ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษา

๙. ข่าวร้ายต่างๆ ในวงการพุทธศาสนาของไทย เกี่ยวกับภิกษุบางรูปประพฤติเสียหาย ละเมิด ตลอดจนลบล้างบิดเบือนพระธรรมวินัย ปรากฏชัดเจน เป็นเหตุการณ์ใหญ่อื้อฉาวติดต่อกันมาเรื่อยๆ ตลอดเวลาเกือบ ๒ ปี แทบไม่ขาดตอนเลย นับถอยหลังตั้งแต่กรณีนิกร-อรปวีณา ที่เป็นเรื่องใหญ่ล่าสุด ย้อนกลับลงไปจนถึงกรณีโพธิรักษ์ และกรณีเครื่องราชฯ โดยเจ้าคุณอุดมฯ เป็นเครื่องสะท้อนสภาพความเสื่อมโทรมทั้งของสถาบันพุทธศาสนาและสังคมไทย เมื่อมองผ่านๆ ภาพที่เห็นในขั้นแรกก็คืออาการหมักหมมปัญหาในวงการพุทธศาสนาที่เพียบล้นจนโผล่ทะลักออกมา แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป ก็จะเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณอันตราย ที่ชี้บ่งถึงสภาพความเสื่อมโทรมของสังคมไทยทั้งหมดโดยส่วนรวม ที่จะต้องรีบเร่งฟื้นฟูแก้ไข กล่าวคือ

ก) ในด้านภูมิธรรม ตามปกติของสังคมไทย วัดเป็นศูนย์กลางของการสั่งสอนอบรมศีลธรรมจรรยา พระภิกษุได้รับความเคารพนับถือ ในฐานะผู้ทรงศีลมีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นครูของประชาชน ถ้าเรายอมรับว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นชุมชนที่มีจริยธรรมมากที่สุดในสังคมไทย เหตุการณ์อื้อฉาวที่กล่าวข้างต้นก็เป็นเครื่องเตือนใจคนไทย ให้สำนึกว่า สภาพจริยธรรมในสังคมไทยได้ตกต่ำเป็นอย่างยิ่งแล้ว เพราะว่าแม้แต่พระสงฆ์ที่ถือกันว่าอยู่ในสถานะที่จะได้รับการฝึกฝนอบรมทางจริยธรรมอย่างดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็อยู่ในกรอบแห่งระบบการควบคุมทางสังคม ให้มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ก็ยังทรามลงไปได้ถึงเพียงนี้ สภาพตกต่ำเสื่อมโทรมทางจริยธรรมของคนไทยทั่วๆ ไปในสังคมวงกว้าง จะฟอนเฟะหรือเลวร้ายมากสักเพียงไหน

ข) ในด้านภูมิปัญญา การที่ภิกษุผู้มีพฤติกรรมในทางหลอกลวง ประพฤติคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย เผยแพร่สั่งสอนในเรื่องเหลวไหลงมงาย และลัทธินอกพระพุทธศาสนา ตลอดจนบิดเบือนกล่าวตู่พุทธพจน์ลบล้างพุทธบัญญัติ แต่กลับได้รับความนิยมนับถือมากมายกว้างขวาง รุ่งเรืองด้วยบริษัทบริวาร กว่าจะล่วงรู้กันถึงความผิดเรื่องก็เลวร้ายความเสียหายก็ถึงขั้นรุนแรงแล้ว อย่างที่เป็นมานี้ สภาพเช่นนี้เป็นเครื่องฟ้องอย่างชัดเจน ถึงการที่ประชาชนหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา และขาดความพินิจพิจารณาหรือขาดวิจารณญาณที่จะรู้เท่าทันและวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

สภาพตกต่ำเสื่อมโทรมทั้งทางภูมิธรรม และภูมิปัญญาอย่างที่กล่าวมานี้ น่าจะเพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นเตือนปลุกเร้าผู้บริหาร ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายพระศาสนา บุคคลผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดถึงคนไทยทุกคน ให้เกิดความสำนึกตื่นตัวขึ้นมาเร่งรีบแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดและส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่การเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและหลักคำสอนที่ถูกต้องแท้จริง อย่างน้อยให้มีภูมิปัญญาเพียงพอที่จะรู้จักแยกได้ว่าอะไรเป็นพุทธศาสนา อะไรไม่ใช่ และในแง่ของการฝึกฝนอบรมทางจริยธรรม เพื่อยกระดับภูมิธรรมให้สูงขึ้นไป อย่างน้อยพอที่จะเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าสามารถมีส่วนร่วมในการดำรงรักษาสังคมให้เป็นปกติสุข

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.