื่องและกดปุ่ม ประเดี๋ยวก็เอามาใช้ได้ จะไปไหนก็สะดวกสบายแทบทุกอย่าง สะดวกสบายจนกระทั่งเขาบอกว่า ต่อไปจะไม่ค่อยต้องใช้กล้ามเนื้อ จะใช้เพียงกล้ามนิ้ว และนิ้วก็อาจจะใช้เพียงนิ้วชี้นิ้วเดียวด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ว่าสังคมอเมริกันมั่งคั่งพรั่งพร้อมนั้น ไม่ได้หมายความว่า ประเทศอเมริกาไม่มีคนยากจน คนจนยังมีไม่น้อย ในเมืองใหญ่สลัมก็มีหลายแห่ง ในรัฐห่างไกลบางรัฐ สภาพล้าหลังขาดแคลนก็ยังมี แต่เมื่อเทียบทั้งหมดแล้ว คนจนกลายเป็นส่วนข้างน้อย สภาพความสะดวกสบายและเครื่องอำนวยความสำราญกระจายไปทั่ว ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วม
ในท่ามกลางความพรั่งพร้อมสะดวกสบายอะไรต่างๆ นี้ ก็มีปรากฏการณ์ในด้านลบ ซึ่งขอยกตัวอย่างมาเป็นสถิติ อันนี้จะขอให้ทนเบื่อบ้าง มาฟังสถิติกัน
เริ่มด้วยด้านร่างกายก่อน ในหนังสือเล่มหนึ่งที่พรรณนาเรื่องความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ในยุคกดปุ่ม Push-button Age ของฝรั่ง โดยเฉพาะอเมริกันนั้น ผู้เขียนเป็นหมอก็ได้พรรณนาถึง Western Way of Death แปลว่า วิธีตายของฝรั่ง หรือวิธีตายของตะวันตก หมายความว่า ความเจริญพรั่งพร้อมในยุคกดปุ่มนี่มีความสัมพันธ์กับความตายของฝรั่ง หรือนำไปสู่การตายแบบของฝรั่งชนิดหนึ่ง ซึ่งที่สำคัญที่เขายกมาคือเรื่องการเป็นโรคหัวใจ ความเจริญนี้นำมาซึ่งโรคหัวใจ1 โรคหัวใจนั้นมีความสัมพันธ์ทั้งทางกายและทางจิต เขาบอกว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในบรรดาสาเหตุการตายทั้งหมดในประเทศอเมริกา2 ในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ คือ ๒ ปีมาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๒๓) คนตายด้วยโรคหัวใจแสนละ ๓๔๒ คน โรคมะเร็งเป็น อันดับสอง ห่างกันไกลทีเดียวมีคนตายเพียงแสนละ ๑๘๖ คน เกือบครึ่งต่อครึ่ง ส่วนคนตายด้วยอุบัติเหตุทุกอย่างรวมกันเพียงแสนละ ๔๗ คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก ห่างกันเหลือเกินกับโรคหัวใจ อัตราการเพิ่มของการเป็นโรคหัวใจก็สูงมาก พ.ศ. ๒๕๑๖ แสนละ ๒๔๔ คน แต่มาปี ๒๕๒๓ เพิ่มเป็นแสนละ ๓๔๒ คน หมายความว่าสูงขึ้นเกือบแสนละ ๑๐๐ คน
ต่อไปก็โรคจิตโดยตรง นับเฉพาะคนที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานรักษา ปี ๒๕๑๘ มีคนเป็นโรคจิต ๖ ล้าน ๔ แสนคน ในจำนวนประชากร ๒๐๐ กว่าล้าน ในขณะที่ ๑๐ ปีก่อนมีคนเป็นโรคจิตเพียง ๒ ล้าน ๖ แสนคนเศษ ก็หมายความว่าในระยะเวลา ๑๐ ปีนี่เพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่าตัว
ทีนี้ต่อไป ปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สถิติฆ่าตัวตายในอเมริกาการฆ่าตัวตายมีมากกว่าการฆ่ากันตาย หมายความว่าคนฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย หรืออัตวินิบาตกรรมมากกว่าฆาตกรรม ในปี ๒๕๒๐ ฆ่าตัวตาย ๒๘,๖๘๑ คน แต่ฆ่ากันตายเพียง ๑๙,๙๖๖ คน น้อยกว่ากันเกือบหมื่นคน ทีนี้อัตราฆ่าตัวตายนี้ก็มีเพิ่มสูงขึ้น ขอเทียบในช่วง ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ มี ๑๙,๐๔๑ คน พ.ศ. ๒๕๐๘ มี ๒๑,๕๐๗ คน พ.ศ. ๒๕๑๓ มี ๒๓,๔๘๐ คน ต่อมาในปี ๒๕๒๐ นี่เพิ่มถึงเกิน ๕ พันคน
เกี่ยวกับความเจริญนี้ เป็นที่น่าสังเกต มองกว้างออกไป การฆ่าตัวตายจะมีมากในประเทศที่เจริญโดยทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ประเทศอเมริกา อเมริกานี่ฆ่าตัวตายอย่างที่เมื่อกี้ว่านับเป็นอัตราส่วนแสนละ ๑๒.๕ คน แล้วมองดูประเทศเมกซิโกซึ่งอยู่ติดกับอเมริกา อยู่ทางใต้ เป็นประเทศที่ยากจนอยู่ติดกันนั้นตายด้วยการฆ่าตัวตายแสนละ ๑.๗ (อเมริกา ๑๒.๕) หรือดูง่ายๆ เอาในประเทศเดียวกันเลย ประเทศอาฟริกาใต้มีคน ๒ พวก คือคนผิวขาวกับคนผิวดำ คนผิวขาวเป็นพวกเจริญ คนผิวดำเป็นพวกที่ด้อย ทีนี้จะเห็นการฆ่าตัวตายมีสถิติต่างกัน คนขาวนี่ฆ่าตัวตายมาก แสนละ ๑๔.๕ คน คนดำฆ่าตัวตายแสนละ ๕.๖ คน เกือบ ๓ เท่าตัว ในถิ่นที่คนยากจนแร้นแค้นคนจะดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่อย่างเต็มที่ แต่เขาจะไม่มีการฆ่าตัวตายหรือหายากที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนในประเทศที่เจริญมั่งคั่ง แกก็จะฆ่าตัวตาย
แต่อันนี้ยังไม่น่ากลัวเท่าไร ที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือ การฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่น ซึ่งกำลังนี้เป็นปัญหาหนักที่น่าตกใจมากของอเมริกา เมื่อปี ๒๕๒๐ หรือ ๒๕๒๑ เด็กวัยรุ่นในอเมริกาพยายามฆ่าตัวตาย ๔ แสนคน และตายจริง ๔,๐๐๐ คน หมายความว่ายังรอดมากกว่า อันนี้ ๔ พันคนไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เป็นเรื่องที่น่าสังเกต รู้สึกว่าเป็นสถิติที่น่าตกใจ เขาบอกว่าในช่วงเวลาเพียง ๒-๓ ปี สถิติเด็กหนุ่มสาวที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเกินกว่า ๒๐๐ เปอร์เซนต์3 อันเป็นเรื่องที่ทำให้เขาต้องคิดพิจารณามากว่าสังคมของเขาเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ นี่เป็นการมองถึงสภาพบางอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่าคนท่ามกลางความเจริญ ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ต่างๆ นี่มันมีอะไรเป็นปัญหาซ้อนอยู่ หรือว่าเป็นสังคมที่อมปัญหาบางอย่างเอาไว้ และการฆ่าตัวตายนี้เป็นวิธีหนึ่ง ในบรรดาหลายวิธี ที่คนหนุ่มสาวพยายามหนีออกจากสังคมพรั่งพร้อมที่เขาเบื่อหน่ายและมีความชิงชังขึ้นมานี้
วิธีอื่นมีอะไรอีก ที่เด็กโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวพยายามหาทางออกจากสังคมของตน ปฏิกิริยาในระยะไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางสังคมในอเมริกา ก็คือการที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธสังคมของตน ในระยะต้นๆ ก็พวกฮิปปี้ที่ปฏิเสธระเบียบแบบแผนสังคมที่มีอยู่ทั้งหมดออกไปอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีการแต่งตัวและความเป็นอยู่แปลกๆ ทอดทิ้งวัฒนธรรมที่มีอยู่ของสังคมทั้งหมด นอกจากนั้นก็ตามมาด้วยการเสพยาเสพติด เช่น พวก LSD ตลอดจนเฮโรอีน แต่ต่อมาที่แพร่หลายมากคือกัญชา
มีอีกอย่างซึ่งเป็นการหาทางออกที่แพร่หลายกว้างขวางแล้วก็ยอมรับกันว่าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อวัฒนธรรม หรือต่อสังคมอเมริกันเป็นอย่างมากอย่างลึกซึ้งและยาวนาน4 คือปรากฏการณ์ที่เรียกสั้นๆ ว่า Young America Turns Eastwared แปลว่า อเมริกันหนุ่มสาวหันไปตะวันออก หมายความว่า คนรุ่นใหม่นี้ได้หันมาสนใจศาสนาในทางตะวันออก ซึ่งเขาใช้คำเรียกว่า New Religions แปลว่า ศาสนาใหม่ ซึ่งที่จริงเป็นศาสนาเก่าๆ เก่ามากกว่าของเขาด้วยซ้ำ แต่พอไปที่โน่นแล้วกลายเป็นศาสนาใหม่ ก็มีพุทธศาสนาแบบต่างๆ เช่น นิกายเซน นิกายลามะของทิเบต ศาสนาฮินดูพวกต่างๆ เช่น โยคะ หริกฤษณะ เป็นต้น สิ่งที่เขาสนใจนี้ ที่เห็นชัดคือเรื่องสมาธิ แต่ก็มิใช่ว่าเขาสนใจเฉพาะการปฏิบัติเท่านั้น เขาสนใจคำสอนด้วย เขาคิดหาทางออกแสวงหาคุณค่าที่จะเอามาแก้ปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกบีบคั้นในทางสังคมของเขา ความนิยมแบบอย่างตะวันออกจึงแพร่หลายขึ้น ได้มีนักเขียนเกี่ยวกับสมาธิคนหนึ่ง (Alan Watts) พูดทำนองทำนายสังคมของเขาไว้ แต่เป็นคำกล่าวที่เกินความจริง เขาบอกว่าอีกสัก ๕๐ ปีข้างหน้า ประชาชนในอินเดียจะขี่รถยนต์กันเกร่อ จะสร้างบ้านอยู่ในถิ่นชานเมือง จะเล่นเบสบอล แต่ประชาชนในอเมริกาจะไปนั่งสงบอยู่ตามถ้ำ ในรัฐโอเรกอนบ้าง ตามเทือกเขารอคกี้บ้าง ทำสมาธิกำหนดท้องพองยุบบ้าง บริกรรมอาตมันบ้าง นิพพานบ้าง5 อันนี้เป็นคำของนักเขียนอเมริกันท่านหนึ่ง ขอให้ถือว่าเป็นคำกล่าวที่เกินความจริง คือมีความมุ่งประสงค์เพียงจะสะท้อนภาพสังคมของเขาให้เห็นแนวโน้มที่เป็นอยู่จริงในขณะนี้