มองดูสังคมไทยในเวลาที่เรียกว่าใกล้กึ่งพุทธกาลนั้น ได้เห็นความแตกต่างห่างไกลกันอย่างชัดเจน ระหว่างเมืองกรุง กับบ้านนอก (คือนอกกรุงเทพฯ)
คนทั้งสังคมไทยฝันใฝ่ปรารถนาอยากได้อยากมีความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูทางวัตถุอย่างเมืองฝรั่ง ที่คนไทยเรียกว่าเป็นอารยประเทศ แต่เมืองกรุงเป็นถิ่นเดียวที่คนไทยเข้าถึงความเจริญอย่างนั้น
ส่วนคนบ้านนอก ซึ่งยากจะไปที่ไหนๆ แค่ถนนลูกรังก็หาได้ยาก ได้แค่ตื่นหูตื่นใจไปกับความเจริญของเมืองกรุง และใฝ่ฝันที่จะได้ไปเดินงกๆ เงิ่นๆ แหงนดูแสงสีที่ระยิบระยับแพรวพราวในเมืองสวรรค์ พอได้ไปจริง ก็จับแขนต่อๆ กันเดินเป็นแถวข้ามถนน เป็นอย่างคำเก่าที่ยังพอจำกันได้ว่า “บ้านนอกเข้ากรุง”
กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาใกล้เข้ามาสู่ พ.ศ.๒๕๐๐ นั้น เป็นเมืองของคนสมัยใหม่ ซึ่งหันหลังให้วัด เมินให้วัฒนธรรมประเพณีเดิม ว่าของไทยอะไรๆ ก็ล้าหลัง ไม่ทันสมัย พระพุทธศาสนานี้คร่ำครึ คำว่า สมาธิ วิปัสสนา กรรมฐาน ฯลฯ อย่าไปพูด เขาจะดูถูก หรือหัวเราะเยาะเอาว่าจะไปนั่งเทียนหรือไง... พระเณรในเมืองกรุงนี้ไปเดินบิณฑบาต ยากจะได้อาหาร บางทีไปบิณฑบาตกลับมาบาตรเปล่า ไม่ได้อะไรเลย พระเณรรู้กันว่าที่บ้านนั้น ถนนนั้น มีโยมผู้เฒ่าหรือคนเก่าคนแก่ที่มีศรัทธาตักบาตรเป็นประจำทุกวัน ก็เป็นที่หวังว่าจะพอได้ภัตบ้าง คงจะไม่ถึงกับกลับวัดบาตรเปล่า
ส่วนในชนบททั่วไป ซึ่งเป็นบ้านนอก ชาวบ้านยังใกล้ชิดสนิทวัด อยู่กับวัฒนธรรมประเพณีที่สืบกันมา ยังเคารพเชื่อฟังหลวงพ่อหลวงปู่ยังห่วงใยดูแลหลวงตา แต่ลึกลงไปในใจ ชาวบ้านส่วนใหญ่หรือแทบทั้งนั้น ต่างก็หมายมองพุ่งสายตาออกไปข้างนอก ใฝ่ใจเรียกหารอจะรับเอาความเจริญที่จะเข้ามาจากเมืองจากกรุง ไม่มั่นจิตไม่สนิทใจกับวัด กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่สืบกันมาของตัว ไม่มีความภูมิใจในถิ่นในชุมชนของตน ตัวอยู่ใน-ใจออกห่าง พร้อมที่จะผละหรือสลัดออกไป เพื่อรับเอาความเจริญอย่างใหม่ โดยหวังจะได้มีความสนุกสุขสะดวกสบายเหมือนอย่างคนสมัยใหม่ในเมืองกรุงนั้น
เวลานั้น บนถนนสายสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ บางทีมีคนชาวประเทศตะวันตก หรือฝรั่ง เดินผ่านมา-ผ่านไปบ้าง ฝรั่งเหล่านั้น ซึ่งคนไทยมองอย่างนับถือว่าเป็นอารยชน ล้วนแต่งตัวภูมิฐาน ดูเด่นเป็นสง่า ใส่เสื้อนอกที่เรียกกันว่าชุดสากลทั้งนั้น ไม่มีคนไหนใส่แค่เสื้อยืดเสื้อกล้ามหรือเปิดหลังเปิดไหล่