ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าจะตามเขา ก็ควรตามอย่างรู้เท่าทัน

ในอเมริกา ถึงแม้ว่าจริยธรรมแห่งการทำงานจะเสื่อมลง แต่แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และความเชื่อว่าความสุขสมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม ทั้งสองอย่างนี้ก็ยังคงแพร่หลายเป็นพื้นฐานอยู่ในสังคมอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังติดในความเชื่อและความคิดอย่างนั้น ชาวอเมริกันก็รู้ตัวแล้วว่าตนไม่สามารถวิ่งแล่นหรือเดินหน้าไปตามความเชื่อและแนวความคิดนั้นอย่างปราศจากความยับยั้งอีกต่อไปได้ เพราะความเชื่อและแนวความคิดแบบนั้นนั่นเอง ที่ได้พาโลกทั้งหมด ทั้งโลกมนุษย์และโลกแห่งธรรมชาติมาเผชิญกับปัญหาร้ายแรงขั้นที่แทบอับจนในปัจจุบัน คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย เพราะถูกมนุษย์เอาเปรียบเบียดเบียนทำลาย และปัญหาการพัฒนาไม่สมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจ ที่ทำให้สังคมที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เต็มไปด้วยปัญหาจิตใจและปัญหาสังคมที่สืบเนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจ

มนุษย์ในประเทศพัฒนาเหล่านั้นรู้ตัวว่า ถ้าขืนก้าวต่อไปในทิศทางนั้น ธรรมชาติแวดล้อมที่เสียหาย และจิตใจที่เสื่อมโทรม จะส่งผลย้อนกลับมาทำลายมนุษย์ ให้มนุษย์นั้นเองต้องถึงความพินาศ

มองอีกด้านหนึ่ง แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และความเชื่อว่ามนุษย์จะสุขแท้เมื่อมีวัตถุพร้อมนั้น ถ้าไม่มีจริยธรรมแห่งการทำงานมารับช่วงต่อในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย การเร่งรัดสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างที่เคยทำมาในสมัยก่อน ก็ย่อมไม่อาจเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ลางแห่งความเสื่อมถอย หรือความพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งก็ย่อมปรากฏขึ้นมาเป็นธรรมดา

พร้อมกันนั้น ก็มีข้อสังเกตด้วยว่า ในกรณีที่มีปัจจัยหลายอย่างสัมพันธ์ส่งผลสืบทอดต่อกันอยู่นี้ ปัจจัยที่เป็นตัวจริยธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ฝืนใจรักษาไว้ได้ยาก (คือจริยธรรมแห่งการทำงาน) แต่เป็นการง่ายที่จะปล่อยตัวไหลลงไปตามกระแสของปัจจัยที่เป็นกิเลส คือ โลภะ (ความอยากมีสุขแท้ด้วยการมีวัตถุพร้อม) และโทสะ (ความต้องการที่จะพิชิตธรรมชาติ) และมนุษย์ก็ดูเหมือนจะเต็มใจบำรุงเลี้ยงกิเลสรวมทั้งความเห็นผิดนั้นไว้ แม้ว่ามันจะเป็นตัวการนำมนุษย์มาสู่ภาวะที่เสี่ยงต่อภัยแห่งความพินาศ (ถ้าไม่มีจริยธรรมช่วยคุมและจัดช่องทางให้)

เท่าที่กล่าวมานี้ มิใช่จะมุ่งให้เห็นว่า ปัจจัยตัวนั้นดีตัวนี้เลว อย่างจำเพาะลงไป เช่น จริยธรรมแห่งการทำงานของฝรั่งก็ดี ลัทธิชาตินิยมแรงกล้าของญี่ปุ่นก็ดี แม้จะเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า แต่ปัจจัยเหล่านี้ ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ความมุ่งหมายของสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือ ต้องการให้รู้จักมองสิ่งที่เรียกว่าความเจริญและความเสื่อมนั้นๆ ตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย ให้รู้จักคิดค้นสืบสาวหาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทั่วถึง ให้รู้หน้าที่และส่วนร่วมของปัจจัยหรือองค์ประกอบแต่ละอย่าง ให้รู้ข้อดีข้อเสียของปัจจัยแต่ละอย่างนั้นๆ และให้รู้จักมองในแง่ของระบบและกระบวนการที่มีปัจจัยหลากหลายสัมพันธ์กันอยู่ ซึ่งความบกพร่องเสียหายอาจเกิดจากความขาดแคลนปัจจัยอื่นบางอย่างที่จะมาช่วยทำให้เกิดความสมดุล หรือปิดช่องโหว่ในระบบหรือกระบวนการนั้น ไม่ใช่มองแบบดิ่งด้านเดียว หรือเหมารวมไปเลย

อย่างน้อยก็จะได้ไม่พูดออกมาง่ายเกินไปว่า ความโลภหรือตัณหาจะทำให้มนุษย์ทำการสร้างสรรค์พัฒนาได้สำเร็จหรือเจริญรุดหน้า ในขณะที่โลภะหรือตัณหานั้นแหละเป็นตัวการขั้นรากฐานที่นำมนุษย์มาเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของยุคปัจจุบัน คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย และปัญหาจิตใจที่พ่วงโยงปัญหาสังคมตามติดมา

การพูดตื้นๆ ว่า ความโลภหรือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดการสร้างสรรค์พัฒนา เป็นตัวอย่างของท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายแบบดิ่งด้านเดียว หรือแบบเหมารวม แสดงถึงภาวะทางปัญญาที่ขาดการพัฒนาความคิดเชิงระบบและปัจจัยสัมพันธ์ ภาวะทางจิตที่ขาดความใส่ใจรับผิดชอบและความมีสติรอบคอบ ตลอดจนภาวะทางพฤติกรรมที่ขาดนิสัยเก็บรวบรวมตามหาประมวลกรองจัดระเบียบข้อมูล

สิ่งที่เรียกว่าเป็นความเจริญของฝรั่งที่เป็นมาแล้วก็ดี ของญี่ปุ่นที่กำลังแซงขึ้นมาก็ดี แท้จริงแล้วก็มีทั้งส่วนดี และส่วนเสีย ทั้งส่วนที่เจริญ และส่วนที่เสื่อมอยู่พร้อมกัน ส่วนที่เสียและเสื่อมที่ปนอยู่กับส่วนที่ดีและเจริญนั้น ปัจจุบันนี้ก็ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดเจนพอสมควร จะเห็นหรือไม่เห็น ก็อยู่ที่ว่าจะเอาใจใส่ที่จะมองดูหรือไม่ คือ ถ้าไม่สักว่าปิดหูหลับตาเดินตามเขาไป ก็ย่อมรู้และเห็น เพราะแม้แต่ตัวเขาเองก็บ่นจะแย่อยู่แล้ว

คนที่มีปัญญาเป็นของตัวเอง ถ้ารู้จักดู รู้จักแยก รู้จักทำให้เป็น เมื่ออยากจะเจริญให้ดี ก็มีแต่ได้ประโยชน์จากเขา ถึงจะเจริญ ก็ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบฝรั่ง ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบญี่ปุ่น เพื่อไปซ้ำเติมปัญหาให้กับตัว และให้แก่โลกมนุษย์ ถ้าตั้งใจจริง ไม่มักง่าย ใช้ปัญญาตรวจตราอย่างไม่ประมาท ก็สามารถเจริญในรูปแบบที่ต่างออกไป ชนิดที่ละล้างส่วนที่เป็นโทษของตน และเลือกร่อนเอาส่วนที่เป็นคุณของผู้อื่นมาได้ โดยมีทิศทางใหม่ของตน ทำได้อย่างนี้ จึงจะนับว่าเป็นความเจริญที่แท้จริงได้ คือมีอะไรดีใหม่ๆ ให้แก่โลก ที่จะเป็นความก้าวหน้าในประวัติแห่งวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เพื่อเข้าถึงความดีงามอันอุดมยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

ถ้าไม่สามารถขึ้นไปสู่ฐานะแห่งความเป็นผู้นำเขาได้ ก็อย่าให้ถึงกับต้องถูกฝรั่งตราหน้าเอาได้ว่า อย่าว่าแต่จะมานำเขาเลย แม้แต่จะตามก็ยังตามเขาไม่ทัน และอย่าว่าแต่จะตามให้ทันเลย แม้ที่ตามอยู่นั้นก็ตามเขาอย่างไม่รู้เท่าทัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.