มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทเรียนจากอเมริกา

สรุปในแง่นี้ว่า ประเทศของเราหรือสังคมของเราจะต้องพัฒนาแน่นอน เราจะต้องพัฒนา เพราะว่าสังคมของเราก็มีปัญหามากมาย เราจะต้องแก้ปัญหา พัฒนาสังคมให้พ้นจากปัญหาที่เป็นอยู่ แต่ในเวลาเดียวกันก็น่าพิจารณาว่า การที่จะพัฒนาไปสู่ความมีปัญหาแบบสังคมอเมริกันนั้นเป็นเรื่องที่น่าปรารถนาเพียงใด ควรหรือไม่ที่เราจะพัฒนาจากการเป็นสังคมที่ชอบฆ่ากันตาย เพียงเพื่อไปเป็นสังคมที่ฆ่าตัวตาย ดีหรือไม่ที่จะพัฒนาจากการเป็นสังคมที่มีโรคทางกายมาก เพื่อไปเป็นสังคมที่มีโรคจิตมาก อาตมภาพว่าเราควรหลีกเลี่ยงทั้งสองอย่าง คือเราจะพัฒนาให้พ้นจากการเป็นสังคมที่ชอบฆ่ากันตาย แล้วก็จะไม่ไปเป็นสังคมที่ชอบฆ่าตัวตายด้วย และจะไม่มีทั้งโรคทางกายและโรคทางจิต พูดให้เป็นภาพอย่างไทยๆ ว่า ไม่ควรล้าหลังอย่างชนบท แต่ก็ไม่ควรเจริญแบบเสื่อมโทรมอย่างกรุงเทพฯ อันนี้จะทำได้อย่างไร นอกจากนั้นอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คนอเมริกันอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นบอกว่า พวกเขาเองก็ยอมรับว่าเขาอยู่ในระยะเป็น cultural transformation กำลังมีการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะแปรรูปใหม่ คุณค่า ค่านิยมต่างๆ ในสังคมเดิมนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป บางอย่างจะต้องถูกทิ้ง และทีนี้ถ้าเราจะพัฒนาสังคมของเรา มันเป็นการสมควรหรือที่จะพัฒนา เพื่อไปรับสิ่งที่เขากำลังจะทิ้ง อันนี้เป็นคำถามอันหนึ่ง ก็ขอผ่านไปอีก

ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาแท้ๆ ถ้ามองในแง่ร้ายบอกว่าเป็นเป้าหมายการศึกษาที่งานด้านการศึกษาในประเทศของเรายังสร้างไม่เสร็จ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิของสังคมด้วย คือการสร้างจิตสำนึกทางสังคม ซึ่งเป็นจิตสำนึกในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ และความใฝ่รู้ ความพยายามใช้ปัญญาอย่างจริงจัง เรื่องนี้อาตมภาพอาจจะมองในแง่ร้ายเกินไป แต่สภาพอย่างนี้ยังมีอยู่มาก เริ่มต้นเรายอมรับกันอยู่ว่า ผู้ที่เข้ามาเรียนวิชาการต่างๆ แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย (หรือโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย) นี้จำนวนมาก ไม่ได้เข้าเรียนด้วยความใฝ่รู้ในวิชาการนั้นๆ คือเขาไม่ได้ต้องการอยากจะเรียน ไม่ใช่อยากรู้วิชานั้นๆ เขามาเรียนเพื่ออะไร อันนี้เป็นอีกคำถามหนึ่ง แต่รู้กันดี ไม่ต้องตอบ เอาละตอนนี้ ไหนๆ ก็เป็นอย่างนั้นทั่วไปแล้ว ก็ปล่อยไปก่อน โดยหวังว่าเขาอาจจะไปสร้างความใฝ่รู้นั้นเอาตอนที่เขาเข้าเรียนแล้ว แต่ดูเหมือนจะปรากฏว่าแม้จนกระทั่งเรียนสำเร็จแล้ว ก็มีน้อยคนที่มีความใฝ่รู้อย่างแท้จริง และที่จะมีจิตสำนึกในการที่จะแสวงปัญญาต่อไป เมื่อเรียนจบไปแล้ว หาการงานได้แล้ว บางทีการแสวงหาปัญญาก็พลอยหยุดลงไปด้วย อันนี้สภาพสังคมตะวันตกได้เปรียบหน่อยหนึ่ง สังคมตะวันตกยังมีลักษณะอันนี้อยู่ สำหรับจิตสำนึกทางสังคมนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงจึงประสบปัญหาอย่างหนักทีเดียวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นจะไม่พูดถึง แต่ในด้านความใฝ่รู้และแสวงปัญญานี้ ต้องยอมรับความจริงว่าเขายังมีมาก นิสิตนักศึกษาของเราๆ พยายามจะให้ใช้ห้องสมุด ก็ยังไม่ค่อยยอมใช้ จะให้พยายามค้นคว้าวิจัยก็ยังไม่ได้แข็งขัน ไม่ทำด้วยแรงใจใฝ่รู้จริงเท่าที่ควร การใฝ่รู้การแสวงปัญญาในสังคมตะวันตกยังมีมากกว่า อย่างไรก็ตามเราจะต้องดูภูมิหลังด้วย อันนี้อาตมภาพเห็นว่าสังคมของเขาได้เปรียบ

การที่จะสร้างจิตสำนึกตลอดถึงการใฝ่รู้แสวงปัญญาขึ้นนั้น ต้องมีความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ด้วยเหมือนกัน สิ่งที่จะช่วยก็คือสิ่งกระทบหรือแรงบีบคั้น อันนี้อาตมภาพถือว่าสำคัญ แรงกระทบหรือสิ่งบีบคั้นเป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดจิตสำนึก ตลอดถึงการที่จะมีความใฝ่รู้ สังคมตะวันตกมีแรงกระทบและมีแรงบีบคั้นอะไรบ้าง

อันที่ ๑ แรงกระทบทางวัฒนธรรม การรบรารุกรานกัน การค้าขายเมืองไกลนำไปสู่การที่ต้องตื่นตัวตื่นเต้น ต้องปรับปรุงตัวให้พร้อมอยู่เสมอ มีการรับถ่ายทอดในขอบเขตที่กว้างขวาง ความแตกต่างกันก็มีเป็นอย่างมากด้วย จึงยิ่งเร้าให้มีการเรียนรู้และเร่งรัดตัว

บางท่านอาจจะแย้งว่าของไทยก็มีการรบราฆ่าฟันทำสงครามเหมือนกันนี่ คงตอบได้ว่า เราก็มีแต่ว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด และในขอบเขตจำกัดนั้น เราก็มีการรับถ่ายเทปรับปรุงตัวจริงเหมือนกัน แต่อยู่ในขอบเขตนั้นเท่านั้น เช่นว่าเราอาจรบกันกับประเทศพม่าเช่นนี้ รบกันอยู่เป็นร้อยๆ ปี ก็วนอยู่แค่นั้น แต่สังคมตะวันตกมีการติดต่ออย่างกว้างขวางตั้งแต่เดิมแล้ว ถูกรุกรานโดยพวกโรมัน ทำสงครามครูเสดกับมุสลิม ถูกบุกจากพวกเจงกิสข่าน ต่อมาสังคมตะวันตกก็ออกล่าเมืองขึ้น เช่นนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ได้ถ่ายทอดติดต่ออย่างกว้างขวาง แรงกระทบเร่งเร้าเหล่านี้ทำให้มีการตื่นตัวอยู่เสมอ ประมาทไม่ได้

ไทยเราเมื่อเริ่มยุคปัจจุบันก็ถูกบีบคั้นเหมือนกัน ดังจะเห็นว่าเมื่อเราเริ่มพัฒนาประเทศใหม่ที่บอกเมื่อกี้ว่า หนึ่งศตวรรษล่วงแล้ว คราวนั้นมีแรงกระทบและแรงบีบคั้นที่ทำให้เราเกิดจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหา แต่ว่ามันเป็นไปอย่างชั่วคราว ตอนหลังนี้เราไม่มีแรงกระทบแบบนั้นแล้ว ที่จริงมีแต่แรงกระทบและแรงบีบคั้นนั้นมันกลายเป็นไม่โจ่งแจ้ง มันเป็นแรงกระทบและบีบคั้นที่แฝงเร้นอยู่เงียบๆ ไม่ทำให้เรารู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็เลยตกอยู่ในความประมาท คอยรับคอยเสพเสวยความเจริญ ความตื่นเต้น สิ่งสะดวกสบายอย่างเพลิดเพลิน ไม่มีจิตสำนึกเกิดขึ้น มีแต่ชวนให้เกิดความประมาท คอยรับเอาแต่เหยื่อล่อเท่านั้น

ทีนี้อย่างที่สอง คือแรงบีบคั้นทางปัญญาโดยตรง ในตะวันตกนั้นมีแรงบีบคั้นทางปัญญา เช่นในสมัยกลางของยุโรป ทางศาสนาบีบคั้นมาก ถึงกับตั้งศาลที่เรียกว่า Inquisition อาตมภาพขอแปลว่า ศาลไต่สวนศรัทธา คือถ้าใครพูดผิดไปจากคัมภีร์ศาสนาไม่ตามไบเบิล อย่างนี้ก็จะถูกจูงขึ้นศาล ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนความคิดความเชื่อของตน ก็อาจจะถูกเผาทั้งเป็น อย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่ว่ามีการบีบคั้นทางปัญญาเป็นอย่างมาก การบีบคั้นนี้ทำให้เกิดความดิ้นรน ยิ่งบีบยิ่งดิ้นแล้วจะทำให้เกิดการแสวงปัญญา แล้วการแสวงปัญญาใฝ่รู้นี้ก็กลายเป็นนิสัยที่ติดมาในระยะเวลายาวนาน ส่วนในประเทศไทยเรามีการบีบคั้นเหมือนกัน แต่การบีบคั้นเป็นไปในเรื่องอำนาจ ไม่มีการบีบคั้นในทางปัญญา ศาสนาไม่ยุ่งด้วย อย่างในทางพุทธศาสนาที่เป็นมานี้ ใครจะคิดอะไรแปลกไปเราก็เฉยไม่สนใจว่าไปตามเสรี ไม่มีใครจะไปเอาเรื่องเอาราวด้วย เพราะฉะนั้นคิดไปสักพักหนึ่งก็ขี้เกียจคิด เลิกคิดดีกว่า ไม่มีใครสนใจ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งควรที่จะพิจารณา แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า อาตมภาพต้องการให้บีบคั้นกันอย่างนั้น แต่ต้องการให้เห็นภูมิหลัง

อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์เป็นแรงบีบคั้นอันหนึ่งเหมือนกัน วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นจากแรงกระทบและแรงบีบคั้นเมื่อกี้ เพื่อจะต่อสู้กับอำนาจบีบคั้นในทางศาสนาของฝรั่งด้วย แต่ทีนี้วิทยาศาสตร์เองเกิดขึ้นแล้วก็บีบคั้นคนให้รู้จักใช้ปัญญา เพราะว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เราไม่ยอมไปฝากความหวังไว้ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ถ้าเราฝากความหวังไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเราอ้อนวอน เราก็ส่งต่อความรับผิดชอบไปให้เทวดา เราส่งต่อความรับผิดชอบไปให้เทวดาแล้ว เราก็ฝากความหวังไว้กับเทวดา เทวดาจะช่วยแก้ปัญหาให้ เราก็นอนรอ แต่ทีนี้ถ้าเราไม่ยอมหวังพึ่งเทวดา วิทยาศาสตร์มาบอกว่า ไม่ยอมให้หวังพึ่งสิ่งเหล่านั้น เราก็จะต้องคิดค้นคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุผลให้ได้ บางทีตัวเองคิดไม่สำเร็จ ลูกหลานคิดต่อไป ลูกตัวเองแก้ปัญหายังไม่ได้ หลานเหลนก็ต้องคิดแก้ไขให้ได้ ความเจริญทางปัญญามันก็เกิดขึ้น อันนี้ในสังคมไทยปัจจุบันก็น่าเป็นห่วง การหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์การอ้อนวอนนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง อันนี้ถูกหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราควรถาม ไม่มีเวลาจะตอบ

คนที่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือปัจจัยภายนอก เมื่อหันมารับเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีก็จะกลายเป็นคนงมงายในวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีอีก วิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลที่เขาลุ่มหลงและฝากความหวัง แต่ถ้าเรามีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์บอกอะไร เราก็ไม่ปลงใจเชื่อ แต่จะรับฟัง ศึกษา และใช้สอยอย่างมีสติ รู้เท่าทันว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้พอ สิ่งที่เคยรู้ว่าใช่ ต่อมากลายเป็นผิดก็มาก สิ่งที่เทคโนโยลีสมัยหนึ่งว่ามีผลดี ต่อมากลายเป็นโทษก็ไม่น้อย ควรตระหนักถึงคุณโทษ ข้อดีข้อเสียและพร้อมที่จะหาทางออกได้เสมอ

พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเทวดา เราไม่ได้บอกว่าท่านไม่มี แต่พระพุทธศาสนาถือว่าเทวดาก็เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมสังสารวัฏ เช่นกับสัตว์ทั้งหลายอื่นซึ่งเราควรจะมีเมตตา มีไมตรีจิตมิตรภาพ ควรอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ด้วยความสงบด้วยสันติ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปอ้อนวอน หวังพึ่งกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกตนเองได้ ทางพระท่านถือว่าเป็นอย่างนั้น มนุษย์จะต้องฝึกปรือหรือพัฒนาสติปัญญาของตน พยายามคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองให้สำเร็จ และมนุษย์ที่ฝึกตนแล้วทางพระถือว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด แม้แต่เทวดาพระพรหมก็ต้องเคารพกราบไหว้มนุษย์นั้น

สำหรับคนทั่วไป ใครจะเกี่ยวข้องกับเทวดาก็ให้คบหาเกื้อกูลกัน นับถือท่านอย่างเป็นญาติผู้ใหญ่ หรือมิตรสหายที่หวังดี เทวดาที่ดีก็เหมือนมิตรดีหรือคนที่มีคุณธรรม เมื่อรู้ว่ามนุษย์เดือดร้อน ก็ต้องมาช่วยเองด้วยความดีของมนุษย์นั้น นี้เป็นขอบเขตความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเทวดากับมนุษย์ ถ้ายุคใดเทวดาคอยรอแต่เครื่องเซ่น ได้สินวอนแล้วช่วยไม่เลือกว่าคนดีหรือคนชั่ว ก็บอกได้เลยว่ายุคนั้น สังคมจะมีแต่ความเสื่อมโทรม โลกมนุษย์เต็มไปด้วยความเดือดร้อนระส่ำระสาย รวมความก็คือ ท่านให้มีความสัมพันธ์กับเทวดาและพรหมในแบบเป็นมิตร มีไมตรีจิตต่อกัน มีเมตตาต่อกัน แต่ไม่ให้ไปอ้อนวอน นี้เป็นหลักสำคัญในทางพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิดก็ผิดต่อพระรัตนตรัยด้วย เพราะพระรัตนตรัยนั้นท่านไม่ให้ไปอ้อนวอนใคร แต่ท่านให้ปฏิบัติตามหลัก เมื่อนึกถึงพระรัตนตรัยแล้วก็ให้แก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ ปัญหานั้นตามหลักอริยสัจก็คือมีทุกข์ มีปัญหาเกิดขึ้น ศึกษาปัญหา แล้วก็สืบสาวหาเหตุ แล้ววางเป้าหมายและปฏิบัติตามวิธีการดับทุกข์

แรงบีบคั้นอย่างสุดท้าย เป็นเรื่องสามัญมาก แต่ควรเอามารวมไว้ด้วย เพื่อให้ครบถ้วน คือ แรงบีบคั้นของธรรมชาติแวดล้อม ประเทศตะวันตกส่วนที่เจริญนำหน้า มักมีภัยธรรมชาติที่รุนแรงคอยบีบคั้นอย่างสม่ำเสมอพอดีๆ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น อากาศหนาวเย็นถึงขั้นที่ขืนอยู่อย่างปกติจะต้องตายอย่างแน่นอนทุกคน และอากาศหนาวเช่นนั้นเวียนมาถึงเป็นประจำสม่ำเสมอทุกปี ก่อนถึงฤดูหนาวแต่ละปี คนจะต้องหาอาหารเก็บสะสมไว้ให้พอ ต้องจัดเตรียมที่อยู่อาศัยให้คุ้มหนาวได้ เป็นต้น ทุกอย่างต้องเร่งทำทันทีเมื่อถึงเวลา และต้องทำให้ทันผัดเพี้ยนไม่ได้ แรงบีบคั้นนี้ ทำให้กระตือรือร้นเร่งทำงาน และทำให้ต้องดิ้นรนหาทางแก้ปัญหา ต้องใช้ความคิดสรรหาวิธีปฏิบัติที่ได้ผลดีมากและรวดเร็ว เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของความเจริญก้าวหน้า ถึงจะเชื่อในอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า ก็รอการดลบันดาลมัวแต่อ้อนวอนอยู่ไม่ได้ ต้องถือคติพจน์เพิ่มขึ้นว่า “พระเจ้าช่วยคนที่ช่วยตัวเอง”1 ส่วนในประเทศที่อากาศไม่บีบคั้นถึงตาย หาอาหารง่าย เป็นต้น คนจะทำอะไรก็ผัดเพี้ยนเวลาได้เรื่อย และไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก ถ้าขาดเครื่องบีบคั้นอย่างอื่นและไม่มีธรรมชาติช่วยกระตุ้น ก็มีทางเป็นไปได้มากที่จะกลายเป็นคนเฉื่อยชาหรือร้ายกว่านั้น ก็อาจจะมักง่ายด้วย

วัฒนธรรมฝรั่งบีบคั้นอย่างหนักให้แต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเองสูง จนด้านหนึ่งทะเล็ดออกมาเป็นการเรียกร้องสิทธิอย่างสุดโต่ง อะไรๆ ก็จะซู (sue) ถ้าไทยเพ่งเอามาแต่ด้านเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่สร้างความรับผิดชอบ ย่อมทำได้ง่าย แต่สังคมแย่ลงทุกที

แรงบีบคั้นอย่างอื่นๆ ทางด้านวัฒนธรรมยังมีอีก เช่น ความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ระบบแข่งขัน เป็นต้น ล้วนเป็นเครื่องกดดันให้จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวาย ประมาทอยู่ไม่ได้แต่ปัจจัยเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลเสีย ต้องรู้จักแยกให้ดี ในที่นี้จะขอข้ามไปก่อน

คนเราพออยู่สุขสบายก็มักกลายเป็นคนประมาท ต้องมีแรงบีบคั้นกดดันจึงจะไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็กระตือรือร้น เร่งขวนขวาย การคิดการพูดการกระทำที่สร้างสรรค์ได้งานได้การก็ตามมา พระพุทธเจ้าจึงให้ถือความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมสำคัญ เป็นใหญ่คลุมหลักธรรมอื่นๆ ดังรอยเท้าช้าง ไม่ประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมข้ออื่นๆ ก็ตามมาได้หมด แต่ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมข้ออื่นๆ ก็นอนตายทั้งหมด เพราะเหลืออยู่แต่ในคัมภีร์ ไม่มีใครเอามาปฏิบัติ บางทีแม้แต่ได้ผลจากธรรม สบายใจหายทุกข์แล้ว เลยนอนใจ ไม่คิดแก้ไม่คิดก้าวต่อไป ก็มี ดังนั้นผู้นำที่ฉลาดจึงคอยสร้างเหตุบีบคั้นบ้าง ปลุกใจบ้าง เพื่อเร่งเร้าให้คนไม่ประมาท ในหมู่สงฆ์ก็ต้องมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ความเคารพในความไม่ประมาท เพื่อแก้ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไร ทั้งที่สุขสบายก็ไม่ให้ประมาท ซึ่งเป็นเรื่องยาก ฝืนกระแสจิตของมนุษย์ปุถุชน คนผู้ใดรู้จักเร่งเร้ากระตุ้นเตือนตนเองให้ไม่ประมาทได้ ทั้งที่ไม่มีเหตุภายนอกบีบคั้น คนผู้นั้นคือนักปฏิบัติธรรมที่แท้

เป็นอันว่าตอนนี้ เราต้องหาทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องสร้างจิตสำนึกทางสังคมในการที่จะแก้ปัญหาขึ้นมา โดยให้มีความซาบซึ้ง และใฝ่ต่อเป้าหมายของสังคม (ถ้าจะให้ดีจริงต้องต่อเป้าหมายของชีวิตด้วย) และจะต้องสร้างความใฝ่รู้ ความพยายามแก้ปัญหาด้วยปัญญาให้สำเร็จให้จงได้ วิธีสร้าง คือ ๑. เร้าความไม่ประมาทขึ้น ๒. สร้างความอยากที่ชอบธรรม อะไรคือความอยากที่ชอบธรรม นี่คือปัญหาที่จะพูดกันต่อไป ถ้ามิฉะนั้นแล้วการแก้ปัญหาก็ดี การพัฒนาก็ดี จะสำเร็จได้ยาก ถ้ามีเวลาเพียงพอ ก็จะได้ยกขึ้นมาพูดถึงโดยเฉพาะให้ชัดเจน

ขอเข้าสู่หัวข้อสุดท้ายเลย คือการใช้พุทธธรรมแก้ปัญหาการศึกษาของสังคมไทย เท่าที่อาตมภาพได้พูดมานี้ ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ต้องการให้เห็นว่า การที่จะแก้ปัญหาการศึกษา หรือจะแก้ปัญหาสังคมไทยได้นั้น อาตมภาพถือหลักว่า จะต้องเข้าถึงพื้นฐานของไทย และจะต้องไล่ให้ทันความคิดชีวิตสังคมฝรั่ง ต้องทั้งสองอย่างจึงจะสำเร็จ ในส่วนที่ต้องไล่หรือต้องรู้ให้ทันความคิดชีวิตสังคมอเมริกันนั้น เพราะเหตุว่าเรากำลังเอาสังคมอเมริกันเป็นแบบอย่าง เราเดินตามเขา ในเมื่อเราเดินตามเขา เราจะต้องรู้ว่าเขามีสภาพแท้จริงอย่างไร อะไรที่เขาทำสำเร็จและผิดพลาด เราจะได้บทเรียนอย่างไร ส่วนที่ว่าจะต้องเข้าถึงพื้นฐานของไทยก็เพราะว่า เราจะต้องรู้จักเนื้อตัวของเรา เอง และถิ่นที่เราเป็นอยู่ เหมือนกับว่าเราเห็นเสื้อชุดสากลเราจะเอามาใช้กับตัวไทยในถิ่นของเรา ผลที่สุดเราคิดออก ก็เกิดมีเสื้อชุดพระราชทานขึ้น ก็ถือว่าอาจจะเป็นชุดที่เหมาะกับของไทย ได้คิดพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

การเข้าถึงพื้นฐานไทยนั้น รวมไปถึงการที่จะกำหนดให้ได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่เรามีให้แก่อารยธรรมของโลกได้บ้าง นี้เป็นคำถามอันหนึ่ง ย้ำว่าสังคมไทยหรือวัฒนธรรมไทยหรือจะเรียกให้ใหญ่ว่าอารยธรรมไทยที่ผ่านมานี้ เรามีอะไรของเราไหมที่จะเป็นส่วนร่วมอย่างมีความหมายในอารยธรรมของโลก ที่เราจะมอบให้แก่สังคมของโลกได้ หรือใช้ภาษาอังกฤษว่า เราจะมี contribution อะไรแก่อารยธรรมของโลกได้บ้าง อาจจะเป็นส่วนช่วยร่วมหรือ contribution ที่โลกเขายอมรับอยู่แล้ว หรือที่เราเองมั่นใจว่าเราจะทำให้แก่โลกได้ นี่ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็คือว่าเราจะต้องฉลาดที่จะรู้จักเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเขามาเสริมให้แก่ตน ซึ่งอันนี้หมายถึงการที่จะต้องรู้เท่าทันชีวิต สังคมความคิดของเขาด้วย จึงจะเลือกได้ถูก การที่เราเข้าถึงพื้นฐานของเราเองและจับได้ว่าอะไรเป็นส่วนร่วมที่เรามีให้แก่อารยธรรมของโลกได้นั้น ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ ความภูมิใจในตนเองที่ถูกต้องด้วย

ขณะนี้อาตมภาพตั้งขอสังเกตว่า คนไทยขาดความภูมิใจ ขาดความมั่นใจในตนเองเป็นอย่างมาก อาการนี้แสดงออกโดยที่ตามปกติแล้วเราชื่นชอบ คอยที่จะรับสิ่งที่มาจากสังคมอเมริกันหรือสังคมตะวันตก ตามเขาไปเรื่อยๆ แต่เวลามีใครมาว่าเรา มาว่าสังคมไทยหรือว่าประเทศไทยมีข้อบกพร่องข้อนั้นข้อนี้ พวกเรามักจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยทีเดียว เกรี้ยวกราดด่าว่าเขา การแสดงอาการอย่างนี้ ไม่แสดงถึงการมีความภาคภูมิใจในตนเองหรือมั่นใจในตนเอง คนที่มั่นใจในตนเอง หรือมีอะไรดีในตัวแล้วจะไม่วู่วาม ถ้ามีความมั่นใจในตนเองจะสามารถค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา ไม่เกรี้ยวกราด ไม่เที่ยวด่าตอบเขาในทันที เพราะฉะนั้นอาการที่เป็นฟืนเป็นไฟในเวลาถูกเขาว่า แต่ตามธรรมดาแล้วก็ตามเขาเรื่อยไป นี่แสดงถึงการขาดความภูมิใจในตัวเอง ฉะนั้นความภูมิใจและมั่นใจอันนี้เราจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ อาตมภาพต้องขอผ่านไป

1คำของ Sidney ในคริสต์สตวรรษที่ ๑๖ หรือ ๑๗
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.