การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญญา ทำให้รู้ความจริง และอยู่อย่างรู้เท่าทัน

ประการต่อไปซึ่งสืบเนื่องจากเรื่องธรรมและวินัย คือ เมื่อคนเข้าถึงธรรมแล้ว สภาพการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องพอดี ที่เรียกว่าการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาหรืออยู่ด้วยปัญญา จะเกิดขึ้น

อธิบายว่า จากปัญญาขั้นที่หนึ่งที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ (ธรรม) ก็จะเกิดปัญญาขั้นที่สอง คือการที่เขารู้จักปฏิบัติอย่างถูกต้องจริงจังตามสมมติ (วินัย) ด้วย เขาจะรู้จักความหมายที่แท้จริงและเหตุผลของกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนระบบแบบแผนที่ใช้กันอยู่ในสังคมของมนุษย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี และปฏิบัติไปตามสมมตินั้นอย่างรู้เท่าทันจริงจังโดยไม่หลงสมมตินั้น

จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่จัดวางขึ้นตามสมมตินั้น ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย แต่บัญญัติโดยมีความมุ่งหมายและเหตุผล เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติ ก็จะปฏิบัติตามสมมติอย่างถูกต้องและจริงจัง ไม่ใช่เป็นคนไม่เอาเรื่องไม่เอาราว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมาก คนมีปัญญานั่นแหละจึงจะรู้เท่าทันสมมติ คือมองเห็นความมุ่งหมายและเหตุผล ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่เบื้องหลังสมมตินั้น และทำให้ปฏิบัติต่อสมมติได้ถูกต้อง คือปฏิบัติไปตามความมุ่งหมายและเหตุผลของสมมตินั้น ไม่ใช่ทำไปเพราะหลงสมมติ หรือทำตามสมมติเพื่อสนองความปรารถนาส่วนตัว

การหลงสมมติเป็นอย่างไร จะขอยกตัวอย่าง เราจ้างคนมาทำสวน ตกลงกันว่าให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็เกิดเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น คือการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล ซึ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดเจนและเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามย้ำให้แน่ว่าเป็นเหตุผลที่จริงแท้หรือ ก็ต้องตอบว่าเป็นจริงโดยสมมติ คือโดยการตกลงหรือยอมรับร่วมกัน [สมมติ = สํ (ร่วมกัน) + มติ (การยอมรับ หรือตกลง)] เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเหตุผลที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ

ถ้าเอาสมมติคือการยอมรับร่วมกันออกเสีย ความเป็นเหตุเป็นผลก็หายไป กฎก็หายไป คือทำสวน ๑ เดือนแล้ว ผู้จ้างไม่ถือตามที่สมมติ ก็ไม่มีการให้เงินเดือน กลายเป็นว่าทำเหตุแต่ไม่เกิดผล หรือไม่ได้ทำสวน แต่ผู้จ้างเสน่หาให้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ก็กลายเป็นว่ามีผลโดยไม่ต้องทำเหตุ นี้คือกฎของมนุษย์เป็นกฎสมมติ คือเป็นความจริงแห่งเหตุและผล โดยขึ้นต่อสมมติ (การยอมรับร่วมกัน)

ภายใต้กฎของมนุษย์ที่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ที่จริงมีกฎของธรรมชาติรองรับอยู่ คือ การทำสวนเป็นเหตุ และความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล กฎของธรรมชาตินี้มีความเป็นเหตุเป็นผลที่จริงแท้คือ การทำสวนดูแลรดน้ำต้นไม้เป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล เกิดจากการทำสวนเป็นเหตุ เหตุทำให้เกิดผล และผลเกิดจากเหตุ เป็นความจริงแน่นอน

เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้จึงมีกฎ ๒ กฎ ซ้อนกันอยู่ คือ

๑. กฎของมนุษย์ = การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล

๒. กฎของธรรมชาติ = การทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล

จะเห็นว่าสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง คือผลตามกฎธรรมชาติ ได้แก่ความเจริญงอกงามของต้นไม้ ถ้าไม่มีความจริงตามกฎธรรมชาตินี้อยู่ กฎของมนุษย์ก็จะหมดความหมายไปในทันที

ผู้รู้เท่าทันสมมติ คือผู้ที่รู้เข้าใจเหตุผลตามความจริงแท้ที่ต้องการ อันได้แก่ความต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ตามกฎธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังกฎสมมติของมนุษย์ รู้ว่าเราวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นเพื่อความจริงตามกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังนั้น

แต่ผู้ที่หลงสมมติ ติดตันอยู่แค่กฎของมนุษย์ และต้องการเพียงผลตามสมมติ คือการได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท เมื่อเขามองไม่ทะลุถึงความจริงแท้ในธรรมชาติ เขาก็แปลกแยกจากธรรมชาติ เขาไม่ได้ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เมื่อเขาหลงสมมติอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความวิปริตวุ่นวายขึ้นในชีวิตและสังคม คือเขาจะทำสวนด้วยความจำใจฝืนใจ ไม่มีความสุข การไม่ตั้งใจทำงาน ทำให้งานไม่ได้ผลดี และอาจเกิดการทุจริต เพื่อให้ได้เงินโดยไม่ต้องทำสวน หรือทำแบบหลบๆ เลี่ยงๆ อาจต้องมีการจัดระบบการควบคุมขึ้นมาๆ จนซับซ้อน แล้วก็ไม่ได้ผลจริงอยู่นั่นเอง

ในทางตรงข้าม ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำการด้วยความรู้ทันสมมติ เขาต้องการผลที่แท้จริง ที่ตรงตามเหตุในธรรมชาติ คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เขาจะเต็มใจ และตั้งใจทำสวน ตัวเขาเองก็ทำงานด้วยความพอใจมีความสุข และสังคมก็ได้ความสวยงามของสวน โดยไม่ต้องคอยควบคุมอย่างวุ่นวาย

โดยนัยนี้ คนที่เข้าถึงความจริง จะปฏิบัติต่อสมมติอย่างถูกต้อง อย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง ถ้าเราดูวินัยของพระ เราจะเห็นชีวิตที่แท้ของผู้เข้าถึงความจริง เพราะท่านจัดวางวินัยเพื่อฝึกให้พระภิกษุดำเนินชีวิตอย่างผู้ที่เข้าถึงธรรม

โดยทางธรรมท่านบอกให้รู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีแก่นสาร เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดติดถือมั่น แต่พร้อมกันนั้นเองในชีวิตที่เป็นรูปธรรมอยู่ในโลก เราอยู่กับสิ่งทั้งหลายตามสมมติ เช่น พระภิกษุมีจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มเพียง ๓ ผืน เรียกว่าไตรจีวร เพื่อไม่ให้ฟุ่มเฟือยและไม่ต้องกังวล เป็นชีวิตแห่งความไม่ลุ่มหลงไม่ยึดติดในวัตถุ แต่จีวร ๓ ผืนนี้เมื่อตกลงว่าเป็นของท่านแล้วท่านต้องรักษาให้ดี วินัยบัญญัติว่า พระภิกษุรูปใดไม่ใส่ใจ จีวรผืนใดผืนหนึ่งไม่อยู่กับตัวแม้แต่คืนหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ระยะเวลาที่ยกเว้นให้ ก็มีความผิด หรือว่าพระรูปใดจีวรขาดเป็นรู แม้แต่เท่าหลังตัวเรือด ถ้าไม่เอาใจใส่ปะชุน ถือว่ามีความผิด คนที่ไม่เข้าใจคงมองว่า พุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดติดกับเรื่องวัตถุหรือทรัพย์สมบัติ พระน่าจะปล่อย ไม่ใส่ใจกับเรื่องเช่นนี้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ชีวิตที่แท้จริงของผู้ที่เข้าถึงธรรม แสดงออกในการปฏิบัติตามวินัย

ชีวิตที่เข้าถึงความจริงคือเข้าถึงธรรมนั้น ย่อมรู้ถึงเหตุผลตามสมมติของวินัยด้วย จึงเป็นชีวิตที่มีความรับผิดชอบอย่างสูง เป็นชีวิตที่เอาใจใส่ต่อกิจการของสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่า พระอรหันต์เป็นผู้นำในกิจการของส่วนรวมอย่างจริงจัง แต่น่าแปลกใจว่า ในสังคมไทย ได้เกิดมีความเข้าใจและความเชื่อถือที่ผิดเพี้ยนขึ้นมาว่า ถ้าใครไม่เอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ต่างๆ มีอะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ กลับมองว่าจะหมดกิเลส ต่างจากคติของพระพุทธศาสนาแต่เดิมมาที่ถือว่า พระอรหันต์เป็นผู้นำในการแสดงความรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม เป็นผู้เคารพสงฆ์ ถือสงฆ์คือส่วนรวมและประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

ขอให้ดูประวัติพุทธศาสนาทุกยุคที่เป็นมา เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น พระอรหันต์จะริเริ่มลุกขึ้นมาเรียกประชุม เวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ของพระศาสนา พระอรหันต์จะเข้าร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหา พระอรหันต์องค์ไหนไม่มาร่วมประชุม เช่นไปเข้าป่าเสวยฌานสุขอยู่ อาจถูกสงฆ์ลงโทษ ในประวัติศาสตร์มีพระอรหันต์ถูกที่ประชุมสงฆ์ลงโทษหลายองค์ เช่น ในสมัยพระเจ้าอโศก ก็มีพระอรหันต์ถูกลงโทษ ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ อาจารย์ของพระนาคเสนก็ถูกลงโทษ แต่ลงโทษโดยมอบงานให้ทำ หลักการนี้คือการถือสงฆ์และประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นเอง แต่เมื่อสงฆ์ขยายตัวขึ้น เติบใหญ่ขึ้น พระองค์ก็ทรงเคารพในสงฆ์ การถือความสำคัญในกิจการของสังคมนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ตระหนักไว้

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง