เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถึงแม้วิกฤติมา ถ้าสำรวจตัวเอง ก็เริ่มตั้งตัวได้

ที่พูดมานี้ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ที่เราทั้งหลายจะได้เห็นว่า โอกาสนั้นมีอยู่ ในท่ามกลางของปัญหาความทุกข์ยากและความวิกฤตินี้ อย่างน้อยเราก็จะได้สำรวจตัวเอง แล้วก็มีโอกาสที่จะฝึกฝนตนเองด้วย ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่พอเราหันมามองดูเพื่อสำรวจตัวเอง สติก็มา และพอสำรวจก็เริ่มมองเห็นอะไรๆ ปัญญาก็เกิด

ลองเอาพุทธภาษิตบทหนึ่งมาใช้ พุทธภาษิตง่ายๆ บทนี้มีประโยชน์มาก ใช้สำรวจตัวเองของพวกเราได้พอเลย แล้วก็บ่งชี้โอกาสที่จะตั้งต้นเดินทางต่อให้มีความเจริญงอกงามสืบไปด้วย

พุทธภาษิตบทนี้มาในชาดก ง่ายมาก ท่านกล่าวถึงเกณฑ์วัดผลการครองชีวิตของผู้ครองเรือน ว่ามีความสำเร็จหรือความดีขนาดไหน แบ่งเป็น ๔ ขั้น ลองดูซิว่า ๔ ขั้นมีอะไรบ้าง ท่านกล่าวว่า

คนครองเรือนขยัน ดีข้อ ๑
มีทรัพย์แล้วแบ่งปัน ดีข้อ ๒
ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย ดีข้อ ๓
ถึงคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ ดีครบ ๔ (๒๗/๑๑๗๕)

แค่นี้แหละ สำรวจตัวเองได้เลย ๔ ข้อนี้เราได้ครบไหม ได้เกรด A หรือเปล่า เดี๋ยวนี้เขาวัดกัน ๔ ขั้น อย่างนักเรียนที่สอบ ถ้าได้ ๔ ก็เต็ม ดูซิว่าเราได้ ๔ หรือได้แค่ไหน

ที่ผ่านมานี้ เริ่มต้นขั้นที่ ๑ เราขยันจริงไหม ที่เรามีความเจริญรุ่งเรืองจนค่อนข้างจะมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ขนาดที่ว่าปีหนึ่งมีความขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นสูงถึงประมาณ ๘.๕% ก่อนที่จะทรุดฮวบฮาบลงมาติดลบในตอนนี้นั้น ความรุ่งเรืองนั้นเกิดจากความขยันหมั่นเพียรในการสร้างสรรค์หรือในการผลิตเป็นต้นหรือเปล่า หรือเป็นเพียงความเจริญมั่งคั่งตามกระแสที่ไหลลอยมา หรือเป็นเพียงสมบัติที่ยืมเขามาชื่นชม ถ้าความมั่งคั่งรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นในยุคก่อนนั้นเกิดจากความขยันหมั่นเพียรในการสร้างสรรค์จริง ก็นับว่าขยัน ได้ดีข้อ ๑

ต่อไปข้อ ๒ ว่า มีทรัพย์หรือได้ทรัพย์แล้วแบ่งปัน หมายความว่า เวลารุ่งเรืองมั่งมีขึ้นมาแล้วก็รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันกัน เฉลี่ยเจือจานให้อยู่เป็นสุขกันอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ใครมีโอกาสรวยขึ้นมาก็สำเริงสำราญหาความสุขบำเรอตัวมัวเมา ที่ยากไร้ก็ถูกปล่อยให้จนกรอบ ดูซิขั้นที่ ๒ นี้เราได้คะแนนไหม

ต่อไปขั้น ๓ ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย ตอนที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมนี้ เราอยู่กันด้วยความมีสติสำนึกตัว มีความระมัดระวังชั่งใจไม่ประมาท อยู่กันด้วยความเรียบง่ายพอสมควร มีความสันโดษ อยู่อย่างมัธยัสถ์พอดีๆ หรือว่าเหลิงลอย คือฟุ้งเฟ้อ มัวแต่อวดโก้ หลงใหลไปตามค่านิยม ไม่ใช้ปัญญามองดูโลกด้วยความรู้ตระหนักเลื่อนลอยอยู่ในโมหะ ข้อนี้หลายท่านตอบว่า เอ ของเรานี่ดูเหมือนจะค่อนข้างเหลิงนะ และอาจจะเป็นเพราะความเหลิงลอยฟุ้งเฟ้อนั้นแหละ จึงเป็นเหตุให้ร่วงละลิ่วลงมาสู่ความเสื่อมถอยขั้นวิกฤติในปัจจุบัน

ทีนี้มาถึงปัจจุบันก็เข้าในขั้น ๔ คราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ เอาละ ก็มาพิสูจน์ด้วยข้อสุดท้ายกันเลย ตอนที่กำลังวิกฤตินี้เรามีกำลังใจดีไหม ถ้าคะแนนข้อที่ผ่านมาไม่ค่อยดี มาถึงข้อนี้ต้องเอาดีให้ได้ อย่าหมดกำลังใจ ถ้าหมดกำลังใจก็เสียหมด เพราะถ้าเสียทั้ง ๔ ขั้นก็ศูนย์เท่านั้นเอง อย่างน้อยปัจจุบันนี้อย่าให้ศูนย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเสื่อมถอยก็ต้องไม่หมดกำลังใจ แต่ถ้าเราทำดีมาตลอด ได้ ๓ มาแล้ว ตอนนี้ถ้าทำอีก ๑ ก็จะได้เต็ม

เป็นอันว่า ยุคปัจจุบันนี้ข้อสำคัญก็คืออย่าหมดกำลังใจ เอาพุทธพจน์แค่นี้ง่ายๆ เอามาตรวจสอบสำรวจตนเองแล้ว ก็จะเป็นโอกาสในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองต่อไป

ถ้าพวกเราคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจได้แล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งต้น ๑ ใหม่ คือต้องขยันดีข้อ ๑ กันละตอนนี้ ถึงเวลาที่ต้องหันมาเวียนเริ่มต้นวงจรคือต้องขยันดีข้อ ๑ ทำอย่างไรคนไทยเราจะเป็นคนขยัน รู้จักทำรู้จักหมั่นเพียรสร้างสรรค์ไม่ย่อท้อ ข้อสำคัญที่ว่าขยันก็คือ ขยันในการผลิตในการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ขยันแต่ในการบริโภค ถ้าขยันบริโภคก็ลำบาก คำว่าขยันนี่ต้องหมายความว่า ขยันจัดขยันทำคือสร้างสรรค์ นี้เป็นตัวอย่างของการที่จะมองสถานการณ์ให้ได้ประโยชน์ เอาละ ได้พูดถึงเรื่องปัญหาและสำรวจตนเองกันมาพอสมควรแล้ว

เวลานี้ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ตั้งตัวให้ถูกต้องต่อไป คิดว่า การมองในแง่ตั้งต้นให้ถูกนี่ดีที่สุด ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่เมืองไทยจะตั้งต้นสร้างชาติ โดยแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา แล้วก็จัดปรับทำทุกอย่างให้ดีทั้งหมด

การตั้งต้นใหม่นี้เมื่อจำเป็นจะต้องตั้งต้นก็ตั้งต้นให้มันดีที่สุด เรามาเริ่มต้นตั้งแต่การแก้วิกฤติ และนี่ท่านบอกว่าให้พูดเรื่องพุทธวิธีในการแก้วิกฤติของชาติ เรามาตั้งต้นกันตอนนี้ ให้เป็นการเริ่มวิวัฒน์กันที่กลางวิกฤติ นี่แหละ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง