ฉันทะ แปลขยายศัพท์ว่า กัตตุกัมยตา ซึ่งแปลว่า ความอยากที่จะทำ คืออยากสร้างสรรค์ ถ้าเราพัฒนาเด็กผิดทางโดยพัฒนาแต่ในทางตัณหา เด็กก็จะมีแต่ความอยากได้แต่ไม่อยากทำ อยากเสพแต่ไม่อยากสร้างสรรค์ แล้วทั้งชีวิตของเขาและสังคมก็จะมีแต่ปัญหา เวลานี้จึงควรแยกคนให้ชัดเป็น ๒ ประเภท
พวกที่ ๑ (ได้รับการศึกษาที่ผิด คือไม่มีการศึกษา) อยากจะได้ใฝ่เสพ แต่ไม่อยากทำ หวังสุขจากการเสพ และทุกข์จากการต้องทำ
พวกที่ ๒ (มีการศึกษาคือพัฒนาอย่างถูกต้อง) อยากจะทำให้ดีใฝ่สร้างสรรค์ มีความสุขจากการทำและการสร้างสรรค์
คนเราจะมีฉันทะ คือมีความอยากที่ดีที่ถูกต้องได้ ต้องมีการพัฒนาปัญญามาคู่กัน
ความอยากที่เป็นตัณหา กับความอยากที่เป็นฉันทะ ต่างกันอย่างไร?
คนเราเกิดมามีอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้รับรู้และรู้สึก สำหรับด้านความรู้สึกจะนำไปสู่การเกิดความอยากประเภทกิเลสตัณหา คืออยากเสพ เช่น เมื่อได้ลิ้มรสอาหาร จะรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย ถ้าอร่อยก็อยากกินอีก ถ้าไม่อร่อย ก็อยากจะเลิกหรือเลี่ยงหนี ความอยากประเภทนี้ คือตัณหา ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีความรู้ เรียกว่ามีอวิชชาเป็นตัวเอื้อ อวิชชากับตัณหาไปด้วยกัน
ถ้าการศึกษาเริ่มต้นคือคนเริ่มพัฒนา ก็จะมีการเรียนรู้เช่น ด้วยการตั้งคำถามว่าเรากินเพื่ออะไร เมื่อถามว่าเรากินเพื่ออะไร ก็มีการคิดพิจารณา และปัญญาก็เริ่มมา แล้วก็จะได้คำตอบทางปัญญาว่า กินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่ใช่กินเพียงเพื่ออร่อย แล้วความรู้นี้ก็จะทำให้เราปรับพฤติกรรมการกินทันที เราไม่ได้กินเพื่ออร่อย ถ้ากินเพียงเพื่ออร่อย ก็กินด้วยอยากเสพ กินมากเกินไปหรือกินอาหารที่มีพิษภัย กินอาหารอร่อยแต่ทำลายสุขภาพ แต่เมื่อเราเรียนรู้ว่ากินเพื่อสุขภาพ เราก็จะปรับพฤติกรรมทันที โดยจำกัดปริมาณอาหารที่กิน และเลือกประเภทอาหารที่มีคุณค่า พร้อมกันนั้นก็จะเกิดความอยากชนิดใหม่ คือ อาหารอะไรที่มีคุณค่าต่อร่างกายก็อยากจะกิน ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยอร่อย ส่วนอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกายแม้จะอร่อยแต่ไม่อยากกิน ปัญญาเกิดขึ้นก็ยั้งหรือลดอิทธิพลของตัณหาทันที และทำให้เกิดฉันทะคือความอยากในสิ่งที่ดีงาม นี่แหละคือฉันทะ ได้แก่ความอยากที่ถูกต้อง ซึ่งมากับการศึกษา มาจากการเรียนรู้ มาจากปัญญา
ตัณหานั้นมากับอวิชชา อาศัยอวิชชาเป็นตัวเอื้อ ตัณหามาได้ทันทีโดยเป็นปฏิกิริยาต่อความรู้สึก แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้นตัณหาก็จะถูกหยุดยั้ง และฉันทะจะเพิ่มขึ้นมาแทนที่
คนไทยเรานี้คล้ายกับว่าจะรู้จักความอยากประเภทเดียวคือตัณหา ไม่รู้จักความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ดังนั้นการศึกษาจึงขาดองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง คือฉันทะที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ด้วยเหตุนี้ในการศึกษาเฉพาะหน้าขณะนี้ สิ่งที่ต้องเน้นให้มากคือฉันทะ และโยนิโสมนสิการ
ในตัวอย่างเมื่อกี้ การคิดว่า กินเพื่ออะไร และเรียนรู้ว่ากินเพื่อให้มีสุขภาพดี นี้คือโยนิโสมนสิการ ส่วนฉันทะคือความอยากกินสิ่งที่ดีงาม ที่เสริมคุณภาพชีวิต จะเห็นว่าปัญญาตามมาจากความอยากรู้ว่าสิ่งใดดี เมื่อเรียนรู้แล้วก็พยายามทำให้สำเร็จ คือ ให้เกิดสิ่งที่ดีนั้น แม้จะยากลำบากก็สู้ ดังนั้นความเข้มแข็งสู้สิ่งยากก็ตามมาอีก เราจะต้องสร้างกระบวนการนี้ให้เกิดแก่เด็กของเราให้ได้เพราะอันนี้เป็นกระบวนการศึกษาตามธรรมชาติ
หลักธรรมในพุทธศาสนานั้น แสดงความจริงตามธรรมชาติเกิดจากการสังเกตชีวิตจิตใจของมนุษย์ตามที่มันเป็นของมัน สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าข้อนี้มาแล้ว ข้อนั้นจะตามมาโดยไม่ต้องเรียกร้องเพราะมันเป็นกระบวนการธรรมชาติมันเป็นไปเองตามเหตุปัจจัยของมัน
จุดที่ต้องการเน้น คือ ต้องสร้างความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากให้เกิดขึ้นกับเด็ก และความใฝ่รู้สู้สิ่งยากนี้ต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความใฝ่ดี หรืออาจจะพูดสั้นๆ ว่า สร้างความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก บนรากฐานแห่งความใฝ่ดี จึงต้องสร้างความใฝ่ดีให้เกิดให้ได้ แล้วโลกก็จะประสบความสำเร็จในการศึกษา เมื่อเด็กไปพบเห็นสิ่งใดหรือเกี่ยวข้องกับอะไรๆ เขาก็อยากให้สิ่งนั้นดีและอยากทำสิ่งนั้นให้ดีดังนั้นเมื่อเขาทำงานเขาก็จะต้องทำงานทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้แต่ความเป็นเลิศทางวิชาการก็จะสำเร็จตามต้องการ