ทันโลก ถึงธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถ้าความไม่ประมาทมา
ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า

ปัญหาของอารยธรรมเวลานี้ เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขั้นที่ว่า โลกนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ยั่งยืนต่อไปแค่ไหน แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดให้ยาวความในที่นี้ ปัญหาด้านต่างๆ ก็ได้พูดมาอย่างกว้างๆ พอสมควรแล้ว ในที่นี้ ขอเอาข่าวสารปลีกย่อยมาบอกกันให้เห็นภาพของปัญหาเล็กน้อย

โลกเวลานี้เจริญก้าวหน้าไปไกล ถึงขั้นมีความเจริญที่เป็นภัยเป็นอันตรายมากขึ้น อีกทั้งความเจริญนั้นก็ขัดกันในตัวมันเอง เป็นปัญหาที่น่าจะใช้คำพระว่า อุภโตโกฏิกปัญหา แปลว่า ปัญหาสองขั้ว หรือปัญหาที่ติดตันทั้งสองข้าง ไปข้างไหนก็ไม่ได้

ท่านที่อยู่ใกล้ๆ ได้พบข่าวใหม่เรื่องเมืองจีน นำมาให้ดูว่า

ที่เมืองจีน อุตสาหกรรมกำลังเติบโต เมื่อมีโรงงานมากขึ้น ก็ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามากขึ้น แต่ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อมลพิษมากขึ้น ทางการจึงต้องปิดโรงไฟฟ้าให้เหลือน้อยลง แต่เมื่อการผลิตไฟฟ้าลดลง โรงงานก็ต้องปิดมากขึ้น แต่เมื่อโรงงานปิดมากขึ้น อุตสาหกรรมก็จะไม่โต

นี่คือปัจจุบัน แต่ปัญหาต่างๆ เป็นมานานแล้ว เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ก็ใช้พลังงานมากขึ้น ต้องหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอ เมื่อราว ๕๐ ปีก่อนนี้ ที่เมืองไทย คนตื่นกันมากว่า ในอเมริกา เขาสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูกันแล้ว (สมัยนั้น คนเรียกว่าโรงไฟฟ้าปรมาณู ลูกระเบิดปรมาณู ยังไม่รู้จักใช้คำว่านิวเคลียร์) เราจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูกันไหม ถึงจะลงทุนสร้างราคาแพง แต่จะได้พลังงานมากพอ ทั้งราคาถูก และไม่มีควันพิษ

แต่ถึงปี ๒๕๒๒/1979 มีข่าวใหญ่สะเทือนโลกว่าเกิดอุบัติเหตุในอเมริกา ที่โรงไฟฟ้าปรมาณูบนเกาะ Three Mile Island แม้จะแก้ไขระงับเหตุได้เร็วไว มิได้ก่อภัยพิบัติจากกัมมันตภาพรังสีมากมายกว้างไกลออกไปอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Chernobyl ที่ยูเครน ในสหภาพโซเวียต ซึ่งระเบิด ในปี ๒๕๒๙/1986 แต่ในเมืองไทยก็ดูเหมือนจะเลิกพูดถึงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้แต่ในอเมริกาเอง ซึ่งเวลานั้นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า ๑๐๐ แห่งแล้ว ก็ชะงัก มิได้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก แม้แต่โรงที่สร้างเสร็จแล้ว รออยู่ เท่าที่ทราบ ก็ไม่ให้เปิดเดินเครื่องจนบัดนี้

เรื่องภัยกัมมันตภาพรังสีจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น ไม่เฉพาะจากอุบัติเหตุเท่านั้น แม้แต่ในยามใช้งานได้ดีเป็นปกติ ก็ติดปัญหาขยะหรือกากนิวเคลียร์ (nuclear waste) ซึ่งทิ้งที่ไหนไม่ได้ทั้งนั้น แต่จะเก็บรักษาไว้ที่ไหนให้มั่นคงปลอดภัยจริงโดยแน่ใจว่า จะไม่มีอะไรซึมเข้าข้างใน ไม่มีอะไรไชออกข้างนอก ไม่แตกไม่ร้าวเพราะการกระแทกกระเทือนเช่นจากแผ่นดินไหว จนกว่ามันจะเสื่อมหมดกัมมันตภาพรังสีไปเองในเวลาเกินกว่าพันปี

ตัวอย่างปัญหาก็เช่นที่อเมริกานั่นแหละ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสาะหาศึกษาแล้ว ถึงปี ๒๕๒๕/1982 ได้ตกลงว่าจะสร้างที่เก็บขยะนิวเคลียร์ ซึ่งมีปริมาณ 36,290 metric tons ไว้ที่ภูเขา Yucca Mountain ในทะเลทรายเนวาดา แล้วก็ยังศึกษากันต่อมาอีกจนถึงปี 1988 รัฐบาลจึงตกลงว่าเอาที่นั่น แต่ก็ถกเถียงทดลองกันต่อมาอีกจนถึงปี ๒๕๔๕/2002 ประธานาธิบดี George W. Bush จึงตกลงเอาจริงประกาศออกมาว่า ให้สร้างที่เก็บขยะนิวเคลียร์ไว้ที่ภูเขา Yucca Mountain (ใกล้เมือง Las Vegas) แต่ชาวรัฐเนวาดาพากันคัดค้าน

คราวนั้น ตำราใหญ่ (Encyclopædia Britannica) บันทึกไว้ว่า ผู้ว่าการรัฐเนวาดา (Nevada Gov. Kenny C. Guinn) ได้เป็น CEO ระดับรัฐคนแรก ที่ออกมา veto ยับยั้งคำวินิจฉัยของประธานาธิบดี เป็นอันคว่ำคำสั่งของประธานาธิบดีนั้นลงไป แต่รัฐสภาให้ถอนปฏิบัติการของรัฐเนวาดา และให้ฟื้นคำสั่งของประธานาธิบดีกลับขึ้นมา

แม้กระนั้น รัฐเนวาดาก็ไม่ยอมถอย แต่ได้เอาเรื่องขึ้นศาลสหรัฐ สู้ความกับ DOE คือกระทรวงพลังงานของอเมริกานั้นต่อไป (๗ ปีต่อมา ถึงปี 2009 รัฐบาลอเมริกาบอกว่าเลิกคิดเอาภูเขา Yucca เป็นที่เก็บขยะนิวเคลียร์แล้ว)

เรื่องนี้เล่าไว้ให้เห็นปัญหาใหญ่ของความเจริญก้าวหน้า ที่ติดตัน ถึงขั้นเป็นความขัดข้องของประเทศชาติ ทำให้คนในประเทศต้องทะเลาะกันใหญ่โต ไม่ยอมไปด้วยกัน

ไม่ต้องถึงขั้นขยะพิษอย่างกากนิวเคลียร์ที่ว่าไปนั้น เวลานี้ ขยะสามัญจากการเสพบริโภคของมนุษย์ ก็เป็นปัญหาติดตัน เรียกว่าขยะจะล้นโลก ยังไม่เห็นทางแก้ไขให้โล่งไปได้ และในปัญหาใหญ่นั้น ก็ยังมีปัญหาซ้อนย่อยลงไป อย่างขยะพลาสติกที่ไปถึงขั้นทำพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ก็แก้ปัญหาไม่ตก

ฝรั่ง (อเมริกัน) บอกว่า ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ขยะในบ้านเมืองของเขา ใช้วิธีกำจัดด้วยการเผา หรือถ้าอยู่ใกล้ชายฝั่ง ก็เอาใส่เรือไปทิ้งทะเล แต่ต่อมาเข้ายุคตื่นภัยสิ่งแวดล้อมเสื่อมเสียหาย สองวิธีนั้นผิดกฎหมายหมดแล้ว แต่ขยะมีแต่เพิ่มขึ้นๆ ไม่มีที่จะทิ้งจะกำจัดได้ ไม่ว่าบนดิน ในน้ำ หรือเอาไฟเผาไปกับลม จึงต้องใช้วิธีลับล่อหรือไม่ค่อยซื่อ เช่น เอาขยะใส่เรือใหญ่ออกทะเลตะลอนไปในมหาสมุทร ไปหาที่ทิ้งไกลๆ จากบ้านเมืองของตัว

ต่อมาก็ใช้วิธีเอาขยะเป็นสินค้าส่งออก ให้เป็นของนำเข้าแก่ประเทศ เช่นอย่างจีน และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถึงเวลานี้ ประเทศที่รับขยะเข้ามา เริ่มด้วยจีนนั้น ถึงจะได้เงินดีมีกำไร ก็ไม่ยอมสู้ปัญหามลพิษที่ร้ายแรงขึ้นๆ จึงบอกเลิก ไม่ยอมรับขยะนำเข้านี้อีกต่อไป ประเทศอื่นๆ ที่ตามจีน ก็คิดกันหนัก

นี่คือทางแก้ไขปัญหาขยะนั้น ตันไปหมด ไม่ใช่ตันแค่สองขั้วสองข้างเท่านั้น แต่ตันหมดทุกข้างทุกทาง

ตัวอย่างปัญหาใหญ่ๆ ที่ได้ยกมาพูดเหล่านี้ คนที่จะแก้ไขได้ ก็คือคนที่ไม่ประมาท และไม่เฉพาะปัญหาใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่ว่าปัญหาอะไร จะเป็นปัญหาชีวิต ปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาของโลก จะแก้ไขได้ โดยคนที่ไม่ประมาท

ความไม่ประมาท คือ อัปปมาทธรรม ในที่นี้ หมายถึงความไม่ประมาทที่จริงแท้ ไม่ใช่รอต้องให้ถูกทุกข์บีบคั้น ถูกภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อย่างที่พูดไปแล้ว

เริ่มแรกรู้จักว่า ความประมาท คือ ความขาดสติ ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ผัดเพี้ยน

ความไม่ประมาทที่แท้ คืออย่างไร?

ในความไม่ประมาทที่แท้นั้น

- มี สติ ใจอยู่กับตัวตั้งหลักได้ตื่นพร้อมทันต่อสถานการณ์

- มี ปัญญา รู้เข้าใจมองเห็นทางเห็นทุกอย่าง ที่จะทำ จะแก้ไข

- มี วิริยะ เพียรพยายามแก้ไขทำทุกอย่างให้ก้าวไปจนสำเร็จ

“สติ” แปลว่า ระลึก นึกได้ ไม่หลงลืม ไม่เผลอไผล ไม่ใจลอย ใจอยู่กับตัว ทำให้ตื่นตัวพร้อมตั้งรับตรวจจับทันต่อสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย เหมือนนายประตูที่มองดูตรวจจับคนดีร้ายที่ควรจะให้ผ่านเข้า-ออกหรือไม่ หรือเหมือนหัวหน้าป้อม หรือหอสังเกตการณ์ ซึ่งตรวจดูทั่วทันสถานการณ์ ที่จะบอกจะสั่งการเพื่อแก้ไขหรือทำการต่างๆ ให้ถูกให้ทันเรื่อง

ในชีวิตความเป็นอยู่ตามปกติ ที่มีการรับรู้ทางตาหู ดูเห็น ได้ยินได้ฟัง เป็นต้น จนถึงนึกคิดอะไรต่างๆ นั้น คนที่มีสติ เฉพาะอย่างยิ่งโดยมีประเด็นที่ตั้งไว้ เมื่อพบเห็นอะไรเด่นแปลก น่าสังเกต เช่นมีลักษณะหรืออาการดีหรือร้าย มีทีท่าที่จะก่อผลดีผลร้าย หรือเข้าประเด็นที่ตั้งไว้ ก็จะกระทบเหมือนถูกสติสะดุดเข้า แล้วสติก็เหมือนเป็นมือจับเอาเรื่องนั้นขึ้นมาให้ตาคือปัญญาพิจารณา

“ปัญญา” มองสิ่งนั้นเรื่องนั้นในกระแสของความเปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญขึ้น หรือในทางเสื่อมลง ตามกระบวนเหตุปัจจัย ก็รู้เข้าใจหยั่งเห็นผลในทางดีหรือร้ายที่จะเป็นไป และมองเห็นว่าจะแก้ไขหรือจะเสริมกำลังในกระบวนเหตุปัจจัยของมันอย่างไร ตลอดจนมองเห็นการทำเหตุปัจจัยใหม่ๆ ที่จะให้เกิดผลในกระแสของความเปลี่ยนแปลงนั้น ในทางที่ดีที่สุดหรือดียิ่งขึ้นไป

ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นอย่างไรแล้ว “วิริยะ” ความเพียรก็ลงแรงทำการขับเคลื่อนงานให้เดินหน้าไปอย่างจริงจังเข้มแข็งแกล้วกล้า พร้อมทั้งธรรมอื่นๆ เช่น ขันติ สมาธิ ที่จะถูกเรียกระดมเข้ามาร่วมเมื่อต้องใช้งาน ตามที่ปัญญาบอกทางนำหน้า โดยมีสติกำกับควบคุมไป จนเป็นผลสำเร็จ ให้ทันกาลและทันการณ์

ตามที่ว่ามานี้ จะเห็นว่า ความไม่ประมาทนี้ แปลยาก ยังไม่พบคำไทยที่จะใช้แทนความไม่ประมาทได้เต็มความหมาย อาจจะแปลให้ใกล้เคียงว่า ตระหนักทำการให้ทันการณ์ ทำการให้ทันการณ์โดยตระหนัก หรือรู้ทันทำการให้ทันการณ์

คำแปลที่พอใช้ได้ แม้จะไม่เต็มความหมาย ก็เช่น ความตื่นตัวเอาใจใส่ ใส่ใจระแวดระวัง กระตือรือร้นขวนขวาย เอาจริงเอาจัง

ที่จริง ความไม่ประมาทเป็นการทำการให้สำเร็จเสร็จพร้อมไว้ ทำให้ไม่เกิดปัญหา ป้องกันปัญหา ไม่ให้เกิดทุกข์ภัย ไม่ต้องรอให้เดือดร้อนแล้วจึงดิ้นรนต่อสู้ให้อยู่รอด อย่างความไม่ประมาทเทียมที่ว่าแล้ว จะเห็นได้ดังเช่นในคาถาต่อไปนี้ (ขุ.ชา.๒๗/๑๖๓๖/๓๒๘)

อนาคตํ ปฏิกยิราถ กิจฺจํ
มา มํ กิจฺจํ กิจฺจกาเล พฺยเธสิ

แปล: ทำกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ก่อน อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า

แต่ถ้ากันไม่ทัน ก็แก้ปัญหาได้ ขอให้มีไว้ประจำตัว อย่างที่ว่าแล้ว ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ต้องใช้ความไม่ประมาททั้งนั้น

อย่างเรื่องปัญหาขยะ เอาแค่ในชีวิตประจำวันของบุคคล ในแต่ละวันๆ นั้น ถ้าคนไหนไม่ประมาท ก็แทบไม่มีขยะที่จะเกิดจากคนนั้นเลย ถ้าแต่ละชุมชน กระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง ไม่ประมาท ปัญหาขยะของประเทศชาติ ถ้าไม่หมด ก็จะเบาลงมาก

ชาวบ้านถิ่นหนึ่ง มองเห็นว่าหมู่บ้านของตัวอยู่ในเขตแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำทุกปี นึกขึ้นมาถึงคาถาทำบุญของพระพุทธเจ้าว่า อารามโรปา วนโรปา...ปปญฺจ อุทปานฺจ... เกิดแรงใจขึ้นมาว่าเราจะขุดบ่อน้ำสระน้ำ ให้ชุมชนมีแหล่งน้ำของกลางขึ้นมาให้ได้ ถ้ามีคนอย่างนายมฆะ แค่คนเดียวเท่านั้น ก็เริ่มได้เลย แล้วก็จะมีคนดีมาร่วมสมานฉันท์จนได้ (ถ้าไม่มีที่ดิน จะเอาอย่างโบราณ ก็ทำบ่อกลาง สระกลาง ไว้ในวัด) ขอให้มีความไม่ประมาทที่จะลงมือเถิด ในโลกนี้ยากจะมีอะไรที่เกินกำลังสติปัญญาและความเพียรของมนุษย์ ขอให้มั่นใจเด็ดเดี่ยวในพระคาถาว่า

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา

แปล: เป็นคน ควรพยายามเรื่อยไป จนกว่าประโยชน์ที่มุ่งหมายจะสำเร็จ

(สํ.ส.๑๕/๘๙๑/๓๓๐)

ประโยชน์ที่มุ่งหมาย ไม่ว่าขั้นทิฏฐธัมม์ หรือสัมปราย์ ตลอดถึงปรมัตถ์ จะสำเร็จได้ คนต้องมีความไม่ประมาททั้งนั้น

เน้นย้ำด้วยคำตรัสที่เป็นปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าว่า

อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ

“จงทำการให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท”

เรื่องความไม่ประมาทนี้ รวมไปถึงการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมเพื่ออนาคตด้วย

เมื่อรู้เข้าใจทำได้ตามหลักธรรมที่บอกไว้ข้างต้น ถ้าให้เลือกระหว่างคนรุ่นใหม่ ที่เก่งกว่า กับที่ดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ จะเอาอย่างไหน ก็จะบอกว่า ขอเอาคนรุ่นใหม่ ที่ดีกว่า

ถ้าคนรุ่นใหม่นั้น ดีในธรรม ตั้งแต่มีความไม่ประมาทนี้ไป เราก็จะได้คนรุ่นใหม่นั้น ที่ทั้งดีกว่า และเก่งกว่าคนรุ่นก่อน เพราะความไม่ประมาทจะพาเอาความเก่งกว่าพ่วงมาด้วยอย่างแน่นอน อย่างในคาถาที่ว่า (ขุ.ธ.๒๕/๑๒/๑๘)

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส ฯ

แปลว่า: คนมีปัญญาชาญฉลาด เมื่อคนทั้งหลายมัวประมาทกันอยู่ ก็ไม่ประมาท เมื่อคนทั้งหลายมัวหลับใหล ก็ตื่นไว้มาก เขาจะทิ้งห่างคนเหล่านั้นไป เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งห่างม้าที่อ่อนแอไป ฉะนั้น

คนผู้ใด หมู่ชนไหน นึกขึ้นได้ว่า เรานี้มีชีวิตที่เฉื่อยชา อยู่มาแบบเรื่อยเฉื่อย ปล่อยตัวไหลเพลินไปกับเรื่องวูบวาบฉาบฉวย เวลาผ่านไปๆ ไม่ได้สาระ เลิกเสียที คราวนี้จะหันมาใส่ใจในเรื่องที่ใช้สติปัญญา มีชีวิตอยู่กับการเพียรพยายามทำการอะไรๆ ให้มีผลดีจริงจัง ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะเข้าทางที่ท่านยกย่องว่า

ผู้ใด ก่อนนั้นมัวประมาท แล้วภายหลัง (กลับตัวได้) ไม่ประมาท เขาจะทำโลกนี้ให้สดใสแจ่มจ้า เหมือนจันทร์เพ็ญพ้นออกมาจากเมฆหมอก

(ธรรมบทคาถาที่ ๑๗๒)

เมื่อผู้ใฝ่ศึกษา มีความไม่ประมาท สามารถนำคนจำนวนมากให้ปฏิบัติตามหลักธรรมทั้งหลาย ที่ได้ยกมาให้รู้จักข้างต้นแล้วนั้นได้ดี ก็จะพัฒนาอารยธรรมปัจจุบันนี้ให้เจริญงอกงามขึ้นไปเป็นอารยธรรมที่ปลอดพ้นการเบียดเบียน ซึ่งจะพาให้คนได้มีโลกที่อยู่อาศัยเป็น อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ คือโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน ซึ่งเป็นอุดมคติอย่างหนึ่งของพุทธธรรม

ระบบการปฏิบัติธรรมทั้งหมด ได้พูดให้เห็นโครงรูปเป็นเค้าไว้แล้ว เข้าใจว่าคงเพียงพอที่จะช่วยให้คิดถึงแนวงานอันจะพึงทำ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง