การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สังคมต้องไม่ถูกครอบงำด้วยความพร่ามัว
และความเลื่อนลอย

เมื่อพูดถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องมองที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์เป็นทรัพยากรที่ดี เป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ดี เราต้องดูสภาพปัญหาในปัจจุบันว่า ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในท้องถิ่นหรือปัญหาในสังคม ปัญหาในประเทศไทย หรือปัญหาของโลกก็ตาม สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาก่อนคือ สภาพสังคมไทยซึ่งครอบคลุมไปถึงสภาพท้องถิ่นด้วย

สังคมไทยเวลานี้มีสภาพที่น่าเป็นห่วง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาควรมุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพที่ตัวคน คือ ตัวนักเรียน เราลองมาดูสภาพของสังคมขณะนี้ว่ามันส่อแสดงหรือบอกคุณภาพของคนหรือไม่ คนของเราเป็นทรัพยากรที่ดีที่จะสร้างสรรค์สังคมได้หรือไม่ เช่นในเรื่องประชาธิปไตย คนของเรามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำเสมอในขณะนี้คือ สภาพความคิดความเชื่อของผู้คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องรากฐานของสังคม สภาพความคิดความเชื่อของสังคมเป็นตัวบ่งชี้ถึงชะตากรรมของสังคมด้วย

ได้เคยเสนอว่า เวลานี้สังคมไทยมีสภาพอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ความแพร่หลายของความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมมาก จะปล่อยทิ้งให้คลุมเครืออยู่ไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยกันมานานแล้ว การพัฒนาสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทพเจ้าและไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่พร่ามัว เราจะจมอยู่กับความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือกระนั้นหรือ

จริงอยู่ คนเรานั้นจะให้รู้ชัดเจนในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้พยายามแสวงหาความชัดเจนหรือไม่ หรือยอมอยู่ภายใต้อำนาจความคลุมเครือ และความพร่ามัวนั้น สิ่งสำคัญคือ อย่างน้อยเราจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำมาพูดจาถกเถียงกันให้ชัดเจน มิฉะนั้น สังคมไทยจะอยู่ด้วยความพร่ามัวและความคลุมเครือเหล่านี้เรื่อยไป สังคมที่ไม่มีความชัดเจนและพร่ามัวนั้นพัฒนาได้ยาก ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันมีความสำคัญมาก

ความเชื่อถือและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้า ผีสาง อิทธิ ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของผู้อื่น หรือหวังพึ่งปัจจัยภายนอก การหวังพึ่งความช่วยเหลือของผู้อื่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหวังพึ่งคนมีอำนาจ หรือหวังพึ่งอำนาจลี้ลับก็ตาม ก็มีผลทำนองเดียวกัน คือทำให้อ่อนแอลงและเพาะนิสัยประมาท

แม้แต่ในกรณีที่ควรมีการช่วยเหลือกันตามบทบาทหน้าที่ (โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ เช่น ผู้ปกครองกับราษฎร) ถ้าอำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นให้ความหวังเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่คลุมเครือ มีขอบเขตไม่ชัดเจนว่าฝ่ายที่ช่วยจะช่วยแค่ไหน และฝ่ายถูกช่วยจะต้องทำเองเท่าใด จะเกิดภาวะรีๆ รอๆ ครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ไม่ทำ การช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้เป็นโทษมาก ถ้าให้รู้แน่นอนลงไปว่าไม่มีใครช่วย จะดีกว่า คนที่รู้ชัดว่าไม่มีใครช่วย และจะต้องช่วยตัวเองอย่างเดียวแน่นอน แม้แต่สิ้นไร้ที่สุดก็จะดิ้นสุดฤทธิ์ เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาและก้าวต่อไปได้ ดีกว่าคนที่มิใช่จะยากไร้นักหนา แต่มัวรีรอหันรีหันขวางอยู่กับความหวังที่ไม่ชัดเจน

เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก ขยายความอีกหน่อยก็ได้ว่า เวลานี้เรานับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก และเอาไสยศาสตร์เป็นส่วนประกอบ หรือว่านับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก และเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบ ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้อาจจะมีข้อพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น

ลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมที่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ก็คือ นอกจากความพร่ามัว และคลุมเครือแล้ว ยังมีการหวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย คนไทยจำนวนมากเวลานี้หวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย โดยเฉพาะจากไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ชัดเจน จะเอาแน่ลงไปก็ไม่ได้ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่เชิง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญก็คือการมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะมีจริงหรือเป็นจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง