ตกลงว่า องค์ประกอบ ๓ ประการของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ ขณะนี้มีภัยร้ายแรงทั้งหมด สามารถที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสูญสิ้นได้ทั้งนั้น ทั้งชีวิตด้านกายและใจ ก็มีปัญหามาก ด้านสังคมก็มีปัญหามาก ด้านธรรมชาติแวดล้อมก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ อย่างที่กล่าวมา เรื่องราวเหล่านี้ ผู้ทำงานเกี่ยวกับศาสนาและจริยธรรมจะต้องมอง คือจะต้องเข้าใจ และจะต้องรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วม มีความเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจะต้องเข้าไปจับจุดให้ถูกว่า เมื่อมองปัญหาเหล่านี้ในแง่ศาสนาและจริยธรรม จุดเกี่ยวข้องของเราอยู่ในแง่มุมไหน เราจะเข้าไปสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างไร คือไม่มองที่จะแก้ปัญหาโดยลำพังตัวของศาสนาและจริยธรรมอย่างเดียว แต่จะต้องมองโดยความสัมพันธ์กับกิจกรรมด้านอื่นของมนุษย์ด้วย คือเราจะต้องไปสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ เราจะต้องไปสัมพันธ์กับเรื่องทางด้านจิตวิทยา ตลอดจนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสนาและจริยธรรมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหมด แม้แต่การที่ว่าจะผลิตเทคโนโลยีกันอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีกันอย่างไร ก็เป็นปัญหาทางจริยธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องที่ศาสนาและจริยธรรมจะต้องเกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นอันว่า เราจะต้องพิจารณาเรื่องการสร้างสรรค์และพัฒนาเด็กและเยาวชนนี้
ในแง่ที่หนึ่ง คือ มองที่ตัวเด็กเอง โดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจะให้เด็กเป็นคนที่มีบุคลิกภาพอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร มีความสุขได้อย่างไร
ในแง่ที่สอง มองเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาจนถึงสังคมไทยทั้งประเทศ ว่าเราจะให้เด็กและเยาวชนเป็นคนอย่างไร จึงจะพร้อมที่จะไปเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรือง เด็กและเยาวชนที่จะมาพัฒนาสังคมไทยต่อไปนี้ ควรจะมีคุณสมบัติหรือคุณภาพอย่างไร นี้ก็เป็นหน้าที่ของศาสนาและจริยธรรมที่จะต้องพิจารณา
ในแง่สุดท้าย ก็คือ มองในฐานะที่เยาวชนนั้นจะเติบโตเป็นพลโลก ว่าเขาจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโลก พัฒนาอารยธรรมมนุษย์อย่างไร ซึ่งอาจจะมองในแง่ที่ว่าเป็นคนไทยที่จะไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก การมองทั้งหมดที่พูดนี้ เป็นการมองในแง่เทศะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะเอาเป็นจุดตั้งได้ ในการพิจารณาว่าเราจะพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างไร แต่ยังมีแง่ที่สองที่จะต้องพิจารณาอีกคือ ในแง่กาละ ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่เคียงกันไปกับการมองทางด้านเทศะ ในแง่กาละนั้น แยกได้ ๒ ด้านคร่าวๆ คือ
แง่ที่ ๑. กาละที่เป็นเรื่องสามัญตลอดเวลา หมายความว่า เป็นเรื่องตลอดกาลนั่นเอง คือเราจะให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างไร เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพอย่างนี้ๆ ซึ่งอยู่ได้ในทุกกาลสมัย ตามหลักการยืนตัวที่ว่า ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด กาลใด สมัยใด ก็จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่กาละที่เป็นกลางๆ เป็นเรื่องของกาลเวลาใดก็ได้ ไม่ขึ้นต่อยุคสมัย เป็นพื้นฐานยืนตัวในด้านกาลเวลา
แง่ที่ ๒. กาละที่เป็นของจำเพาะยุคสมัย เฉพาะกาล หรือเฉพาะสถานการณ์ หมายความว่า สังคมไทยเวลานี้ มนุษยโลกในเวลานี้มีสภาพอย่างไร มีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอย่างไร ต้องการคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษ ขาดแคลนคุณธรรมและจริยธรรมอะไร มีความบกพร่องเกี่ยวกับศาสนาทางด้านไหนเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องเสริมสร้างเพิ่มเติมในด้านนั้นๆ จุดเน้นอยู่ที่ไหน ในเฉพาะกาลสมัยนั้น แง่นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นเดียวกัน
รวมความว่า จะต้องพิจารณาทั้งสองอย่างควบคู่กันไป คือจะต้องมองดูเด็กแง่ที่หนึ่ง ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งจะอยู่ในยุคใด สมัยใดก็ได้ มองว่าเขาจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไร และในแง่ที่ ๒ มองว่าเฉพาะในยุคสมัยนี้นั้น ปัญหาเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาการที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยสัมพันธ์กับปัญหานั้น และการแก้ปัญหานั้น แล้วอันนี้จะโยงกลับไปหาเทศะเมื่อกี้นี้อีก เช่นว่า ในแง่เฉพาะกาลสมัย สังคมไทยในเวลานี้เป็นปัญหาอย่างไร จะต้องเน้นอะไร และในด้านปัญหาของโลกทั้งหมด ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร จะต้องเน้นในแง่ไหนอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นแง่พิจารณา ซึ่งเราจะต้องหยิบยกขึ้นมาพูดกันในการหาหนทางที่จะสร้างพัฒนาเยาวชน ถ้าเราได้แง่พิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น