ย้อนกลับมายังหัวข้อต่างๆ ที่พูดไปแล้ว อาตมาได้เริ่มการมองศาสนาและจริยธรรมที่เยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวเด็กเอง นี่เป็นจุดเริ่มแรกก่อน การที่เราจะมองเด็กโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย หรือสังคมโลกก็ตาม โดยสัมพันธ์กับกาลสมัยใดก็ตาม จุดแรกต้องเริ่มที่ตัวเด็กเองว่า เราจะเอาอย่างไรกับเด็ก ศาสนาและจริยธรรมมีคุณค่าอะไรที่จะให้แก่เด็ก เราจะสร้างเด็กให้มีบุคลิกภาพอย่างไร ให้เขาใช้ชีวิตอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำคนให้มีความสุข ไม่เป็นปัญหาแก่ตัวของเขาเอง ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังสังคม ดังที่กล่าวมาแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องของตัวเด็กเอง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน คือ หน้าที่หรือบทบาทชั้นแรกชั้นต้นของศาสนาและจริยธรรม ที่จะต้องสร้างเยาวชนให้เป็นคนมีคุณภาพ เป็นคนซึ่งพร้อมที่จะอยู่ได้อย่างดีในทุกยุคทุกสมัย และเป็นที่ต้องการของสังคมทุกยุคทุกสมัย ในเวลาที่พูดถึงตัวเด็กเองนี้ การมองจะสัมพันธ์กับกาลเวลาด้วยในแง่ที่ว่า ไม่ต้องขึ้นกับกาลเวลาในยุคสมัยใด เพราะเด็กที่มีคุณภาพที่ดีอย่างแท้จริงนั้น ถ้าเราผลิตขึ้นมาได้ ก็เป็นเด็กที่อยู่ในยุคสมัยใดก็ได้
ในเรื่องนี้เพื่อความรวบรัด จะขอนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาแสดงไว้ หลักธรรมที่เราจะนำมาใช้พัฒนาเยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง หรือชีวิตของเด็กเองนั้น ได้แก่ หลักธรรมชุดที่เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรือง” อาตมาจะต้องขอเน้นย้ำถึงหลักธรรมชุดนี้บ่อยๆ ที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองหรือของชีวิตที่ดีงามนี้ ก็เพราะว่าในพระพุทธศาสนาท่านเรียกชีวิตที่ดีงามว่า “มรรค” พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค คือการดำเนินชีวิตที่ดีงามนี้ มีสิ่งที่เป็นตัวนำมาก่อน สิ่งที่นำหน้ามาก่อนที่จะเข้าถึงการดำเนินชีวิตที่ดีงามนี้ ท่านเปรียบเหมือนแสงเงินแสงทอง หรือแสงอรุณ ท่านกล่าวว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัยขึ้นมา ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ก่อนที่มรรคจะเกิดขึ้น ก็จะมีธรรม ๗ ประการนำหน้ามาก่อน ฉันนั้น ดังนั้น ธรรม ๗ ประการนั้นจึงเป็นรุ่งอรุณของชีวิตที่ดีงาม หรือชีวิตที่รุ่งเรือง
โดยทั่วไปนั้นเรามักจะมองแต่มรรค คือมองว่า หลักธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา หรือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ก็คือมรรค แต่ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงมรรคนั้น ทำอย่างไรมรรคจะเกิดขึ้น เราไม่ค่อยมอง ทั้งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว และทรงเน้นไว้บ่อยๆ ด้วยว่า มีธรรมอยู่ ๗ ประการที่เป็นแสงอรุณของมรรค หรือเป็นตัวชักนำเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง บางทีก็เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา
ทำไมจึงเรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เพราะสิกขา หรือการศึกษา ก็คือการทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตที่ดีนั่นเอง ดังนั้น จึงโยงสิกขากับมรรคเข้าหากันว่า การศึกษาก็คือการฝึกฝนอบรม หรือการพัฒนาคนให้สามารถดำเนินชีวิตตามมรรค
สิกขาสัมพันธ์กับมรรค เราจะเห็นว่า สิกขาก็มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็สรุปได้เป็น ๓ เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ทำไมจึงซ้ำกัน ก็เพราะว่า ๒ อย่างนี้ ต้องอาศัยกัน มรรคคือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีการฝึกให้มีการดำเนินชีวิตอย่างนั้น การฝึกให้มีการดำเนินชีวิตอย่างนั้น คือ สิกขา สิกขาก็คือ การฝึกคนให้สามารถดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงามตามมรรค สิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา มรรคก็รวมลงในศีล สมาธิ ปัญญา
ดังนั้น ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของมรรค ก็เป็นรุ่งอรุณของสิกขา คือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ธรรมหมวดนี้จึงเรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษาก็ได้ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงามก็ได้ เราจะต้องเห็นความสำคัญของหลักธรรมที่เป็นรุ่งอรุณนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ารุ่งอรุณนี้ปรากฏขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องไปเพียรพยายาม มรรคก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนดังแสงเงินแสงทองที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นหลักประกันว่าในไม่ช้า พระอาทิตย์ก็จะต้องขึ้นมา มันเป็นบุพนิมิต ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเพียรพยายาม หากเราสร้างองค์ประกอบหรือหลักธรรม ๗ ประการนี้ขึ้นมาได้แล้ว มรรคจะตามมาเอง แต่เราได้สร้างหรือเปล่า เราจะมุ่งเอาแต่มรรค โดยไม่สร้างองค์ประกอบที่เป็นรุ่งอรุณของมรรค หรือแสงเงินแสงทองของมรรคก่อน แล้วจะสำเร็จได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงย้ำที่หลักธรรม ซึ่งเป็นแสงเงินแสงทองของมรรค อันมี ๗ ประการด้วยกัน