ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทย

๖. แม้ไม่มองในแง่ว่าเป็นศาสนา การศึกษาพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไทย คือพระพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องรู้ ในฐานะที่เป็นสถาบันสังคม เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ใหญ่กว้างครอบคลุม เป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทย และเป็นมรดกของชนชาติไทย

เมื่อมองกว้างๆ อย่างนี้ การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การเรียนรู้สิ่งที่คนที่อยู่ในสังคมไทยควรจะต้องรู้อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นการรู้จักเรื่องราวของประเทศของตนหรือสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมของตน เป็นสิ่งที่พลเมืองส่วนใหญ่ ถึงประมาณร้อยละ ๙๕ นับถือกันอยู่ มีขนบธรรมเนียมประเพณี ที่จะต้องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน มีสถานที่คือวัดวาอารามมากมายกระจายอยู่ทั่วไป ตลอดจนถ้อยคำพูดจาภาษาที่ใช้อันจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแล้ว การอยู่การไปในสังคมไทยก็ไม่คล่องตัว แม้แต่การติดต่อสื่อสารก็ติดขัดจำกัดตัว

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของการศึกษา ที่จะต้องจัดให้คนไทยได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ถ้าคนไทยไม่รู้จักพระพุทธศาสนาทั้งในด้านเนื้อหาและสถาบัน ก็คงจะต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของการศึกษาของชาติ

ในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมที่เก่าแก่มาก ซึ่งพูดได้ว่ามีมาเคียงคู่กับชนชาติไทย เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจึงปะปนอยู่ทั่วตลอดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างแยกกันไม่ออก ถ้าจะรู้ประวัติศาสตร์ไทยให้ชัด ก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไปด้วย

ในฐานะที่เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทย คำสอนความเชื่อและการปฏิบัติที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาได้ซึมซ่านอยู่ทั่วไป และฝังลึกเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นในศิลปวัฒนธรรมทุกด้าน ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี ภาษา และวรรณคดี การที่จะรู้เรื่องไทยหรือไทยคดี และการที่จะอยู่จะปฏิบัติตัวในสังคมไทยส่วนใหญ่ให้เป็นไปด้วยดี จึงหลีกเลี่ยงไม่ไหวที่จะต้องรู้อะไรๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

ในฐานะที่เป็นมรดกของชนชาติไทย เนื่องจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั่นแหละ พระพุทธศาสนาจึงได้กลายเป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญของภูมิธรรมภูมิปัญญาที่สะสมสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นสมบัติของชนชาติไทย เป็นหลักอ้างที่ทำให้เกิดความภูมิใจในความเป็นไทย และเป็นเอกลักษณ์ของชาติของตน การศึกษาพระพุทธศาสนาจึงเป็นส่วนร่วมของคนไทยแต่ละคน ในการที่จะช่วยกันสืบทอดมรดกของชาติ และดำรงรักษาเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพลเมือง

ในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ฐานะนี้ก็เนื่องกันกับฐานะก่อนๆ นั่นเอง โดยเฉพาะการที่เป็นสถาบันสังคมอันใหญ่ และเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ปรากฏในทุกส่วนของวัฒนธรรมไทย พระพุทธศาสนาจึงกลายเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่คนแม้ต่างชาติทุกคนที่เข้ามาในสังคมไทย หรือติดต่อเกี่ยวข้องกับสังคมไทยจะต้องได้สัมผัส และรู้สึกว่าความเป็นไปต่างๆ ในสภาพแวดล้อมอันนี้มักมีผลแผ่คลุมมาถึงตัวเขา และกิจการงานของเขาด้วย

ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาก็คือการศึกษาสภาพแวดล้อมทางสังคมของไทย ซึ่งเป็นประโยชน์และในหลายกรณีก็ถึงกับจำเป็น สำหรับการที่จะเป็นอยู่และทำงานให้ได้ดี คือ เพื่อดำเนินชีวิตอยู่อย่างประสานกลมกลืนและทำงานดำเนินกิจการต่างๆ ให้ได้ผลในสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้ คนต่างชาติ เช่นชาวตะวันตกที่จะเข้ามาอยู่และเข้ามาทำงานกับคนไทยในประเทศไทย ถ้ามีการเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการที่จะมาอยู่ และทำงานให้ได้ผล จึงถือการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับคนไทยและสังคมไทย เพื่อจะให้เขามาอยู่ได้อย่างดี และทำงานได้ผล ไม่ว่าจะในแง่ที่ว่ารู้จักชีวิตจิตใจของคนไทยแล้ว ทำให้การทำงานของเขาเองได้ผลแก่ตัวเขา หรือในแง่ที่ว่ามาทำงานให้แก่สังคมไทย เพื่อประโยชน์แก่คนไทย จึงต้องรู้จักเข้าใจคนที่เขาจะมาทำงานให้ เพื่อให้ทำงานได้ผลตรงจุดที่จะเป็นประโยชน์แก่คนไทย และสังคมไทยอย่างแท้จริง

ดังนั้น คนไทยเราด้วยกันเอง แม้จะนับถือต่างศาสนา ถ้าไม่รู้สึกถือสาในเรื่องศาสนา ก็จะเห็นความสำคัญของการที่จะศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนา อย่างน้อยในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมนี้ เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมทำงานร่วมกับคนไทยส่วนใหญ่ และทำงานเพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นอย่างนี้ อย่างได้ผลดี

โดยนัยนี้ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา จึงไม่จำต้องพรรณนาว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสักเพียงไร ในการที่เขาจะรู้จักประเทศชาติและสังคมของตน ในการที่เขาจะมีส่วนร่วมสืบทอดมรดกรักษาเอกลักษณ์แห่งชาติของตน ในการที่เขาจะรู้จักสังคมและชุมชนที่เขาจะไปอยู่ร่วมทำงานร่วม และทำงานให้ และในการที่จะปฏิบัติตัวและปฏิบัติต่อสังคมไทยอย่างถูกต้องโดยทั่วไป

การจัดการศึกษาของไทย ในความหมายหนึ่ง ก็คือ การเตรียมคนไทยรุ่นใหม่ให้พร้อมที่จะมาอยู่ร่วมในสังคมไทย และมาช่วยพัฒนาสังคมไทย

ถ้าจัดการศึกษานั้นไม่ถูกต้อง โดยละเลยสิ่งที่คนไทยควรจะต้องรู้ ทำให้เขาไม่รู้จักและปฏิบัติตัวไม่ถูกแม้ต่อพระพุทธศาสนา ที่ตัวเขาเองแจ้งว่านับถือ การศึกษานั้นก็กลายเป็นเหมือนการจัดเตรียมคนไทยสำหรับให้ไปอยู่ในสังคมอื่น แล้วฝืนมาอยู่ในสังคมไทยอย่างแปลกแยกต่อกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบทเรียนที่เราได้รับกันอยู่แล้วในปัจจุบัน อันจะไม่เป็นผลดีทั้งแก่ชีวิตของตัวเขาเอง และแก่สังคมไทย

จึงน่าจะต้องยอมรับว่าการศึกษาในยุคปัจจุบันของไทย มีความผิดพลาดในส่วนนี้ ซึ่งควรจะเร่งแก้ไข

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.