วิกฤติเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนไป ความจริง คำว่า วิกฤติ ที่ว่าจะเปลี่ยนไปนั้นไม่แน่ว่าจะเปลี่ยนไปทางร้ายหรือทางดี คือถึงจุดที่ ถ้าพูดด้วยภาษาสามัญก็เรียกว่าย่ำแย่ที่สุดแล้ว พอถึงจุดย่ำแย่ที่สุดก็เป็นจุดเปลี่ยน
ที่ว่าเปลี่ยนนี่ เพราะว่าย่ำแย่แล้ว คนก็เลยนึกไปในทางที่ไม่ดี ความจริงที่ว่าวิกฤตินั้นอาจจะเปลี่ยนไปในทางดีก็ได้โดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง เมื่อแย่หรือตกต่ำถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนก็ต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่อย่าประมาท บางทีแย่ที่สุดแล้วก็กลายเป็นพินาศไปเลย เพราะฉะนั้นจึงมีสองทาง อย่าให้เปลี่ยนจากวิกฤติ เป็นพินาศหรือเป็น วิบัติ วิกฤติกับวิบัติ เป็นคำที่ใกล้ๆ กันอยู่ เราก็ให้เปลี่ยนไปในทางดี ให้เป็น วิวัฒน์ อย่าเป็นวิบัติ เมื่อเป็นวิวัฒน์ก็เจริญต่อไป
ท่ามกลางสภาพที่เป็นวิกฤตินั้นย่อมจะมีข่าวตื่นเต้นมาก คนตื่นเต้นกันอยู่แล้ว ยังได้ยินข่าวตื่นเต้นอีกก็เลยยิ่งตื่นกันใหญ่ ถ้าตื่นเต้นมากก็กลายเป็นตื่นแตก ตื่นแตกก็เสียหาย แล้วก็มัวแต่วุ่นวายกับเรื่องเฉพาะหน้า
ความจริง ในระยะเวลาอย่างนี้ เราอย่าไปมองเฉพาะเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเฉพาะหน้า ถ้ามองแต่เฉพาะหน้าบางทีก็ลืมมองระยะยาว ชีวิตและสังคมของเรายังต้องเดินต่อไปอีกมาก ถ้ามัวแต่มองเพลินเฉพาะหน้าอย่างเดียวโดยไม่คิดตั้งตัวเพื่อมุ่งผลระยะยาว จะทำให้แก้ปัญหาได้ยาก ถ้าเราตั้งสติให้ดี มองไปข้างหน้า บางทีใจเราจะเย็นลง และจะเกิดมีความหวัง เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกับต้องมาเตือนกันว่า โอ! อย่ามัวตื่นเต้นเฉพาะหน้าจนกระทั่งลืมมองระยะยาวไป
ถ้าเรามัวแต่ตื่นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ก็จะเหมือนคนตื่นสงครามหรือแตกตื่น เวลามีเหตุการณ์ร้าย แล้วตื่นตระหนก คนที่ตื่นตระหนกตกใจบางทีตื่นตะลึง เลยใจเตลิดเปิดเปิง แก้ปัญหาไม่ได้ คนที่จะแก้ปัญหาได้ต้องมีสติ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยต้องจำคติว่า “ตื่นตัว อย่าตื่นตูม” ตื่นตัวตื่นได้ แต่อย่าให้กลายเป็นตื่นตูม
ไม่ต้องพูดถึงเวลามีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นหรอก แม้แต่ยามปกติเราก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกว่าไม่ประมาท ตามปกติเราก็ต้องตื่นตัวอยู่แล้ว ยิ่งเวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราก็ยิ่งต้องตื่นตัว แต่อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าอย่าตื่นตูม ตื่นตูมแล้วเดี๋ยวเป็นกระต่าย
กระต่ายที่ตื่นตูมได้พาให้สัตว์ทั้งหลายในป่าพลอยวุ่นวายกันไปหมด ต้องอาศัยผู้มีปัญญาคือราชสีห์เจ้าป่ามาช่วยแก้ปัญหาให้