ผู้ที่ได้เล่าเรียนฟังธรรมมาบ้าง พอคุ้นกับศัพท์แสงถ้อยคำ ย่อมได้ยินได้รู้จักคำว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ก็ใช้) ว่าเป็นหลักสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำอยู่เสมอ
หลักนี้บอกว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องได้ผลจริง ต้องเป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ แล้วธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือปฏิบัติอย่างไร โดยทั่วไปแปลกันมาตามสำนวนเก่าว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น คืออย่างไร?
ถ้าจะให้เข้าใจ ก็ค่อยๆ แปลยักเยื้องออกไป เช่นว่า ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่, ปฏิบัติธรรมข้อย่อยสอดคล้องกับธรรมข้อใหญ่, ปฏิบัติธรรมข้อย่อยคล้องจองรับกันกับธรรมหลักใหญ่, ปฏิบัติธรรมข้อย่อยสอดสมกลมกลืนเข้ากันกับธรรมหลักใหญ่ อย่างนี้คงพอเห็นเค้า พอจะอธิบายต่อไปให้เข้าใจ
ในที่นี้ ก็แยกคำออกมาได้เป็น ธรรม คือธรรมข้อใหญ่ หรือธรรมที่เป็นหลักใหญ่ กับ อนุธรรม คือธรรมน้อย หรือธรรมข้อย่อย ลงท้ายว่าปฏิบัติ รวมกันมีความหมายว่า ปฏิบัติธรรมข้อย่อยๆ ทั้งหลายให้เป็นทางที่จะนำพาเข้าถึงหรือให้เกิดธรรมใหญ่
ธรรม = ธรรมข้อใหญ่ หรือธรรมที่เป็นหลักใหญ่ หมายถึง โลกุตรธรรม (มรรค-ผล-นิพพาน)
อนุธรรม = ธรรมน้อย หรือธรรมข้อย่อย หมายถึง บุพภาคปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเบื้องต้น)
พูดง่ายๆ ว่า ที่จะปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่จู่ๆ จะปฏิบัติธรรมใหญ่คือโลกุตรธรรมขึ้นมาทันที แต่ต้องปฏิบัติธรรมเล็กๆ น้อยๆ ข้อย่อยๆ ทั้งหลาย ที่เรียกรวมกันว่า บุพภาคปฏิปทา คือข้อปฏิบัติเบื้องต้น หรือข้อปฏิบัติต้นทาง ให้ได้ผลเป็นจริงขึ้นมาก่อนตามลำดับ ซึ่งจะนำหน้าพาไปให้ถึงธรรมข้อใหญ่คือโลกุตรธรรมได้ตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมันเอง
ทีนี้ก็ถามว่า อนุธรรม หรือ บุพภาคปฏิปทา นั้น คือธรรมข้อย่อยอะไรบ้าง? คราวนี้ต้องว่ากันยาว แต่บอกเป็นหลักไว้ก่อนว่า ได้แก่ จรณะ ๑๕ เดี๋ยวจะพูดเล็กน้อย
บุพภาคปฏิปทา นั้น ใช้ในความหมาย ๒ ระดับ ที่พูดข้างบนนั้นเป็นความหมายทั่วไป ซึ่งกว้างที่สุด คือหมายถึงข้อปฏิบัติต้นทางของการปฏิบัติหมดทั้งระบบจบทั้งกระบวน
แต่อีกอย่างหนึ่งคือใช้ในความหมายจำเพาะ โดยยกธรรมที่เป็นผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาตั้งแล้วบอกว่า ธรรมต่อไปนี้ เป็นบุพภาคปฏิปทาของธรรมนั้นๆ
ดังตัวอย่าง ยก “อริยผล” ขึ้นมาตั้ง ถามว่าอะไรเป็น บุพภาคปฏิปทาของอริยผล ก็ตอบง่ายหน่อยว่า อริยมรรคเป็นบุพภาคปฏิปทาของอริยผล
ที่ยากขึ้นหน่อยแต่น่ารู้ ถามว่าอะไรเป็นบุพภาคปฏิปทาของ “ฌาน” (ฌานเองเป็นส่วนหนึ่งของบุพภาคปฏิปทาในระบบใหญ่ที่นำสู่โลกุตรธรรมอยู่แล้ว)
ตอบง่ายๆ ก็ว่า บุพภาคปฏิปทา ของ “ฌาน” = ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข และสมาธิ
หรือตอบว่า บุพภาคปฏิปทา ของ “ฌาน” = ละนิวรณ์ ๕ ก็ได้ความเท่ากัน
ทีนี้ ย้อนไปพูดถึงระบบใหญ่ที่ครอบคลุมหมดทั้งโลกุตรธรรมด้วย ที่ว่า บุพภาคปฏิปทา ได้แก่ จรณะ (ธรรมเครื่องดำเนินไปถึงวิชชา) ๑๕ นั้น1 ในที่นี้ไม่ต้องการให้ยืดยาว แต่จะพูดย้ำไว้ ๓ ข้อ (ข้อ ๒-๓-๔)
[ข้อ ๑ คือ สีลสังวร ความสำรวมในศีล พูดง่ายๆ ว่ามีความประพฤติดี ไม่เสียหาย เป็นผู้สุจริต ข้อนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานตามปกติ ขอผ่านไป]
๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายความว่า รู้จักใช้อินทรีย์ ปกครองอินทรีย์ได้ ใช้อินทรีย์เป็น ใช้ตาหูเป็นต้น รับรู้ ดูฟัง โดยไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เป็นผู้กระทำ ได้เรียนรู้ รู้ทันโทษ มองเห็นประโยชน์
คนที่ใช้อินทรีย์ไม่เป็น ปกครองอินทรีย์ไม่ได้นั้น เห็นอะไรไม่ถูกหู ไม่ถูกตา รู้สึกไม่ชอบใจ ก็ว่ามันไม่ดี แล้วก็โกรธ คิดขัดเคือง ไม่สบายเดือดร้อนใจตัวเอง เห็นอะไรถูกหูถูกตา ชอบใจ ก็ว่ามันดี อยากได้อยากเอา ใจวุ่นวนอยู่นั่น อย่างนี้เรียกว่า ถูกอารมณ์ ถูกสิ่งที่รับรู้นั้นมันทำเอา ถูกมันครอบงำ ถูกมันปั่นมันจูงมันชักพาลากไป
ส่วนคนที่ปกครองอินทรีย์ได้ ใช้อินทรีย์เป็นนั้น เขาใช้ตาหูเป็นต้น รับรู้ ดู ฟัง ด้วยใจเป็นกลางไม่เสียดุล ไม่ถูกความรู้สึกดีร้ายชอบชังทำให้เอนเอียงไป ไม่ถูกมันปั่นมันจูงให้เป็นไปต่างๆ ไม่อยู่แค่ว่า อะไรถูกหูถูกตา ก็ว่าดี อะไรไม่ถูกหูไม่ถูกตา ก็ว่าไม่ดี แต่มีสติตั้งหลักได้ และใช้ปัญญารู้เข้าใจ ได้เรียนรู้สิ่งนั้นว่าดีร้ายเป็นคุณเป็นโทษอย่างไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร และเก็บความรู้นั้นไว้ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เป็นการรับรู้เรียนรู้ที่เป็นด่านหน้าของการศึกษา
๓. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค บริโภคด้วยปัญญา กินเสพพอดีที่จะได้ประโยชน์สมคุณค่าที่แท้ของมัน หลักนี้สำคัญอย่างไรไม่ต้องบรรยาย ตั้งแต่จำเป็นสำหรับสุขภาพร่างกายเป็นต้นไป ว่าตามยุคสมัยก็คือแก้ปัญหาบริโภคนิยม ถือกันมาเป็นหลักเบื้องต้นของการศึกษา อย่างที่ให้พระเณรพิจารณาเข้าใจเหตุผลคุณโทษ แล้วบริโภคให้ได้ประโยชน์
หลายวัด ก่อนจะฉัน ให้พระเณรสวดบทพิจารณาอาหาร เหมือนเป็นการเตือนสติ พร้อมกัน เรียกว่าบท “ปฏิสังขา-โย” ขอยกคำแปลมาให้ดูดังนี้
ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย (คือพิจารณาโดยใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว คำนึงถึงเหตุผลแล้ว) จึงฉันอาหารบิณฑบาต (โดยรู้ตระหนักว่า ที่ฉันนี้)
- มิใช่เพื่อจะเอาสนุกสนาน มิใช่เพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อยหลงมัวเมา มิใช่เพื่อเอาสวยเอางาม มิใช่เพื่อแต่งเนื้อหนังมังสาอวดโอ้โชว์ร่าง
- แต่ฉัน เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ให้ชีวิตดำเนินไป
- เพื่อระงับความหิว หรือการขาดอาหาร อันเป็นภาวะบีบคั้นเบียดเบียนร่างกาย
- เพื่ออนุเคราะห์พรหมจริยะ (เพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามอันประเสริฐ เพื่อมีกำลังเล่าเรียนศึกษา เกื้อหนุนการฝึกฝนพัฒนาชีวิต)
โดยการ (รับประทานด้วยพิจารณา) อย่างนี้ เราจะระงับเวทนาเก่า (แก้ความทุกข์ร้อนกระวนกระวายเนื่องจากความหิวได้) กับทั้งจะไม่ให้เกิดเวทนาใหม่ (เช่น ไม่อึดอัด ท้องเสีย เป็นต้น เนื่องจากรับประทานมากเกินไป หรือกินของไม่ดีมีพิษ)
- และเราก็จะมีชีวิตดำเนินไปได้ เราจะสามารถยาตราชีวิตไป
- พร้อมทั้งจะเป็นการบริโภคที่ไม่มีโทษ บริสุทธิ์ ปราศจากข้อเสียหาย
- แล้วก็จะเป็นอยู่ผาสุกด้วย
๔. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรในการทำกิจของผู้ตื่น ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ใช้เวลาให้มากพอในการทำกิจหน้าที่ของตนอย่างมีสติ เช่น เป็นพระภิกษุ ก็ตื่นให้มากพอ และในเวลาส่วนมาก ก็มานั่ง มาจงกรม ปฏิบัติในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากนิวรณ์
ธรรม ๓ ข้อ คือ การรู้จักใช้อินทรีย์ ตา หู ฯลฯ ดูฟังเป็น (อินทรียสังวร) ความรู้จักพอดีในการกินเสพ (โภชเนมัตตัญญุตา) และการเพียรทำกิจของผู้ตื่น (ชาคริยานุโยค) ดังว่านี้ เป็นธรรมชุดหนึ่งของมันเอง เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา แปลว่า การดำเนินชีวิตที่ไม่ผิดพลาด หรือการปฏิบัติที่ถูกทางแน่แท้ ควรฝึกกันตั้งแต่เด็ก
นี่เป็นตัวอย่างของธรรม ที่เป็นอนุธรรมอยู่ในบุพภาคปฏิปทา ใครจะเป็นนักปฏิบัติ ควรทำให้ได้ ธรรมจำพวกนี้ บางอย่างก็จำเป็น บางอย่างก็ไม่ถึงกับจำเป็น แต่สมัครใจทำเป็นการปฏิบัติเสริมได้ เช่นอย่างธุดงค์