ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

รู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียด

การยัดเยียดมี ๒ อย่าง คือ ยัดเยียดเนื้อหา กับ ยัดเยียดความคิด การยัดเยียดเนื้อหา มักมาด้วยกันกับการเรียนแบบท่องจำ คือเอามาสอนให้จำเข้าไปๆ ไม่รู้จักคิดหรือคิดไม่เป็น ส่วนการยัดเยียดความคิด ก็เป็นเรื่องของการยัดเยียดลัทธิหรือยัดใส่ความเชื่อ (indoctrination) อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสคิดพิจารณาเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง นำไปสู่ผลเสียคือไม่รู้จักคิด หรือคิดไม่เป็น ปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพ และขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย

การยัดเยียดเนื้อหาก็ตาม การยัดเยียดความคิดก็ตาม มักเป็นปัญหาเนื่องจากการสอน ถ้ารู้จักสอนหรือสอนเป็น มีการสอนที่ดีได้ผล จะสามารถทำให้ผู้เรียนรู้จักคิดหรือคิดเป็น และเมื่อสอนได้อย่างนั้น เนื้อหาที่มีแม้มาก แต่ถ้าไม่เกินไปจนกลายเป็นแออัดหรือเต็มล้น และไม่เน้นว่าจะต้องจำ เนื้อหานั้นก็จะกลายเป็นข้อมูลของความคิด ที่จะเอาไปคิดสร้างสรรค์ได้มากและเลือกใช้ได้มาก ส่งเสริมความรู้จักคิดหรือคิดเป็นให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันนี้ในวงการการศึกษา มีการติเตียนการเรียนด้วยวิธีจำกันบ่อยมาก จนบางครั้งก็กลายเป็นสุดโต่งไปเหมือนจะไม่ให้ต้องจำอะไรเลย เอาแต่จะให้รู้จักคิดหรือคิดเป็นอย่างเดียว

แท้จริงนั้น การเรียนจำที่พึงรังเกียจ หมายถึงการสักแต่ว่าจำ หรือจำโดยไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจความหมาย อย่างที่เรียกว่าจำอย่างนกแก้วนกขุนทอง จำสิ่งที่ไม่ควรจำ จำเลอะเทอะเปรอะๆ ไป และจำไว้อย่างนั้นเอง ไม่รู้จักเอาสิ่งที่จำมาใช้ประโยชน์ คือไม่เชื่อมโยงกับความรู้จักคิด หรือไม่มีความรู้จักคิดควบคู่อยู่ด้วยนั่นเอง เรียกสั้นๆ ว่าไม่รู้จักจำ หรือจำไม่เป็น แต่ถ้ารู้จักจำ หรือจำเป็นแล้ว ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษา ในการพัฒนา และดำเนินชีวิตมาก เพราะเป็นคู่กันกับความรู้จักคิด เรียกว่า รู้จักคิด รู้จักจำ คนที่มีทั้งรู้จักคิดและรู้จักจำ ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่รู้จักคิดอย่างเดียวหรือรู้จักจำอย่างเดียว

ความรู้จักจำหรือจำเป็นนั้นมีลักษณะที่สำคัญคือ

๑) จำสิ่งที่ควรจำ หรือรู้จักเลือกจำสิ่งที่เป็นประโยชน์

๒) จำรู้เรื่อง คือ จำอย่างเข้าใจความหมาย รู้เข้าใจเรื่องที่จำ

๓) จำโดยโยงกับการคิดหรือการใช้งาน โดยมีความรู้จักคิดอยู่ด้วย เพื่อจะเอาข้อมูลของความจำไปใช้อย่างฉลาด

คนที่รู้จักคิดหรือคิดเป็น ยิ่งจำได้มาก เขาจะยิ่งดีใจ เพราะเมื่อพบเนื้อหามาก ก็ได้ข้อมูลของความคิดไว้มาก เท่ากับว่าเขาได้หรือมีข้อมูลมากๆ ที่จะเอาไปคิดสร้างสรรค์หรือเลือกใช้ได้เต็มที่ ถึงแม้สมัยนี้เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลจะเจริญมาก มีเครื่องบันทึกเสียงและคอมพิวเตอร์ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากมายและแม่นยำ แต่ความจำก็ยังจำเป็นและเป็นประโยชน์มากสำหรับคน มิใช่ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะทำงานภาคความจำให้เราได้ทั้งหมด การปฏิบัติที่ฉลาดต่อเรื่องนี้ในสมัยนี้ จึงอยู่ที่การรู้จักจัดสรรแบ่งงานว่าอะไรเราจะจำเอง อะไรจะให้คอมพิวเตอร์จำ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.