ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา

ความต้องการให้โรงเรียนสอนศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน กับการที่เด็กนักเรียนมาจากครอบครัวซึ่งนับถือนิกายศาสนาต่างๆ ที่สอนหลักศีลธรรมไม่เหมือนกัน เป็นสภาพขัดแย้งและเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเรื่อยมาในสังคมอเมริกัน การหาทางออกด้วยการเก็บรวบรวมหลักจริยธรรมที่เป็นกลางๆ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้ถึงจุดที่พอจะลงตัวครั้งหนึ่ง เมื่อโรงเรียนทั้งหลายพากันเริ่มใช้ “ประมวลหลักศีลธรรม” (morality codes) ที่สถาบันธรรมจรรยาศึกษา (Character Education Institute) ซึ่งตั้งขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ได้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดขึ้น

แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นก้าวใหม่ก็ได้เริ่มขึ้นอีก ในเมื่อจอห์น ดิวอี มองเห็นว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ควรจะทำให้เรียบร้อยได้ผลดียิ่งกว่านั้น คือ ไม่ใช่ทำได้แค่เก็บเอากฎเกณฑ์ทางศีลธรรมจากที่นั่นที่นี่มารวมกันไว้ แต่ควรจะมีหลักปรัชญาเป็นแกน

ดังนั้นจริยธรรมสากลในสังคมอเมริกัน จึงได้พัฒนาครั้งสำคัญขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งตามแนวความคิดของจอห์น ดิวอี คราวนี้ จริยธรรมสากล พ้นจากลักษณะที่เป็นกลางๆ อย่างค่อนข้างเลื่อนลอย มาสู่ความมีหลักการอย่างเป็นตัวของตัวเอง คือมีเป้าหมายที่จะเสริมศรัทธาในหลักการแห่งประชาธิปไตย แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ก็กลายเป็นการทำให้จริยธรรมสากลนั้นมีลักษณะที่แคบเข้าด้วย โดยมีความหมายผูกพันกับระบบประชาธิปไตย และสังคมอเมริกันโดยเฉพาะอย่างชัดเจน ซึ่งในที่สุดก็มีผู้ตั้งชื่อเฉพาะให้ว่าเป็นศาสนาประชาราษฎร์ หรือ ศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา (the civil religion หรือ The American Civil Religion)

ถึงตอนนี้ จริยธรรมสากลก็เหมือนจะกลายเป็นศาสนาเฉพาะขึ้นมาอีกศาสนาหนึ่ง (มีผู้ที่กล่าวว่าอย่างนี้ ในประเทศอเมริกาเอง1) โดยมีความจำกัดเฉพาะทั้งในแง่ของหลักการคือเป็นศาสนาประชาธิปไตย และในแง่ของประเทศหรือสังคมที่มุ่งให้ได้รับประโยชน์ คือเป็นศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา เมื่อถึงขั้นนี้ คนในประเทศอื่น ที่ต้องการตามอย่างในการที่จะมีจริยธรรมสากล ก็ต้องหยุดอยู่แค่หลักการแห่งการสร้างจริยธรรมสากล ด้วยการเก็บรวบรวมหลักจริยธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วๆ ไป ชนิดที่เหมือนๆ กัน มาประมวลเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นวิธีการพื้นฐานในเรื่องนี้

เมื่อไม่นานมานี้ มีบุคคลสำคัญในวงการจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่ง ได้ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลของตะวันตกก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง บุคคลท่านนี้คือ ลอเรนซ์ โกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg, 1927-1987) โกลเบอร์ก ได้เสนอทฤษฎีพัฒนาจริยธรรม หรือพัฒนาการทางศีลธรรม (moral development) ซึ่งทำให้จริยธรรมสากลได้ปรากฏตัวขึ้นมาอีกอย่างมีฐานะอันสำคัญ กล่าวคือทฤษฎีนี้ถือว่า การพิจารณาวินิจฉัยในทางจริยธรรมโดยถือความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล (universal ethical principle) เป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นสูงสุด

โกลเบอร์กถือว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นพัฒนาการทางปัญญา ซึ่งแสดงออกในการคิดหาเหตุผลและทำการตัดสินใจทางจริยธรรม จริยศึกษาจึงหมายถึงการช่วยเอื้ออำนวยโอกาสให้เด็กพัฒนาตนเอง ในการคิดหาเหตุผล และตัดสินใจในทางจริยธรรมสูงขึ้นไปตามระดับขั้นตอนของพัฒนาการนี้ โกลเบอร์กจัดลำดับพัฒนาการทางจริยธรรมนี้เป็น ๓ ระดับ และซอยแต่ละระดับเป็น ๒ ขั้น รวมทั้งหมดเป็นพัฒนาการ ๖ ขั้น23 คือ

๑. ระดับก่อนบัญญัติ (ถือดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยอมรับกฎศีลธรรมตามคำของผู้ใหญ่หรือคนที่โตกว่า)

ขั้นที่ ๑ ถือการลงโทษและการเชื่อฟังเป็นหลัก (คำนึงถึงผลตอบสนองทางร่างกาย ยึดถือ และทำดีเว้นชั่ว ตามคำสั่งของผู้ใหญ่ เพราะกลัวถูกลงโทษ และอยากได้รางวัล)

ขั้นที่ ๒ ถือความที่กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือสนองประโยชน์ตนเป็นหลัก (ยึดถือกฎศีลธรรมในลักษณะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ตนได้รับผลตอบแทนตรงกับการกระทำในการทำดีและเว้นชั่ว)

๒. ระดับบัญญัติ (ถือดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยอมรับกฎศีลธรรมตามกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม)

ขั้นที่ ๓ ถือการยอมรับและการทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้อื่นเป็นหลัก (คิดและเลือกที่จะเว้นชั่วทำดี ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสบายใจ พึงพอใจ โดยที่ตนเองได้ความยอมรับว่าเป็นเด็กดี)

ขั้นที่ ๔ ถือการรักษากฎระเบียบเพื่อธำรงสังคมเป็นหลัก (คิดและเลือกที่จะเว้นชั่วทำดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานของสังคม โดยถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเคารพกติกา เพื่อธำรงความเรียบร้อยของสังคม)

๓. ระดับเหนือบัญญัติ (ถือว่าจริยธรรมที่แท้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม แต่อยู่ที่ความดีงามถูกต้อง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบัญญัตินั้น)

ขั้นที่ ๕ ถือกฎเกณฑ์ในฐานะสัญญาประชาคมเป็นหลัก (รู้ตระหนักว่ากฎเกณฑ์ที่บัญญัติกันไว้เป็นเพียงเครื่องมือจัดสรรสังคมให้บรรลุความสงบเรียบร้อยและประโยชน์สุข จะต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยวิจารณญาณ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และประโยชน์สุขของสังคมนั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่อาจนำไปสู่การแก้ไขกฎเกณฑ์ของสังคมได้ และทำให้คนที่ดีมีปัญญาวางข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันได้ แม้ในกรณีที่ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้)

ขั้นที่ ๖ ถือจริยธรรมสากลเป็นหลัก (แยกได้ชัดระหว่างตัวจริยธรรมที่แท้กับกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม เช่นกฎหมาย เป็นต้น ความถูกต้องชอบธรรม เป็นไปตามหลักจริยธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถใช้วิจารณญาณพิจารณาปฏิบัติให้ถูกต้องในแต่ละสถานการณ์หรือเป็นเรื่องๆ เป็นกรณีๆ ไป)

ขั้นทั้ง ๖ นี้ ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดพัฒนาการทางจริยธรรมของเด็ก (รวมทั้งคนทั่วไป) แต่ขั้นที่ ๖ เป็นขั้นที่น้อยคนเหลือเกินจะก้าวไปถึง และโกลเบอร์กได้ตัดออกจากการใช้วัด เพราะเขาไม่พบตัวอย่างในกลุ่มคนที่ใช้ทดลอง

ทฤษฎีของโกลเบอร์กนี้ ช่วยขยายความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลของตะวันตกออกไป โดยมีแง่ที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งเป็นข้อสำคัญ ๒ อย่างคือ

๑. มีการแยกได้ ระหว่างกฎเกณฑ์ความประพฤติที่เป็นบัญญัติของสังคม กับตัวจริยธรรมที่แท้ที่เป็นนามธรรมซึ่งจะต้องเข้าใจด้วยปัญญา หรือพูดง่ายๆ ว่าระหว่างบัญญัติธรรม กับจริยธรรมที่เขาเรียกว่าจริยธรรมสากล

๒. มองพัฒนาการและปฏิบัติการทางจริยธรรม เป็นระบบและกระบวนการ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยระหว่างพฤติกรรมภายนอกกับองค์ประกอบภายใน (ซึ่งในที่นี้ได้แก่ปัญญา) ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าการมีพฤติกรรมตามมาตรฐานของสังคมด้วยการยึดถือเคร่งครัดตามบัญญัติของสังคมนั้นๆ

อีกอย่างหนึ่ง มีท่าทีคล้ายกับว่าโกลเบอร์กได้ช่วยให้จริยธรรมสากล มิใช่เป็นสากลเพียงในความหมายว่าเป็นหลักความประพฤติที่เป็นกลางๆ เท่านั้น แต่ช่วยให้ความเป็นสากลนั้นโน้มเข้ามาสู่ความหมายในแง่ที่เป็นความจริงมากขึ้น

1เช่น Daniel A. Spiro, "Public Schools and the Road to Religious Neutrality," Phi Delta Kappan, June 1989, pp. 759-763. (ต้นฉบับหนังสือระบุไว้ว่า "เช่นที่ 2" -- ผู้จัดทำเว็บไซต์)
2แนวความคิดในเรื่องพัฒนาการทางจริยธรรมของโกลเบอร์กนี้ ในวงการจิตวิทยาการศึกษา ถือกันว่าสืบมาจากจีน พีอาเจต์ (Jean Piaget) แต่การแบ่งระดับของพัฒนาการนั้นดำเนินตามจอห์น ดิวอี (John Dewey) ที่จริง โกลเบอร์กมีความคิด (ดูใน Philosophy of Moral Development, 1981) ที่จะขยายทฤษฎีของเขาออกไปอีก ให้มีพัฒนาการถึงขั้นที่ ๗ (โกลเบอร์กสิ้นชีวิตแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐) แต่ในทางปฏิบัติ แม้แต่ขั้นที่ ๖ เขาก็ต้องยอมตัดออกไป เพราะมีคนน้อยนักที่จะทำการตัดสินใจในขั้นนี้ และเขาเองก็ยอมรับว่าขั้นที่ ๖ นี้เป็นขั้นที่เขาเองคิดสร้างขึ้นจากสถานการณ์สมมติ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงอุดมคติที่วาดไว้
3Rom Harre and Roger Lamb, p. 399. และดูประกอบ เช่น ใน
Susan R. Stengel, "Moral Education for Young Children," Young Children, September 1982.
Christina Hoff Sommers, "Ethics Without Virtue: Moral Education in America," The American Scholar, Vol. 53, No. 3, Summer, 1984.
สุรางค์ โค้วตระกูล. จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533, หน้า 49-53 และดูแหล่งความคิดเดิมใน
L. Kohlberg. Philosophy of Moral Development. New York: Harper & Row, 1981.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.