อีกด้านหนึ่งคือ วัฒนธรรมด้านวัตถุ ซึ่งเข้ามาในลักษณะที่ซ้ำเติมให้คนไทยมีวัฒนธรรมที่อ่อน สิ่งนั้นก็คือเทคโนโลยี คำว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะของความเป็นโลกาภิวัตน์ และเป็นปัจจัยสำคัญของโลกาภิวัตน์ การมีสิ่งเหล่านี้ในสังคมต้องมองที่ความหมายของมันต่อสังคมด้วย นั่นคือ ความหมายของเทคโนโลยีต่อสังคมแต่ละแห่งหาได้เหมือนกันไม่ เทคโนโลยีสำหรับเมืองฝรั่งมีความหมายอย่างหนึ่ง ส่วนเทคโนโลยีสำหรับสังคมไทยก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ต่างกันอย่างไร ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า คนไทยพบกับเทคโนโลยีบนพื้นฐานอย่างไร และสังคมตะวันตกได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างไร ความแตกต่างที่เห็นง่ายๆ ก็คือ
สังคมไทยเป็นสังคมที่ได้บริโภคเทคโนโลยีอย่างฉับพลันทันด่วน ไม่ได้สร้างมากับมือตัวเอง ส่วนสังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในฐานะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้น ภูมิหลังที่ต่างกันนี้ มีความหมายในเชิงรากฐานวัฒนธรรม และชีวิตจิตใจ ขอให้ดูสังคมตะวันตกว่ามีเทคโนโลยีขึ้นมาอย่างไร
หนึ่ง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีเราจะเชื่อมโยงไปที่วิทยาศาสตร์ เราบอกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันนี้เป็นเทคโนโลยีในยุคที่มีความก้าวหน้า เป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หมายความว่าเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญ เมื่อเทคโนโลยีเกิดจากวิทยาศาสตร์ก็ต้องดูว่า ชาวตะวันตกพัฒนาวิทยาศาสตร์มาอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงภูมิหลังมากมาย เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นจนกระทั่งแพร่หลายในสังคมนั้น คนมีความเชื่อในเชิงวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่พัฒนามาก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้น คือความมีชีวิตจิตใจแบบวิทยาศาสตร์ที่มีความใฝ่รู้และเชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในการพิสูจน์ทดลอง ไม่หลงเชื่อในสิ่งใดง่ายๆ สภาพจิตใจอย่างนี้ออกมาสู่วิถีชีวิตและเกิดเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ หมายความว่าการที่ฝรั่งจะได้เทคโนโลยีมานี้ เขาต้องผ่านการสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดมีชีวิตจิตใจและวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาได้คือ สภาพชีวิตจิตใจที่เป็นผู้มีความใฝ่รู้ เชื่อในเหตุผล มีวิจารณญาณ ไตร่ตรอง พยายามพิสูจน์ในสิ่งต่างๆ
สอง ฝรั่งสร้างความเจริญทางเทคโนโลยีเพื่อเอามาใช้ในทางอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบและเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมจะเจริญหรือสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยีก็อาศัยอุตสาหกรรม ฝรั่งพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นจนเกิดมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกิดจากความใฝ่ฝันในการผลิตและสร้างสรรค์ หรือเกิดจากวัตถุประสงค์เพื่อเอาชนะความขาดแคลน กล่าวคือฝรั่งมีชีวิตที่ถูกบีบคั้นจากภัยธรรมชาติ ประสบความขาดแคลน ดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย เขาจึงดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจากความขาดแคลนนั้น โดยมุ่งที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้น เขาจึงได้พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้น และจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมอันยาวนานนั้น เขาก็เกิดมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมขึ้นมา
การมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมคือการมีนิสัยสู้งานและความเหนื่อยยาก มีความเพียรพยายาม ที่เรียกว่าอุตสาหะ ฝรั่งจึงเรียกอุตสาหกรรมว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร ซึ่งเราได้นำมาแปลเป็นภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม หมายถึงการกระทำด้วยความอุตสาหะ ฉะนั้นตัวพื้นฐานของอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องของความเพียร ความขยัน การทนสู้ ฝรั่งพัฒนาอุตสาหกรรมมาด้วยการต่อสู้อย่างมาก โดยมีความขยันขันแข็งและอดทน ดังที่เขามีจริยธรรมในการทำงานซึ่งเขาภูมิใจนักหนาเรียกว่า work ethic หรือ protestant ethic ซึ่งเป็นจริยธรรมในการทำงาน โดยมีความสันโดษเป็นหลัก
ความสันโดษ หมายความว่า เขาจะไม่บำรุงบำเรอปรนเปรอตัวเอง ไม่ยอมตามใจตัวเองในการหาความสุข แต่เขาจะเป็นอยู่อย่างง่ายๆ และขยันหมั่นเพียรทำการงาน เงินกำไรที่ได้มาแล้วก็อดออมไว้เอามาลงทุนทำการงานต่อไป นี่เป็นวัฒนธรรมในการทำงานของฝรั่ง ที่สู้ทน มีความขยันหมั่นเพียรเพื่อสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมา ทำให้เกิดความเจริญและการพัฒนา
ปัจจุบันฝรั่งได้พ้นยุคอุตสาหกรรม พ้นยุคแห่งความขยันหมั่นเพียรเปลี่ยนมาเป็นยุค post-induatrial society คือผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม กลายมาเป็นยุคสังคมบริโภค (consumer society) แต่วัฒนธรรมอุตสาหกรรมได้ถูกสร้างสรรค์มาเป็นเวลานานแล้ว จนฝังลึกเป็นชีวิตจิตใจที่มีความขยันขันแข็ง ความอดทน ความสู้สิ่งยาก นี้แหละเป็นลักษณะของชีวิตอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีของฝรั่งที่เขาสร้างมาด้วยตัวของเขาเอง ผ่านภูมิหลังที่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม โดยที่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ทำให้เขาใฝ่รู้ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมทำให้เขาสู้สิ่งยาก คุณสมบัติ ๒ อย่างนี้คือ ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในระบบแข่งขันของอารยธรรมยุคปัจจุบันนี้ ถ้าใครขาดความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก ก็ยากที่จะพัฒนาได้ คนญี่ปุ่นมีลักษณะใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก จึงสู้กับฝรั่งได้