ทันโลก ถึงธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป
พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว

การปฏิบัติธรรมทั้งหมด ได้แสดงหลักทั่วไป พูดไว้โดยรวบรัด จัดว่าครบทั้งระบบ จบทั้งกระบวน พอสมควรให้พร้อมที่จะปฏิบัติแล้ว เรื่องจบได้แค่นี้ แต่มีปมที่มักทำให้ชักช้าติดขัดอย่างสำคัญอันต้องให้เตือนไว้ คือข้อปฏิบัติมีพร้อมแล้ว แต่คนที่จะปฏิบัติไม่เริ่ม กลายเป็นว่าทางมีอยู่แล้ว แต่ต้องรอคนที่จะเดิน นี่คือปัญหามาอยู่ที่ตัวคนผู้ปฏิบัติ ที่จะทำการปฏิบัติให้เกิดขึ้น

คนเรานี้ ที่อยู่สบายๆ ถ้ามีอะไรควรจะทำ ก็มักเรื่อยเฉื่อย หรือผัดเพี้ยน บางทีก็ถึงกับปล่อยปละละเลย อาการอย่างนี้ เรียกว่า ความประมาท จึงมักต้องรอให้เกิดความจำเป็นเร่งรัด เช่นถูกบังคับ หรือเกิดมีภัย จึงจะขมีขมันกระตือรือร้นขึ้นมา เข้าทำนองที่ว่า พวกมนุษย์ปุถุชนนี้ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้น มีภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พากันก้าวไปได้ แต่พอพ้นภัยสุขสบาย ก็หลงละเลิงเฉื่อยชา แล้วก็พากันติดเพลินจมปลัก

เรื่องของมนุษย์ ที่จะต้องมีความไม่ประมาทอยู่กับตัวนี้ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเน้นเป็นประจำ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับตรัสเป็นปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสสุดท้ายก่อนพุทธปรินิพพานว่า “จงทำการให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท” (... อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ, ที.ม.๑๐/๑๔๓/๑๘๐)

ความไม่ประมาท มีความสำคัญครอบคลุมธรรมทุกอย่างทั่วทั้งหมด อย่างที่เรียกกันมาว่าเหมือนรอยเท้าช้าง

นี้คือ ว่าตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

ดูกรมหาบพิตร ความไม่ประมาท เป็นธรรมเอกที่ยึดเอาไว้ได้ซึ่งประโยชน์ที่มุ่งหมายทั้งสองอย่าง ทั้งประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ และประโยชน์ขั้นสัมปราย์ เหมือนดังว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดิน ไม่ว่าชนิดใดๆ ทั้งหมด รวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ฉะนั้น(สํ.ส.๑๕/๓๗๙/๑๒๖)

พูดกันง่ายๆ ว่า ธรรมทุกอย่าง ที่จะรู้เข้าใจ จะใช้ จะปฏิบัติ รวมทั้งหลักทั้งหลายที่ได้ยกมาอธิบายข้างต้น ถ้าคนประมาทเสียอย่างเดียว ก็มีไว้เปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนนอนหลับอยู่ในตู้เก็บคัมภีร์ ส่วนตัวคนที่ประมาท ก็อยู่ในทางแห่งความตาย ในทางของความเสื่อมสลายหายนะของตัวเขาเอง

คนที่จะมีความไม่ประมาทได้จริงแท้นั้น หาได้ยากอย่างยิ่ง มนุษย์ทั่วๆ ไปก็เป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ เมื่อไม่มีทุกข์ภัยอยู่สบาย ก็เพลิดเพลินเฉื่อยชา มั่วสุมเฮฮากันไป ต้องให้ถูกความจำเป็นบังคับ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้น มีภัยคุกคาม ถ้าไม่มัวเกี่ยงแย่งวิวาทวุ่นวายกันเอง ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายสู้ภัย พาให้เข้มแข็งก้าวหน้าไปได้ เป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นความไม่ประมาทเทียม คือมิใช่เป็นความไม่ประมาทที่เกิดจากสติปัญญาบอกให้ แต่เป็นการดิ้นรนหนีภัยและต่อสู้ตามคำสั่งบังคับของสัญชาตญาณ โดยมีปัญญาเป็นตัวตามช่วยสนองให้สำเร็จผล

อารยธรรมที่รุ่งเรืองก้าวหน้าอยู่ในเวลานี้ ก็เจริญขึ้นมาด้วยการดิ้นรนต่อสู้ อย่างที่คนสมัยนี้ชอบพูดถึงความสำเร็จทางสังคม เช่นป่าวประกาศด้วยความภูมิใจว่า freedom - เสรีภาพนี้ เขาได้มาด้วย struggle คือการดิ้นรนต่อสู้

ประวัติอารยธรรมเต็มเกลื่อนไปด้วยคำว่า war–สงคราม conquest-การพิชิต conflict-ความขัดแย้ง struggle-การดิ้นรนต่อสู้ competition-การแก่งแย่งแข่งขัน พูดรวมๆ ก็คือการดิ้นรนต่อสู้ อย่างที่นักประวัติศาสตร์พูดสรุปกันไว้ เช่น นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของฝรั่งเศส ชื่อ Jules Michelet บอกว่า “…ประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของการดิ้นรนต่อสู้ที่ไม่รู้จักจบสิ้นนี้1

นักเขียนอเมริกันท่านหนึ่งกล่าววาทะไว้แรงหน่อยว่า “อารยธรรมก็คือหนังแกะ ที่ความป่าเถื่อนเป็นอนารยะแฝงตัวซ่อนอยู่2

ตามที่ว่ามานี้ เห็นได้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์ของอารยธรรมปัจจุบัน ที่ยาวนานนักหนานี้ มนุษย์ก็ยังพัฒนาไปได้ไม่ถึงไหน เขาเจริญมาได้ด้วยแรงขับของสัญชาตญาณเป็นตัวนำ อย่างที่ว่า เพราะถูกทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ทำให้เจริญก้าวหน้ามาได้ แต่ถ้าไม่ต้องผจญทุกข์ภัยอยู่สบาย คนก็มักง่ายเฉื่อยชาหาแต่ความเพลิดเพลินไปวันๆ ถ้าไม่จมลงไปในความเสื่อม ก็ไม่ก้าวไปไหน

อย่างในอเมริกา เมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งพรั่งพร้อมขึ้นมาแล้ว เห็นว่าคนชักจะเฉื่อยชาอ่อนแรงลงไป ก็เน้นย้ำกันให้ขับดันระบบแข่งขันของสังคมให้เครียดเขม็งไว้ คนจะได้โถมกำลังที่จะเอาชนะกัน และจะได้ขับดันความเจริญให้ก้าวต่อไป

เมื่อไม่มัวนิ่งเฉยเฉื่อยชา แต่ดิ้นรนต่อสู้มุ่งหน้าเอาชนะ ก็ต้องหาความรู้ ต้องฝึกต้องศึกษาหาทางทำการให้สำเร็จ ทำให้เจริญก้าวหน้าไม่หยุด แต่เป็นความเจริญที่ไม่เกื้อกูลให้พอแก่สมดุล

ดูอย่างเหล่าชนอเมริกันที่สร้างชาติขึ้นมา นับแต่พวก Pilgrim Fathers ขึ้นฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในปี 1620/๒๑๖๓ แล้วเข้าสู่ยุค Frontier บุกฝ่าขยายดินแดนมุ่งหน้าไปตะวันตก โดยมีชีวิตที่อยู่ในความประมาทไม่ได้เลย เต็มไปด้วยสงคราม การรบราฆ่าฟัน การแย่งชิงดินแดน การเสี่ยงชีพผจญภัย และการทนสู้เป็นอยู่อย่างยากแค้นลำเค็ญ เป็นเวลายาวนาน ๓๐๐ ปี ชนะฝรั่งเศส ชนะสเปน เปลื้องตัวเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จนพิชิตอินเดียนแดงเสร็จสิ้น ได้แผ่นดินสุดระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์ จดฝั่งแปซิฟิก จบยุคในปี 1890/๒๔๓๓

ในการดิ้นรนต่อสู้สู่ความสำเร็จได้ความยิ่งใหญ่นี้ นอกจากความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุแล้ว ชนชาวอเมริกันก็ได้พัฒนาชีวิตจิตใจของตนเอง อย่างที่นักประวัติศาสตร์บอกว่า ชีวิตแห่งการดิ้นรนผจญบุกฝ่าต่อสู้มายาวนาน ๓๐๐ ปี บนแผ่นดินที่อุดมด้วยโอกาสแห่งอเมริกานี้ ได้ทำให้คนชาตินี้ มีนิสัยกร้าน แต่หูตาไวใฝ่สอดรู้ เป็นคนช่างคิดประดิษฐ์ข้าวของ มีความกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง ขาดความละเมียดละไม แต่มีพลังที่จะทำการใหญ่ให้สำเร็จ ใฝ่เสรี ตัวใครตัวมัน ชอบประชาธิปไตย ใฝ่ทางวัตถุนิยม

แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์อีกพวกหนึ่งมองในทางค่อนข้างตรงข้ามว่า ชนอเมริกันที่สร้างชาติมานี้ มีความกล้าหาญ และความสำเร็จ ที่มาด้วยกันกับการกดขี่ข่มเหงรังแก ความละโมบ และการทำลายธรรมชาติ

เอาละ จะดีจะร้ายอย่างไร ก็รวมความได้ว่า อารยธรรมปัจจุบันนี้ เจริญก้าวหน้ามาด้วยการดิ้นรนต่อสู้รุกรานทำลายทั้งมนุษย์ด้วยกันและธรรมชาติ อย่างที่ว่าแล้ว ใจมนุษย์นั้นมุ่งที่จะกำราบ ปราบ เอาชัยชนะ ขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ ได้เป็นผู้พิชิต มีอำนาจบังคับ เข้าครอบครอง แย่งชิงทรัพยากร เอาเปรียบกันทั้งอย่างชัดๆ และอย่างไม่ให้รู้ตัว มิใช่คิดจะแก้ไขทุกข์ภัย ที่จะทำอะไรให้ดีขึ้นจริงจัง นี่คือมิใช่เป็นเรื่องของความไม่ประมาทที่แท้ แต่เป็นเรื่องของแรงขับดันของสัญชาตญาณพาไป ให้ใช้สติปัญญาเพียงเป็นตัวตามสนอง อารยธรรมที่เป็นมาอย่างนี้ จึงได้เจริญอย่างแฝงเชื้อไฟ และอมปัญหา ทั้งปัญหาชีวิต ปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างที่ได้ว่าแล้ว เรียกว่าเป็นอารยธรรมที่ไม่ปลอดพ้นการเบียดเบียน

1ดูข้อความเต็มว่า: “With the world a war began, which will end with the world, and not before: that of man against nature, of the spiritual against the material, of freedom against fate. History is nothing more than the account of this unending struggle.” Jules Michelet (1798–1874), French historian. L'histoire universelle. Encarta® Book of Quotations © & (P) 1999.
2Civilization is the lamb’s skin in which barbarism masquerades.” Thomas Bailey Aldrich (T.B.) (1836-1907), U.S. writer, editor. Ponkapog Papers, “Leaves from a Notebook” (1903). The Columbia Dictionary of Quotations. © 1993 by Columbia University Press.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง