การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญญา พัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข
และชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

เรื่องต่อไปคือปัญญากับชีวิตที่มีประสิทธิภาพและความสุข

ตามที่บอกแล้วว่า ปัญญาเป็นหัวใจของการพัฒนาคน ปัญญามีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบด้านอื่นของชีวิต ทั้งพฤติกรรมและสภาพจิตใจ ดังได้พูดไปบ้างแล้ว

ในด้านสภาพจิต สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือความสุข เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป เขาก็มีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น คนที่ยังไม่พัฒนา มีความสุขจากด้านเดียว จากการได้เสพวัตถุ เมื่อเขาอยู่ไปความสุขก็ขึ้นต่อวัตถุมากขึ้นทุกที จนกระทั่งสูญเสียอิสรภาพไปโดยไม่รู้ตัว คือถ้าไม่มีวัตถุเสพ ก็อยู่ดีมีสุขไม่ได้

แม้แต่การศึกษาก็โน้มเอียงไปในทางของการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำรุงความสุข เวลานี้โดยแทบไม่รู้ตัว ความหมายของการศึกษาที่สัมพันธ์กับความสุข แทบจะกลายเป็นว่า การศึกษาคือการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ละคนมีการศึกษากันจนเก่ง เก่งอะไร ก็เก่งในการที่จะหาสิ่งต่างๆ มาเสพบำเรอความสุข แต่การพัฒนาอย่างนี้ทำให้เสียดุลยภาพ เสียดุลยภาพอย่างไร

คนเรานี้มีศักยภาพด้านหนึ่ง คือความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าเราพัฒนาแต่ด้านความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข และไม่ได้รักษา ไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ก็จะปรากฏว่า ศักยภาพด้านนั้นหายไป ความสามารถที่จะมีความสุขลดน้อยลง อยู่ในโลกไปๆ เลยกลายเป็นคนที่สุขยากยิ่งขึ้น

คนจำนวนมากในปัจจุบันนี้เก่งจริงในการหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข แต่ไม่เก่งในการที่จะมีความสุข เพราะเขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข การศึกษาเวลานี้ไม่ได้มองว่า เราจะต้องพัฒนาคนทั้งสองด้านให้ได้ดุลยภาพ คือ พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข พร้อมกับพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข

ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข คนอยู่ในโลกยิ่งนานไป ก็ยิ่งมีความสุขง่ายขึ้น เมื่อเป็นคนสุขง่ายขึ้น แล้วยังพัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุขเพิ่มขึ้นด้วย เราก็สุขท่วมท้น สุขกำลังสอง เพราะสิ่งบำเรอความสุขเราก็หาได้เก่งขึ้น พร้อมกันนั้นความสามารถที่จะมีความสุขของเราก็มากขึ้น เราก็สุขง่ายขึ้นด้วย ทีนี้เราหาสิ่งเสพมาได้มากเกินไป มันเกินจำเป็นที่จะทำให้เรามีความสุข เราก็เอามันไปเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ช่วยให้สังคมอยู่ดีมีสันติสุขมากขึ้น

ความสามารถมีความสุขที่มนุษย์พัฒนาได้นั้นมีช่องทางหลายอย่าง จนกระทั่งในที่สุดปัญญานี่แหละ จะเป็นตัวทำให้มนุษย์มีความสุขในตัวของเขาเอง จนกระทั่งเป็นความสุขโดยไม่ต้องแสวงหา

เวลานี้คนส่วนมากต้องอยู่ด้วยความสุขแบบแสวงหา การแสวงหาแสดงว่าตัวเองไม่มีความสุขในปัจจุบัน คนที่ขาดความสุขก็แสวงหาความสุข เมื่อเราพัฒนาขึ้นไป คนจะต้องมีความสุขเป็นคุณสมบัติในตัวเอง คือมีความสุขในตัวเองเป็นคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งเป็นความสุขตลอดทุกเวลา เมื่อมีความสุขอยู่ในตัวเองแล้วก็ไม่ต้องหาความสุข ความสุขที่ได้มาจากข้างนอกก็เป็นส่วนเสริม

การศึกษาในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะทำงานคลาดเคลื่อนไป คือ แทนที่การศึกษาจะทำให้คนมีความสุข กลับกลายเป็นว่า การศึกษาทำให้คนเป็นนักหาความสุข ซึ่งเป็นผลร้ายทั้งต่อชีวิตของตัวบุคคล และซ้ำเติมการเบียดเบียนกันในสังคม

การศึกษาที่ทำให้คนเป็นนักหาความสุข โดยมุ่งพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาความสุขเพียงด้านเดียว จะบีบคนให้เหลือช่องทางที่จะมีความสุขน้อยลงและแคบเข้า จนกระทั่งช่องทางแห่งความสุขของเขาเหลืออยู่แต่การเสพวัตถุอย่างเดียว เมื่อชีวิตและความสุขของเขาฝากไว้กับการเสพวัตถุแล้ว เมื่อใดเขาเบื่อหน่ายหรือผิดหวังต่อวัตถุ เขาก็จะเบื่อหน่ายชีวิตด้วย เมื่อใดวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็จะหมดความหมายสำหรับเขาด้วย

ในทางตรงข้าม ทันทีที่มีการศึกษาที่แท้ ที่ถูกต้อง ความสุขก็จะพัฒนา และช่องทางที่จะมีความสุขก็จะเพิ่มขึ้นในทันที พร้อมกันนั้นชีวิตของบุคคลนั้นก็จะพึ่งพาขึ้นต่อความสุขจากการเสพวัตถุน้อยลงทุกที เพราะมีความสุขเป็นทุนในตัวอยู่แล้ว และมีทางออกมากมายในการที่จะมีความสุข

ในโอกาสอันสั้นนี้ ขอยกตัวอย่างเพียงวิธีเดียว ให้เห็นว่า การศึกษาที่แท้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นได้อย่างไร

การศึกษาเริ่มต้นจากที่เดียวกันกับความสุข เราจะแยกความสุขออกจากการศึกษา หรือเอาการศึกษามาเสริมเพิ่มความสุขก็ได้

ตามปกติ คนเรานี้มีความสุขจากสิ่งเสพเป็นพื้นฐาน โดยเสพสิ่งที่ให้ความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เราอยู่ในโลกนี้เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ชีวิตของเราแต่ละวันนี้อยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายเสพสัมผัส และใจคิดคำนึงต่างๆ

ลองมองให้ชัดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ ทำหน้าที่อะไรบ้าง เราบอกว่าทำหน้าที่รับรู้ พระบอกว่าไม่ใช่รับรู้อย่างเดียว แต่รู้สึกด้วย จึงรวมเป็นการทำหน้าที่ ๒ อย่าง

ด้านหนึ่ง คือ รับรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะรู้ข้อมูล เช่นตาดูว่า เขียว ขาว ดำ แดง ยาว กลม เหลี่ยม เป็นต้น หูฟังว่า เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงนก เสียงกา ฯลฯ

ทีนี้ อีกด้านหนึ่ง มันรู้สึกด้วย พร้อมกับรับรู้ก็มีความรู้สึก ตาดูก็รู้สึกสบายตา หูฟังก็รู้สึกสบายหู หรือไม่สบายตา ไม่สบายหู มีทุกครั้ง มันคู่กันไป

เป็นอันว่า คนเรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมสองด้าน คือ ด้านความรู้ กับด้านความรู้สึก

ในชีวิตของคนทั่วไป (ที่ยังไม่มีการศึกษา) ความรู้สึกจะเป็นตัวเด่น เด่นกว่าด้านความรู้ เวลาเรามองดู และฟังเสียงต่างๆ ตัวไหนจะมาครอบงำจิตใจเราก่อน ด้านความรู้สึกมักมาก่อน คือใจแล่นไปที่สบายหรือไม่สบาย ถ้าสบายตาก็ชอบ ไม่สบายตาก็ชัง ไม่ชอบใจ ทางพระท่านเรียกว่ายินดียินร้าย ฉะนั้น เราจึงรับรู้ประสบการณ์ ด้วยท่าทีของ

๑. ด้านความรู้สึกว่า สบาย หรือไม่สบาย โดยมีปฏิกิริยาแบบชอบชัง เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายในแง่ชอบชัง

๒. ด้านความรู้ว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ใช้ทำอะไร มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร เป็นต้น จะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องเรียน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเรียนรู้

เป็นอันว่า คนเราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สองแบบ คือ สัมพันธ์แบบชอบชัง และสัมพันธ์แบบเรียนรู้

คนจำนวนมากสัมพันธ์แบบชอบชัง พออะไรมา สบายตาก็ชอบ ไม่สบายก็ชัง แล้วก็คิดครุ่นไปตามนั้น ความรู้สึกชอบชังก็เข้ามาครอบงำจิตใจ สุขทุกข์ปรุงแต่งก็ตามมา

เมื่อการศึกษาเข้ามา ก็จะมีความสัมพันธ์แบบเรียนรู้ โดยสนองความต้องการที่อยากจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร มันมีโทษ มีคุณอย่างไร เป็นเพราะอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นอย่างนี้

ทีนี้ การมองนั้นมีผลต่อสุขทุกข์ของเรา เมื่อคนมองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ความสุขความทุกข์ของเขาก็ไปขึ้นต่อความชอบชัง ถ้าได้สิ่งที่ชอบ ก็สุข ถ้าเจอสิ่งที่ชัง ก็ทุกข์ เมื่อมองแบบชอบชัง เขาก็มีสุขกับทุกข์คู่กันไปตามที่ชอบและชังนั้น

ส่วนคนที่มองแบบเรียนรู้ ถ้าได้รู้ก็เป็นสุข ทีนี้ การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อการที่สิ่งนั้นจะถูกตา หรือไม่ถูกตา เพราะว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือไม่ดี เป็นสิ่งสำหรับเรียนรู้ทั้งหมด มีแต่การได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีทุกข์มาเลย มีแต่สุขอย่างเดียว คือสุขจากการที่ได้เรียนรู้ คนที่มองอะไรเป็นการเรียนรู้จึงได้สุขทุกสถานการณ์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า ให้ตั้งท่าที หรือตั้งทัศนคติต่อประสบการณ์ทุกอย่างด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เพียงเท่านี้แหละการศึกษาก็เริ่ม สิ่งร้ายเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งดีเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งร้ายบางทีได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ยิ่งกว่าสิ่งดีหรือสิ่งที่เราชอบ คนที่อยากเรียนรู้ และได้พัฒนาท่าทีของการเรียนรู้ไว้มาก ความใฝ่รู้และใฝ่เรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น ทางพระท่านเรียกว่าฉันทะ เมื่อเรียนรู้ ก็ไม่มีทุกข์จากอะไรเลย มีสุขอย่างเดียว คือมีความสุขจากการเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็เป็นความสุข

ความสุขจากการเรียนรู้นั้น เป็นความสุขในการศึกษา หรือความสุขทางปัญญา มีแต่ดี มันเข้ามาช่วยหลายอย่างหลายชั้น คนที่ศึกษาพัฒนาตนอยู่นั้น ในด้านความสุขจากการเจอของที่ชอบ เขาก็มีอยู่แต่เดิมแล้ว แต่การเรียนรู้จะช่วยเสริมสุขนั้นอีก โดยทำให้เขารักษาตัวได้ดี ให้ได้ความสุขจากของชอบ โดยไม่ถลำพลาดพลั้งติดเอาทุกข์มาด้วย เช่นถ้าจะมีอะไรเสียหายเป็นโทษนำทุกข์มา เขาก็รู้ทันและหลีกเลี่ยงหรือยั้งได้ และไม่ลุ่มหลงมัวเมาเป็นต้น เมื่อเจอของไม่ชอบ เขาก็พลิกเปลี่ยนจากทุกข์เพราะไม่ชอบ มาเป็นความสุขจากการได้เรียนรู้มัน

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาจะมีความสุขและความทุกข์จากสิ่งที่ชอบและชัง เป็นคู่กัน สุขกับทุกข์ คือ ได้สุขจากสิ่งชอบ และทุกข์จากสิ่งชัง แต่พอเราพัฒนาคนขึ้นมา เขาได้ความสุขจากการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์จากการชังก็เริ่มมีผลลดน้อยลง นอกจากนั้น จากสิ่งที่ชังนั้นเขาก็ได้ประโยชน์ด้วย คือได้เรียนรู้ ซึ่งทำให้เขามีความสุข ถึงตอนนี้จึงสบายไปเลย

คนที่มองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ท่านเรียกว่ามองแบบตัณหา ถ้ามองแบบตัณหา ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความสุขและความทุกข์ และเป็นความสุขแบบเมืองขึ้นเรื่อยไป แต่ถ้าเมื่อไรเราเริ่มพัฒนาฉันทะ คือความใฝ่รู้ คืออยากรู้ขึ้นมา เมื่อนั้น เราก็เริ่มได้ความสุขจากฉันทะ ตอนนี้เราจะได้ความสุขจากประสบการณ์ทุกอย่าง และเป็นความสุขแบบอิสระทางปัญญา

ในการพัฒนาเด็ก อย่ามัวไปพัฒนาให้เขามีความสุขจากตัณหา เพราะตัณหามีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปพัฒนามัน เมื่อเราเกิดมา มีตา หู จมูก ลิ้นมา ก็มีตัณหามาด้วย ตัณหานั้นพึ่งอวิชชา เมื่อมีอวิชชา ตัณหาก็มาตลอด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องพัฒนาหรอก มันคอยจะเกิดอยู่เรื่อย

ทีนี้ ความสุขจากการเรียนรู้นี่สิที่เราต้องพัฒนา เราก็ฝึกเด็กให้รู้จักหาความสุขจากการเรียนรู้ จนกระทั่งเด็กเกิดความใฝ่รู้ เมื่อไรเด็กเกิดความใฝ่รู้ และชอบเรียนรู้ เมื่อนั้นก็เริ่มสบายใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเกิดฉันทะแล้ว คราวนี้แหละประสบการณ์เข้ามา ไม่ว่าดีว่าร้าย แกได้ความสุขหมด เพราะแกดีใจที่แกได้เรียนรู้ใช่ไหม เกิดไปเจอสิ่งร้าย แกก็ยิ่งได้เรียนรู้มาก แกก็ยิ่งดีใจใหญ่ กลายเป็นว่าเจอสิ่งร้ายกลับดี ใจอาจจะมีความสุขมากกว่าเจอสิ่งดี กลายเป็นอย่างนั้นไป เพราะได้เรียนรู้มากกว่า

วิธีพัฒนาความสุข และพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ยังมีอีกมาก แต่ไม่มีเวลาจะพูด ขอพูดไว้ตัวอย่างเดียวนี้ก่อน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฉันทะเกิดขึ้นเมื่อไร นั่นคือรุ่งอรุณของการศึกษา ฉันทะคือความอยากที่ถูกต้องเกิดเมื่อไร นั่นคือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ตัณหาจะถูกทอนกำลัง คนนั้นจะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญามากขึ้น ความอยากที่ถูกต้องด้วยปัญญานี้จะมาชี้นำชีวิต เช่น เมื่อพัฒนาถูกต้อง การศึกษามาแล้ว ก็เริ่มมีความอยากกินอาหารที่มีคุณภาพ ตอนนี้อาหารที่อร่อย แต่รู้ชัดๆ ว่ามันทำลายสุขภาพ ใจก็ไม่เอาด้วย ส่วนอาหารที่มีคุณค่า ทั้งที่ไม่ค่อยอร่อย ใจก็เอา และมีความสุขจากการได้กินอาหารนั้นที่รู้ว่าจะทำให้ได้คุณภาพชีวิต และได้ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง

พอมีความสุขแล้วก็มาถึงจุดสำคัญที่ต้องระวังว่าจะตกหลุมความประมาท เพราะคนที่มีความสุขมักตกหลุมความประมาท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้อยู่ด้วยสติปัญญา โดยไม่ประมาท คือให้มีความสุขแล้วก็ไม่ประมาทด้วย ดังได้กล่าวแล้วในข้อก่อน

โดยวิธีการที่เราพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะมีความสุขนี้ก็จะมีผลขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้มนุษย์มีชีวิตที่มีประสิทธิภาพด้วย พร้อมกับการที่มีความสุข อย่างที่แสดงออกด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข” ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้อง จะได้ทั้งสองอย่าง ไม่ใช่งานได้ผล แต่คนเป็นทุกข์

เวลานี้ สำหรับคนพวกหนึ่ง งานได้ผล คนเป็นทุกข์ ส่วนอีกพวกหนึ่งงานไม่ได้ผล แต่คนเป็นสุข ถ้าให้ถูกต้องให้ได้ทั้งสองอย่าง คือด้วยการพัฒนาที่ถูกต้อง คนมีปัญญาที่แท้ จะได้ทั้งงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข คือเป็นสุขในการทำงานนั้นด้วย เริ่มตั้งแต่มีความสุขจากการที่ได้เรียนรู้เป็นต้นไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง