ในหลักการของการพัฒนา แม้ว่าปัญญาจะเป็นสิ่งที่ต้องการที่แท้ เพราะเป็นตัวนำชีวิตสู่อิสรภาพ แต่ปัญญาก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของชีวิต หมายความว่าเราต้องมองชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นระบบแห่งองค์รวมของส่วนประกอบมากมาย ส่วนประกอบเหล่านี้ มีความสัมพันธ์เกื้อหนุนอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เช่นที่ทางพระแยกชีวิตเป็นองค์ประกอบที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชีวิตเป็นองค์รวมของระบบความสัมพันธ์แห่งองค์ประกอบเหล่านี้
พร้อมกันนั้นในเชิงปฏิบัติในแง่ของการดำเนินชีวิตก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของคนแยกออกเป็นด้านต่างๆ ของความเป็นอยู่หรือประกอบด้วยความเป็นอยู่ด้านต่างๆ รวม ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจา ที่ติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีด้านจิตใจ และด้านปัญญา สามด้านหรือสามส่วนนี้มีความสัมพันธ์และอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
ในการที่จะพัฒนาปัญญานั้น เราจะพัฒนาปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปัญญาเป็นด้านหนึ่งในระบบองค์รวมของชีวิตที่มีส่วนประกอบสามด้านอิงอาศัยสัมพันธ์กันอยู่
พระพุทธศาสนาไม่มองจริยธรรมแยกส่วนออกไปว่าเป็นความประพฤติอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนในวัฒนธรรมตะวันตก แต่มองว่า จริยธรรมคือการดำเนินชีวิตของคน หรือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งสามด้านมาเกื้อหนุนกัน คือ ด้านพฤติกรรมที่เรียกว่า ศีล ด้านจิตใจ ซึ่งมักเรียกชื่อตามองค์ประกอบที่เป็นแกนกลางในการฝึกว่า สมาธิ และด้านปัญญา คือความรู้ สามด้านนี้สัมพันธ์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะพัฒนาปัญญาก็ต้องให้ ศีล สมาธิ พัฒนาไปด้วย เป็นระบบแห่งศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการศึกษาหรือสิกขา ๓ ด้าน จึงเรียกว่าไตรสิกขา (จะเรียกว่า ตรีศึกษา หรือไตรศึกษา ก็ได้)
จะเห็นได้ง่าย เช่น พฤติกรรมจะเป็นไปด้วยดี ตอนแรกอาศัยความเคยชิน พอให้มีพฤติกรรมเคยชินอย่างไร คนก็ดำเนินชีวิตไปด้วยพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมเคยชินที่ดีมักเกิดจากการหล่อหลอมทางสังคม เช่นการเลี้ยงดูและวัฒนธรรมเป็นต้น วัฒนธรรมทำให้มีพฤติกรรมเคยชินที่ต้องการได้ง่าย แต่พฤติกรรมที่ดีจะมีความมั่นคง เมื่อมีสภาพจิตที่ดี เช่นคุณธรรมรองรับหรือหนุนอยู่ เช่น ถ้าในใจคน มีเมตตา คือมีความรักความปรารถนาดี อยากให้คนอื่นเป็นสุข พฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็เป็นไปได้ง่าย เพราะมันทำให้มีความเต็มใจที่จะทำ และมีความสุขใจ
ถ้าทางด้านจิตใจ คนมีความพอใจในพฤติกรรมนั้น และมีความสุขที่จะปฏิบัติและแสดงออกในพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นจะมีความมั่นคง แต่ถ้าเราจะให้คนมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่มีสภาพด้านจิตใจที่ประสานสอดคล้องกัน เช่น สอนเด็กให้ประพฤติดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จิตใจเด็กไม่มีความสุขในการดำเนินพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็ไว้ใจได้ยาก จึงต้องให้คุณธรรมและความสุขมาหนุนด้วย พฤติกรรมดีจึงจะจริงจังมั่นคง
ยิ่งถ้ามีปัญญา รู้เหตุผลและคุณค่าว่าทำไมเราจึงควรจะมีพฤติกรรมอย่างนี้ด้วย ก็ยิ่งเต็มใจ และทำพฤติกรรมนั้นด้วยความสุข อย่างนี้เรียกว่าเป็นการประสานขององค์ประกอบทั้งสามด้าน ซึ่งจะทำให้ระบบการดำเนินชีวิตดีงามเป็นไปได้ การพัฒนามนุษย์จึงต้องพัฒนาทั้งระบบขององค์ประกอบที่อาศัยซึ่งกันและกัน
ในทางตรงข้าม พฤติกรรมที่ไม่ดี มีความขัดแย้ง มีความรุนแรง ก็ทำให้จิตใจกระสับกระส่าย เร่าร้อนขุ่นมัว เมื่อสภาพจิตก็ไม่ดี การใช้ปัญญาก็ไม่ชัดเจน ทำให้คิดถึงผลประโยชน์ และผลเสียหายไม่รอบคอบ ทำให้มองแง่เดียว ด้านเดียว เช่น จะต้องเอาชนะแง่เดียว ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นพฤติกรรมไม่ดีก็ไม่เอื้อที่จะให้เกิดปัญญา แต่ถ้ามีพฤติกรรมที่ดี คนจะเกิดความมั่นใจในพฤติกรรมนั้น จิตก็จะเกิดความสงบ ทำให้การใช้ปัญญาได้ผลดี มีความคิดรอบคอบเป็นต้น
ในการพัฒนาปัญญา ก็ต้องมีพฤติกรรมที่เอื้อ เช่น การไปหาและรวบรวมข้อมูล การใช้ตา หู ในการสำรวจ และสังเกต การรู้จักติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น การแสดงกิริยาอาการในการติดต่อ การใช้วาจาซักถาม ปรึกษาสนทนา เป็นต้น และต้องมีสภาพจิตที่เกื้อหนุน เช่น มีความใฝ่รู้ สู้ปัญหา ขยันอดทนในการคิดค้น รู้จักระลึกและทบทวน มีจิตใจแน่วแน่เป็นสมาธิ จึงจะพัฒนาปัญญาได้ดี ถ้าใจไม่สู้ปัญหา ขี้เกียจคิด ใจเร่าร้อนขุ่นมัวหรือกระวนกระวาย มีแต่เรื่องรบกวนจิตใจ ใจจับจดฟุ้งซ่าน ก็พัฒนาปัญญาได้ยาก
นี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงว่า การพัฒนามนุษย์จะต้องเป็นไปอย่างประสานกันทั้งสามด้าน คือ พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา เป็นอันว่า ถ้าจะพูดเรื่องการสร้างสรรค์ปัญญา จะต้องพูดให้ครบทั้งสามด้าน และให้สามด้านมาเกื้อกูลกัน ดังที่ทางพระเรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา