ศาสนาและเยาวชน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาที่รอหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรม

ทีนี้ ข้อที่สอง ในภาคอุตสาหกรรม เมื่อจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เรามีปัญหาอย่างไร เราอยากเข้าถึงยุคอุตสาหกรรม อยากเจริญตามฝรั่ง เวลาเรามองภาพของความเจริญ ภาพความเจริญที่เรามองนั้น เป็นความเจริญแบบเอาฝรั่งเป็นแบบอย่าง เอานิวยอร์คบ้าง เอาชิคาโกบ้าง เป็นตัวอย่าง เดี๋ยวนี้ก็อาจจะมองญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างบ้าง การที่เราจะเจริญตามฝรั่งนั้น เราเข้าใจความหมายของคำว่าเจริญอย่างไร ความเข้าใจคำว่า เจริญ ในจิตใจของแต่ละคน เป็นตัวตัดสินแนวทางในการพัฒนาประเทศ และเป็นตัวตัดสินยุคอุตสาหกรรมของเราว่าจะไปได้ดีหรือไม่ ความหมายของคำว่า เจริญ ที่อยู่ในใจของคนไทยส่วนมากเป็นอย่างไร

คำว่า เจริญ นั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า เรามองภาพของประเทศทางตะวันตกเป็นตัวอย่าง มองความเจริญที่ฝรั่ง เมื่อเอาฝรั่งเป็นตัวอย่าง เป็นแบบของความเจริญ แล้วเรามองว่า เจริญนี้คืออย่างไร ที่ว่าเจริญอย่างฝรั่ง หรือเจริญอย่างตะวันตกนั้น เวลาเรามองภาพความเจริญ พวกที่ ๑ จะบอกว่า ถ้าเรามีกินมีใช้เหมือนกับฝรั่ง ก็คือเราเจริญ เจริญ คือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง หมายความว่า ฝรั่งมีอะไรเราก็มีบ้าง เขามีทีวี เราก็มีทีวี เขามีรถยนต์หรูหรา เราก็มี เขามีตึกใหญ่ๆ เราก็มี เขามีอะไรเราก็มีหมด เรามีกินมีใช้อย่างฝรั่ง นี้เป็นความหมายของคำว่าเจริญแบบที่ ๑

ต่อไปพวกที่ ๒ ในบางประเทศ ความเจริญมีความหมายอย่างนี้ คือ ที่ว่าเจริญอย่างฝรั่ง ก็คือ ทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็ทำได้หมด ฝรั่งทำทีวี ทำคอมพิวเตอร์ได้ ฉันก็ทำได้ ฝรั่งทำอะไรมา ฉันทำเป็นหมด อย่างนี้เป็นความหมายของความเจริญแบบที่ ๒

ทีนี้ คนไทยส่วนใหญ่มองภาพของความเจริญอย่างไร ถ้ามองว่าเจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีอะไร ใช้อะไร ฉันก็มี ฉันก็ได้ใช้อย่างนั้น ก็เป็นความหมายแบบที่ ๑ ความหมายของความเจริญแบบนี้ เรียกว่าเป็นความหมายของความเจริญแบบนักบริโภค นักบริโภคจะต้องมองอย่างนี้ ส่วนพวกที่สอง มองว่าฝรั่งทำอะไรมา ฉันก็ต้องทำได้อย่างนั้น ฉันทำได้อย่างฝรั่ง เรียกว่าเป็นความหมายของความเจริญแบบนักผลิต

ประเทศที่เขามองความหมายของคำว่า เจริญแบบนักผลิต จะสามารถสร้างสรรค์ประเทศในระบบอุตสาหกรรมได้ ถ้าเราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จะต้องทำให้ประชาชนมองความหมายของความเจริญอย่างนักผลิต แต่ถ้าประชาชนทั่วไปมีภาพของความเจริญในความหมายของนักบริโภค ก็ยากที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมได้ ถ้าไม่สามารถแก้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของความเจริญอย่างนี้จากจิตใจของประชาชนแล้ว ก็ยากที่จะพัฒนาให้สำเร็จได้ เพราะประชาชนจะไม่มีค่านิยมในการผลิต มีแต่ค่านิยมในการบริโภค

การมีค่านิยมในการผลิตนี้ เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ เป็นรากฐานที่จะสร้างสรรค์อุตสาหกรรมให้สำเร็จได้ มิฉะนั้นแล้ว เราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม โดยเป็นเพียงแหล่งหาผลประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเหยื่อของเขาเท่านั้นเอง ถ้าเป็นอย่างนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะมาใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเขาไม่ต้องการผลิตในประเทศของเขาแล้ว เพราะถ้าผลิตในประเทศของเขาจะก่อปัญหา ทำให้ธรรมชาติในประเทศของเขาเสียเป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่า  แรงงานของเขานั้น มีคุณภาพสูง และสถานที่จำกัด จะได้เอาแรงงานและสถานที่นั้นไปใช้ผลิตเทคโนโลยีในระดับที่สูงกว่า ซึ่งเรียกว่า ไฮเทค ได้ แล้วก็เอาเทคโนโลยีในระดับต่ำ หรืออุตสาหกรรมระดับล่างมาให้ประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาผลิต ซึ่งก็เท่ากับกลายเป็นเหยื่อ เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ดังนั้น เราจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ถูก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ศาสนาและจริยธรรมจะต้องมีบทบาทเป็นหลักทีเดียว ในการแก้ปัญหาสังคมไทยในยุคอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนั้นแล้ว การที่จะพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จะต้องมีการพัฒนาในทางวิชาการอย่างสูง เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น อาศัยความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยเฉพาะความชำนาญพิเศษ กล่าวคือยุคอุตสาหกรรมนั้น เขาเรียกกันว่า เป็นยุคแห่ง specialization เป็นยุคที่คนจะต้องมีความรู้ความชำนาญพิเศษในแต่ละแขนง การพัฒนาด้านวิชาการแต่ละแขนงนั่นแหละ จะนำมาซึ่งความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสำเร็จได้ด้วยสิ่งนี้

ทีนี้ การพัฒนาความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านทางวิชาการนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยอะไร รากฐานสำคัญคือความใฝ่รู้ ต้องมีความใฝ่รู้จึงจะสามารถพัฒนาวิชาการขึ้นมาได้ ประเทศที่พัฒนาได้สำเร็จ ล้วนมีคนที่มีความใฝ่รู้เป็นหลักอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง แต่ในสังคมไทยเรากำลังมีปัญหาหนักในเรื่องของภาวะขาดความใฝ่รู้ เด็กนักเรียนเข้าเรียนแต่ไม่มีความใฝ่รู้ เรียนโดยไม่อยากรู้ เพียงแต่เรียนไปตามที่ครูอาจารย์มาบอกให้ ห้องสมุดไม่อยากใช้ หนังสือไม่อยากค้น ไม่อยากอ่าน เมื่อไม่มีความใฝ่รู้แล้วจะพัฒนาทางด้านวิชาการได้อย่างไร เรียนสำเร็จมาก็ไม่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ พอไปทำงานก็ไม่มีนิสัยรักงาน จะทำงานก็ทำไปอย่างนั้น ทำไปแกนๆ ให้ได้เงินเดือนผ่านๆ ไป ชอบแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน

เมื่อเป็นอย่างนี้ อุตสาหกรรมก็ล้มเหลว กลายเป็นอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา ไม่เป็นอิสระ นำไปสู่ความหมดอิสรภาพ จึงนับว่าเป็นปัญหาของศาสนาและจริยธรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปัญหานี้มากกว่าวิชาการอื่นใด เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นตัวแกนที่จะเข้าไปสอดแทรกในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องของเทคโนโลยี ตลอดจนวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ถ้าเราพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยไม่มีพื้นฐานด้านจริยธรรม เช่น ค่านิยมที่ถูกต้อง และความใฝ่รู้เป็นต้นนี้แล้ว การพัฒนานั้นจะสำเร็จได้อย่างไร จะเรียนวิทยาศาสตร์กันไปสักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง