เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดีที่ตัวมี ต้องรักษาไว้ให้ได้
และใช้เป็นฐานที่จะก้าวไปเอาดีที่ยังไม่มี

ประการที่สองก็คือ ฐานที่ตั้งตัว คนเราจะเดินก้าวสูงขึ้นไปได้ ต้องมีฐานที่ตั้งตัวก่อน เมื่อเรายืนบนฐานนั้นมั่นคงแล้ว เราก็เดินก้าวจากฐานนั้นขึ้นไป ฐานที่ตั้งตัว ต้องมีอยู่ก่อน ฐานที่ตั้งตัวนั้นก็เป็นฐานที่ตั้งต้นด้วย เช่น ตั้งตัวได้แล้วก็ตั้งต้นเดินต่อไป คนไทยเราก็มีฐานตั้งตัวที่จะใช้เป็นที่ตั้งต้นได้ แต่ดูเหมือนว่าเราไม่ใช้มันเป็นที่ตั้งตัวและเป็นที่ตั้งต้น เราก็เลยยากที่จะเดินต่อไปข้างหน้า

แต่เรากลายเป็นอย่างนี้ไปหรือเปล่า คือที่ผ่านมานี้เราได้หลงลอยหลุดออกไปจากฐานของตัวเอง แล้วไประเริงโลดเต้นอยู่บนเวทีที่คนอื่นเขาจัดให้ เช่น บนเวทีโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันในระบบผลประโยชน์ และการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่เขาส่งเข้ามาล่อตาล่อใจเรา ร้ายยิ่งกว่านั้นอีก เราออกไปเล่นระเริงโลดอยู่บนเวทีนั้นแล้วแถมยังไม่ได้ฐานของเขามาอีกด้วย หลุดออกจากฐานของตัวเองแล้วฐานของเขาเราก็ไม่ได้ด้วย กลายเป็นเลื่อนลอยทั้ง ๒ ด้าน

หลุดลอยจากฐานของตัวเองไปแล้ว เมื่อไปไม่ถึงฐานของเขา เราก็ไปหลงเพลินอยู่บนเวทีแห่งภาพมายาที่เขาจัดให้เรา คือบนเวทีแห่งบริโภคนิยมที่เลื่อนลอย

ฐานที่เรามีเป็นอย่างไร เราจะต้องวิเคราะห์ คนที่จะมีฐานที่ตั้งตัวและตั้งต้นที่ดี อย่างน้อยจะต้องสำรวจตัวเองว่าอะไรที่ตนเองมีเป็นทุนเดิม ทุนเดิมดีที่ตัวมีคืออะไร หรือพูดสั้นๆ ว่าดีที่ตัวมี เอาดีที่ตัวมีตั้งเป็นฐานไว้ก่อน แล้วก้าวต่อไป จากนั้นเราอยากจะไปเอาดีใหม่เพิ่มก็ทำได้ แต่ต้องรักษาดีที่ตัวมีไว้แล้วไปเอาดีที่ยังไม่มีให้ได้ด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ย่อมเจริญแน่ แต่ถ้าดีของตัวเองที่มีก็ทิ้ง ปล่อยให้หลุดมือไป และดีที่จะเอาใหม่ก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็หลุดลอยสูญหมด สังคมไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือ ดีเก่าที่ตัวมีก็ไม่รักษา ดีใหม่ที่จะเอามาก็ไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น การเกษตรดีที่ตัวเองมีอยู่ก็รักษาไว้ไม่ได้ ไม่เอา ทิ้ง จะไปเอาของใหม่คืออุตสาหกรรมดีที่ตัวอยากได้ซึ่งตัวเองยังไม่มี ก็เอาไม่ได้ ตกลงก็เสียทั้งสองเลย กลายเป็นสังคมที่เลื่อนลอย

ถ้าเป็นคนเก่งจริง เกษตรของตัวเองดีมีอยู่แล้วก็ต้องรักษาไว้ เรื่องเกษตรฉันต้องเด่น รักษาดีที่มีไว้ได้แล้ว ฉันจะไปเอาอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีอีก ฉันจะต้องเก่งต้องดีทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม อย่างนี้จึงจะเป็นคนฉลาดสามารถจริง

ตอนนี้เกษตรก็หลุด อุตสาหกรรมก็เอาไม่ได้ แสดงว่าฐานตัวเองก็เสีย ไม่ยืนอยู่บนฐานที่ตั้งของตัวเอง แล้วไปโลดเต้นอยู่บนเวทีมายาที่เขาจัดให้อย่างที่ว่า จึงเป็นความสูญเสียที่จะต้องทบทวน ต้องให้ถึงเป้าที่ว่าฐานที่ตั้งตัวและตั้งต้นที่เป็นทุนเดิมที่มีอยู่ของตนเองก็ต้องรักษาไว้ได้ แล้วดีใหม่ก็ก้าวไปเอาให้ได้อย่างมั่นคง ถ้าอย่างนี้ชาติไทยจะก้าวหน้าแน่นอน

เรื่องของวิถีชีวิตเกษตรกรรม เรื่องเศรษฐกิจแบบเกษตร เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จะต้องเอาเป็นฐานให้ได้ ไม่ใช่มีทรัพยากรธรรมชาติมากแทนที่จะใช้เป็นฐานตั้งตัว กลับเป็นแหล่งทรัพยากรที่ให้คนอื่นมากอบโกยเอาไปใช้ อย่างนี้ก็เสียหมด ทุนเดิมที่มีด้านทรัพยากรธรรมชาติจะหาประเทศไหนที่จะมีอย่างไทยก็ยาก เรื่องการเกษตรเราก็มีพื้นฐานเดิมที่ดี รากฐานทางวัฒนธรรมของเราก็ดี ทำไมจะทิ้งไปให้เสียเปล่า

วัฒนธรรมไม่ใช่ว่าจะต้องรักษาไว้หมด บางอย่างก็คลาดเคลื่อนไป ส่วนที่ผิดพลาดก็มี ก็ต้องตรวจสอบดู อย่าดูแค่วัฒนธรรม ต้องดูถึงเหตุปัจจัยของวัฒนธรรม ดูถึงรากฐานของวัฒนธรรมว่า วัฒนธรรมอย่างนี้ วิถีชีวิตอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากฐานที่ไหน เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เอารากฐานนั้นมาวิเคราะห์มาตรวจสอบวัฒนธรรมอีกทีหนึ่ง วัฒนธรรมอาจจะผิดพลาด เราใช้รากฐานเป็นเครื่องตรวจสอบ เอามาใช้แก้ไขวัฒนธรรมและปรับปรุงวัฒนธรรมเข้ากับสภาพแวดล้อมในโลกปัจจุบันให้ได้ผลดีด้วย ไม่ใช่ว่าจะรักษาวัฒนธรรมอย่างทื่อๆ จนกลายเป็นนักปกป้องไป ใครเป็นนักปกป้องก็แสดงว่ากำลังอยู่ในภาวะที่แย่ คนที่ปกป้องตัวก็คือคนที่ตั้งรับ ไม่เป็นฝ่ายรุก แต่เป็นฝ่ายถอยหรือเป็นฝ่ายที่ถูกเขารุก

เวลานี้ดูเหมือนว่า คนไทยกำลังอยู่ในภาวะปกป้องวัฒนธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าคนไทยไม่เก่งจริง วัฒนธรรมไทยไม่เข้มแข็ง ไม่งอกงาม ถ้าเก่งจริงวัฒนธรรมนั้นจะต้องเดินหน้า สามารถแผ่ขยายออกไปให้สังคมอื่นยอมรับ นี่เราได้แค่เป็นเพียงผู้ปกป้องวัฒนธรรมเท่านั้นเอง

อีกอย่างหนึ่ง ศักยภาพในตัวของคนไทยที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะต้องพัฒนาขึ้นมา คนไทยไม่ใช่ว่าจะไม่มีสติปัญญา คนไทยที่เรียนเก่งๆ ขนาดไปนอกสอบได้เป็นที่หนึ่งมีไม่น้อย แต่กลับมาเมืองไทยแล้วเราไม่สามารถใช้ศักยภาพของคนของเราให้ได้ผลดี ดังนั้นเราจะต้องมาตรวจสอบตนเองแล้วทำให้ได้ในข้อที่ว่าฐานเดิมที่ตนมีต้องรักษาไว้ให้ได้ และนำมาใช้เป็นจุดตั้งต้นที่ดีให้ได้ด้วย เพื่อจะได้ใช้เป็นที่ก้าวไปเอาดีที่ยังไม่มีให้ได้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง