เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถึงแม้เศรษฐกิจจะวิกฤติ
แต่ถ้าจิตปัญญาไม่วิกฤติ
ก็จะแก้ปัญหาได้ ให้เศรษฐกิจพ้นวิกฤติ

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในระยะยาวก็คือ การมีท่าทีของจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญา การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในขั้นลึกซึ้งซึ่งมาจากฐานในทางแนวความคิด ก็คือการที่ว่าเราจะต้องไม่ฝากชีวิต ไม่ฝากความสุขของเราไว้กับวัตถุมากเกินไป อย่างน้อยไม่ฝากชีวิตไว้กับวัตถุจนเสียดุล

ถ้าวิเคราะห์สังคมของเราและคนของเรา ที่ประสบปัญหาส่วนรวมก็ตาม ส่วนตัวทางจิตใจก็ตาม ส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นเพราะไปฝากชีวิตและความสุขไว้กับวัตถุมากเกินไป

ชีวิตของเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น เราอยู่กับจิตใจด้วย ที่จริงเราอยู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรมมากมาย แต่เพราะเราไปมุ่งหวังความสุขจากวัตถุอย่างเดียว จนเอาวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิต ความหมายของชีวิตก็ตาม จุดหมายของชีวิตก็ตาม เขวไปอยู่ที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ อันนี้เป็นลักษณะของสังคมบริโภคนิยม ซึ่งทำให้ชีวิตเสียดุล เอียงไปอยู่กับวัตถุข้างเดียว จนกลายเป็นว่า เราจะมีชีวิตอยู่ จะเล่าเรียนศึกษา จะทำงาน ก็เพื่อมั่งมีเงินทองสิ่งบริโภค และจะต้องมีให้มากที่สุด จนกระทั่งนึกว่า เมื่อไรเรามีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ มีรถยนต์อย่างดีใช้ มีบ้านหรูหราอยู่อย่างดี นั่นคือชีวิตที่สุขสมบูรณ์ อย่างนี้ก็เท่ากับเอาวัตถุเป็นความหมายและเป็นจุดหมายของชีวิต และตอนนี้แหละที่มันจะเสียดุล

คนเรามีโอกาสเบื่อหน่ายวัตถุได้ คนเรามีโอกาสผิดหวังวัตถุได้ บางครั้งอยู่ไปอยู่มาเบื่อวัตถุ ผิดหวังวัตถุ เห็นวัตถุหมดความหมาย แต่เพราะเอาความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุแล้ว พอวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็พลอยหมดความหมายด้วย พอผิดหวังวัตถุก็ผิดหวังชีวิตด้วย สภาพนี้เป็นกันมากในสังคมบริโภคนิยม ฉะนั้น ในสังคมบริโภคนิยมอย่างอเมริกา คนที่ฆ่าตัวตายจึงมากกว่าในสังคมที่ยากแค้นขาดแคลนวัตถุ

เคยเปรียบเทียบอย่างเม็กซิโกอยู่ใต้อเมริกา ชายแดนติดต่อกัน เม็กซิโกเป็นประเทศแร้นแค้นยากจน ประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจมาก่อนไทยอีก ไทยเรายังยกเป็นตัวอย่าง เอามาพูดกันตอนที่เริ่มประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจ คนเม็กซิโกพยายามหลบหนีเข้าไปหางานทำในอเมริกา ซึ่งมีความเป็นอยู่ หรือมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงต่ำผิดกันมากมาย แต่เมื่อเปรียบเทียบในเรื่องความทุกข์ คนในอเมริกา ฆ่าตัวตายตั้งแสนละ ๑๒ คนเศษ แต่ในประเทศเม็กซิโกที่แสนจะแร้นแค้น ที่คนพยายามหนีมาหางานทำในอเมริกานั้น ฆ่าตัวตายน้อยกว่าอเมริการาว ๗ เท่า ลองคิดดูซิว่าเป็นเพราะอะไร

ประเทศที่มั่งคั่งมีทรัพย์สินเงินทองหวังความสุขจากการบริโภควัตถุมาก คนกลับฆ่าตัวตายมาก อันนี้เป็นธรรมดา เพราะว่าคนเอาความสุขและความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า เมื่อวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย เมื่อเบื่อหน่ายวัตถุก็เบื่อหน่ายชีวิตด้วย จะอยู่ไปทำไม ตายเสียดีกว่า ทั้งๆ ที่มีของใช้มีสิ่งบริโภคมากมายก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการเสียดุล

ที่ผ่านมานี้เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า คือฝากความหมาย ฝากความหวัง ฝากชีวิต ฝากความสุขของชีวิต ไว้กับวัตถุใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็เสียดุล เราจะต้องไม่ฝากชีวิตไว้กับวัตถุมากเกินไป ชีวิตของเรามี ๒ ด้าน คือ มีกายกับใจ มีวัตถุและนามธรรม ความสุขทางจิตใจ ความสุขจากไมตรีจิตมิตรภาพ ความสุขจากการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ความสุขจากการบำเพ็ญประโยชน์ ความสุขจากการได้ศึกษาค้นคว้าวิชาการ ได้เรียนรู้ ได้สนองความใฝ่รู้ ได้เจริญสติปัญญา ความสุขจากการมีจิตใจสงบมั่นคง การมีสมาธิ และความมีจิตใจโปร่งโล่งผ่องใสเป็นอิสระ ความสุขจากธรรมชาติแวดล้อมที่งดงามรื่นรมย์ ฯลฯ ความสุขมีอีกมากมายหลายระดับ ทำไมเราจะไปฝากความสุขไว้กับวัตถุอย่างเดียวเล่า เราควรจะขยายมิติแห่งความสุขออกไป ฝึกชีวิตจิตใจของเราให้พัฒนามากขึ้นไปในความสุขเหล่านั้น อย่าจมอยู่กับความสุขด้านเดียวให้เสียดุล แม้ว่าวัตถุจะขาดแคลนเราก็สามารถมีความสุขได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่ง

การศึกษาที่แท้ทำให้คนมีชีวิตที่ครบถ้วนและสมดุล เช่นในด้านความสุข ก็มีทั้งความสุขทางกายและทางใจ ทั้งทางวัตถุและนามธรรม วิกฤติเศรษฐกิจนั้นเป็นปัญหาด้านทรัพย์สินเงินทองสิ่งเสพบริโภคที่เป็นวัตถุ คนที่ฝากชีวิตและความสุขไว้กับวัตถุก็ย่อมทุกข์หนัก แต่คนที่ี่มีชีวิตอย่างสมดุล ก็จะถูกกระทบแผ่วเบาลงไปตามส่วน โดยเฉพาะคนที่พัฒนาทางด้านจิตปัญญาสูง มีอิสรภาพทางจิตใจดี ก็จะทรงตัวไว้และช่วยคนอื่นได้มาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ จิตปัญญาที่พัฒนาดีแล้วนี่แหละ จะมาแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง