ความจริงนั้น ศาสนาและจริยธรรมเป็นปัจจัยแวดล้อมชีวิตและสังคม ที่ช่วยหล่อเลี้ยงรักษาชีวิตและสังคมของมนุษย์ไว้ เป็นสิ่งที่แผ่ซึมซ่านทั่วไปหมด ปกคลุมการดำเนินชีวิตและกิจกรรมของมนุษย์ทุกด้าน เป็นแกนนำและกำกับทั้งชีวิตของบุคคล และการอยู่ร่วมกันในสังคมให้เป็นไปด้วยดี
ความสำคัญของศาสนาและจริยธรรมนั้น อุปมาอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเรื่องน้ำและอากาศ น้ำและอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆ ไป เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต อันนี้เป็นความจริงที่ทุกคนยอมรับแน่นอน เพราะว่าถ้าขาดน้ำวันเดียวคนก็แทบจะตาย ยิ่งถ้าขาดอากาศด้วยแล้ว ประเดี๋ยวเดียว สักอึดใจสองอึดใจ ก็อาจจะตาย ดีไม่ดีถ้าฟื้นไม่ทัน ถึงจะไม่ตายก็อาจเป็นอัมพาตไปเสียก่อน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ศาสนาและจริยธรรมก็เหมือนกัน ทำนองเดียวกับน้ำและอากาศนี้แหละ เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสังคมของเราอยู่โดยไม่รู้ตัว
แต่สิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ บางทีมนุษย์ก็ไม่เห็นความสำคัญ น้ำและอากาศนั้น แม้จะมีความจำเป็นแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในแง่ของตัวความจริง แต่ในแง่ความรู้สึกของมนุษย์แล้ว ก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มนุษย์จะไม่เห็นคุณค่าของอากาศบริสุทธิ์ ไม่เห็นคุณค่าของน้ำบริสุทธิ์มากเท่าไรนัก จนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อไรเกิดการขาดแคลน หรือสิ่งเหล่านี้เกิดความเน่าเสียวิปริตขึ้นมา เป็นพิษเป็นภัยอันตราย มนุษย์จึงจะเริ่มรู้สึกตัวและเห็นคุณค่าของมัน
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในสภาพที่อากาศเริ่มจะไม่บริสุทธิ์ น้ำเริ่มจะเสียนี้ คนจำนวนมากก็ยังไม่รู้ตัวอยู่นั่นแหละ ยังหลงระเริงเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ปลุกเร้า สนองความต้องการทางเนื้อหนัง และทะยานหาความสุขต่างๆ เพราะเหตุที่มัวเพลิดเพลินมัวเมากันอยู่นั้น ก็เลยอยู่ท่ามกลางอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ อยู่ใกล้กับน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ได้ โดยไม่สำนึกไม่ตระหนักในภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิต
อันนี้ก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าสภาพความขาดแคลนทางศาสนาและจริยธรรมจะเกิดมีขึ้น แต่เพราะความตื่นเต้นหลงมัวเมาในความสุขทางด้านวัตถุเป็นต้น ก็ทำให้คนอยู่ท่ามกลางสภาพเหล่านั้น โดยไม่ตระหนักถึงภัยอันตราย แล้วก็ไม่คิดที่จะพยายามแก้ไข แต่เมื่อไรขาดแคลนจริงๆ อย่างน้ำและอากาศนี้ ถึงขนาดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว คนจะรู้สึกตัว แล้วก็เรียกร้องหา แสดงความต้องการกันอย่างเต็มที่ ตอนนั้นแหละ น้ำและอากาศจะมีคุณค่าอย่างที่สุด เหมือนอย่างคนที่เดินทางไปไกลๆ ในทะเลทราย เป็นต้น แล้วไม่มีน้ำจะกิน ถึงตอนนั้น น้ำนิดเดียวก็มีค่ามากที่สุด พยายามขวนขวายดิ้นรนหาจนสุดความสามารถ เพื่อจะให้ได้มาซึ่งน้ำ อากาศก็เช่นเดียวกัน นี้เป็นเรื่องของสิ่งที่มีคุณค่า จำเป็นต่อชีวิตที่คนไม่ค่อยรู้สึกตัว
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างมีอยู่อย่างหนึ่งระหว่างน้ำและอากาศกับศาสนาและจริยธรรม กล่าวคือ ในเรื่องน้ำและอากาศนั้น คนขาดไปแล้ว ก็รู้ว่าตัวนี้ขาดอะไร และต้องการอะไร อันนี้เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คือเขารู้ว่าเขาขาดน้ำ ต้องการน้ำ เขาขาดอากาศ ต้องการอากาศ แต่ศาสนาและจริยธรรมนี้ มีลักษณะที่ประณีตเป็นนามธรรมมาก จนกระทั่งว่า แม้คนจะขาดสิ่งเหล่านี้ ถึงจะมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าขาดอะไร ไม่รู้ว่าตัวต้องการอะไร ก็เลยเป็นปัญหามาก ทำให้ต้องมาสร้างความรู้ความเข้าใจ ชี้แจงกันเพื่อให้ตระหนักเห็นในคุณค่าและความสำคัญ เป็นเรื่องของการที่จะต้องให้การศึกษามาชี้แจง จึงต้องมาจัดการสัมมนากันขึ้น ถ้าหากว่าคนเห็นง่ายๆ ถึงความจำเป็นของมัน เหมือนอย่างน้ำและอากาศ เราก็คงไม่ต้องมาจัดประชุมอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียเวลาและแรงงานอย่างมากมาย นี้ก็เป็นเรื่องของศาสนาและจริยธรรม ที่ว่ามีความจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมเป็นอย่างมากเปรียบประหนึ่งน้ำและอากาศ
เวลานี้มนุษย์เราเริ่มจะมีปัญหากับน้ำและอากาศมากขึ้น เดี๋ยวนี้น้ำเปล่าเราต้องซื้อแล้ว มีราคาขวดละ ๓-๕ บาท สมัยก่อนคนนึกไม่ถึง ถอยหลังไปสัก ๕๐ ปี ใครจะไปนึกว่าคนในสมัยปัจจุบันนี้จะต้องซื้อน้ำเปล่าๆ รับประทาน ต่อไปในภายหน้า อีก ๑๐๐-๒๐๐ ปี เป็นไปได้ไหมที่คนจะต้องซื้ออากาศบริสุทธิ์มาหายใจ อาจจะต้องซื้ออากาศบริสุทธิ์เป็นถุงๆ แล้วก็แขวนคอเดินไปในที่ต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณา
เรื่องศาสนาและจริยธรรมก็เหมือนกัน คนปัจจุบันนี้เจริญทางวัตถุ ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปมาก เราก็ตื่นเต้นกันไป ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดพิษภัยอะไร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถ้าไม่รู้เท่าทัน ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักควบคุมให้ดีก็อาจจะเป็นโทษ ในด้านวัตถุก็ก่อให้เกิดน้ำเสีย อากาศเสีย เป็นต้น เป็นภัยอันตรายแก่ร่างกาย และในเวลาเดียวกัน ด้านนามธรรม เมื่อไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักควบคุม เทคโนโลยี และความเจริญทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาก่อให้เกิดปัญหาแก่ศาสนาและจริยธรรม เราต้องมองพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง
ทีนี้ องค์กรต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับศาสนาและจริยธรรม ก็จะต้องมีบทบาทในการที่จะเพียรพยายามทำให้มนุษย์ทั้งหลายตระหนักรู้ในความสำคัญ และความจำเป็นของศาสนาและจริยธรรม และพยายามที่จะแสดงคุณค่า เผยแผ่ ให้คนทั้งหลายยอมรับเอาศาสนาและจริยธรรมไปใช้ประโยชน์ หรือที่จะพัฒนาคนให้มีศาสนาและจริยธรรม โดยเฉพาะก็คือบทบาทในด้านการศึกษา