การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มนุษย์: เพื่อเป็นทรัพยากรที่ดี
หรือเพื่อมีชีวิตที่สมบูรณ์

ต่อไปก็เป็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือเวลานี้ เราพูดกันมากว่าคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ และเราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่บางทีเราอาจจะเพลินลืมไปว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ มีอายุไม่นานเท่าไร และเกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดในการพัฒนาแบบที่เรากำลังติเตียนกันอยู่ว่าผิดพลาด มีโทษร้ายและจะต้องละเลิก

เรื่องมีว่า เมื่อไม่นานนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) มีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนหนึ่งชื่อ Gary Becker ได้แต่งหนังสือ ชื่อ Human Capital แสดงความคิดว่า มนุษย์ก็เป็นทุนอย่างหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ แล้วในระยะใกล้ๆ นั้นเอง คือในช่วงปี ๑๙๖๕-๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓) ก็มีการใช้ศัพท์ว่า human resources ที่แปลว่าทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแสดงความหมายว่าเรามองมนุษย์เป็นเครื่องมือ หรือเป็นทุนที่จะใช้สนองวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือเพื่อพัฒนาสังคม

แต่ความจริงมนุษย์คงไม่ใช่มีความหมายเพียงเท่านั้น เราควรจะมองมนุษย์ในฐานะที่เป็นคนเพื่อตัวของเขาเองด้วย ซึ่งเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมายในตัวของเขาเอง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกความหมายที่เป็นทรัพยากรไปเสียเลย เพียงแต่ไม่ให้เราจบแค่นั้น คือจะต้องให้มีความหมายทั้งสองอย่าง ทั้งในแง่ที่มนุษย์เป็นทรัพยากร และในแง่ของความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามีความหมายในตัวเอง และความหมายในแง่หลังนี้ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการศึกษาจะต้องพัฒนาคนโดยมีจุดหมาย ให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่าในตัวของเขาเอง ให้เป็นชีวิตที่ดีงาม และสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้คำว่าเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง