วิธีการที่จะทำให้เกิดคุณลักษณะใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ได้สำเร็จนี้จะทำอย่างไร ?
ตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงหลักธรรมไว้ข้อหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งคนไทยมองข้ามไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ก่อนอาทิตย์อุทัย จะมีแสงเงินแสงทองปรากฏขึ้นก่อนฉันใด เมื่อชีวิตดีงามที่เรียกว่ามรรค จะเกิดขึ้น ก็มีสิ่งเหล่านี้เกิดนำมาก่อนฉันนั้น” (ขุ.ม. ๑๙/๑๒๙-๑๔๕)
สิ่งหนึ่งที่พระองค์ตรัสอย่างสม่ำเสมอคือ ความอยาก (ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเข้าใจเกี่ยวกับความอยากผิดๆ ว่าชาวพุทธต้องไม่มีความอยาก ความอยากเป็นตัณหา จะต้องละ ลดความอยาก) ความอยากมี ๒ ประเภท คือ ความอยากที่เป็นอกุศล และความอยากที่เป็นกุศล
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ ลด ละ ควบคุม ความอยากที่เป็นอกุศล แล้วให้พัฒนาความอยากที่เป็นกุศล ความอยากที่เป็นกุศลนี้สำคัญอย่างยิ่ง ท่านถือว่าเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ความอยากนี้คือความใฝ่ดี คนที่ใฝ่ดีนั้นเมื่อเขาไปพบหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม เขาจะอยากทำให้สิ่งนั้นดีที่สุด เช่น เมื่อเดินไปบนถนน พบเห็นถนนสกปรกจะรู้สึกปล่อยไว้ไม่ได้ อยากจะทำให้ถนนสะอาดเรียบร้อย
การที่เมื่อไปพบไปสัมผัสกับสิ่งใดแล้วต้องการให้สิ่งนั้นดี อยากจะให้ดีนั้นเรียกว่าฉันทะ ซึ่งมีอยู่ในอิทธิบาท ๔ เป็นทางแห่งความสำเร็จ แต่เราใช้แคบไป (ฉันทะเป็นศัพท์ที่ใช้ทั่วไป) เวลานี้เราประสบปัญหามาก จากระบบการทำงานที่ต้องแข่งขันกัน และในการแข่งขันนั้นถ้าคนไม่มีคุณภาพก็ยากที่จะพบความสำเร็จ เมื่อวางระบบงานที่ต้องแข่งขันกันทำ แต่ละคนทำตามหน้าที่ไป บางครั้งอาจทำเพียงแค่หวังผลตอบแทนทำงานให้เสร็จพอได้รับผลตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ
ฉันทะเป็นตัวกลาง ความหมายคือ เมื่อต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม ก็อยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะดีงาม เมื่อฉันทะเกี่ยวข้องกับคนเราเรียกว่าเมตตา (เมตตาเป็นอาการที่เกิดจากฉันทะ) กรุณา มุทิตา
เมตตา อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดี
กรุณา อยากให้พ้นภาวะที่ไม่ดี ไปสู่ภาวะที่ดี
มุทิตา อยากส่งเสริมเขาให้มีภาวะที่ดียิ่งขึ้นไป
เมื่ออยากให้เขาดี อยากให้สิ่งนั้นดี มีความใฝ่ดี ก็ต้องแสวงหาความรู้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะเกิดผลดี นั่นคือมีความใฝ่รู้ แล้วปรารถนาจะทำให้สำเร็จ ต้องการให้งานบรรลุจุดหมายที่ดี จึงมีการพัฒนาฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เข้มแข็งสู้สิ่งยากได้ นั่นคือเป้าหมายของการพัฒนาเด็ก
การพัฒนาเด็กต้องทำให้เกิดฉันทะคือความอยากรู้และอยากดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และรู้จักคิด พร้อมทั้งความสุขจากการเรียนรู้และสนองความใฝ่รู้ โดยเริ่มต้นจากการเรียนการสอนที่ฝึกหรือนำทางให้เด็กมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง เช่น ปัจจุบันมีเครื่องเล่นที่สวยงาม มีสีสันฉูดฉาด ถูกตาถูกใจ เมื่อพ่อแม่พาไปห้างสรรพสินค้าเด็กได้เห็นสิ่งที่มีสีสันน่าดู ก็จูงมือแม่เข้าไป ตอนนี้แหละเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่จะฝึกฝนเด็กให้มีโยนิโสมนสิการ (การรู้จักคิดทั้งในเชิงหาความจริง และในเชิงสรรประโยชน์) ถ้าเราไม่ฝึกเด็กให้รู้จักคิด เด็กจะไหลไปสู่กระแสที่เป็นทางตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ คือกระแสแห่งความชอบชัง
ในกรณีนี้ ถ้าพ่อแม่พูดกับลูกได้แค่ว่าอันนี้สวย อันนี้ไม่สวย อันนี้สวยกว่า เอาอันนี้ดีกว่า ก็เท่ากับดึงเด็กให้จมอยู่ในกระแสแห่งความชอบชัง (กระแสแห่งตัณหา) โดยไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้พัฒนาอะไร แต่ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจรู้เท่าทัน ก็จะนำเด็กเข้าสู่กระบวนการแห่งการเรียนรู้ เช่น ด้วยการให้รู้ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไร ฯลฯ เด็กก็จะฝึกโยนิโสมนสิการขึ้นมา
คนเรามีการรับรู้แบบพื้นฐานที่ไม่ต้องสอน ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องมีสิกขา (ไม่ต้องเรียน) คือรับรู้ตามความรู้สึกว่าชอบใจ ไม่ชอบใจ เมื่อสบายตาก็ชอบใจ ไม่สบายตาก็ไม่ชอบใจ ที่ทางพระเรียกว่า ยินดียินร้าย เป็นการวนเวียนอยู่ในกระแสอวิชชา และตัณหา
ตัณหา คือชอบใจไม่ชอบใจ อยากเอาหรือไม่อยากเอา อย่างหนีอยากทำลาย เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึก
ส่วนโยนิโสมนสิการ คือให้รับรู้ด้วยปัญญา แทนที่จะให้เด็กรับรู้แบบชอบใจและไม่ชอบใจเท่านั้น ถ้าพ่อแม่กระตุ้นเร้าหรือไปเสริมตัณหาให้เด็กรับรู้แบบชอบใจหรือไม่ชอบใจ เด็กก็จะไม่ได้อะไรแต่จะวนเวียนติดอยู่เพียงแค่นั้น ส่วนเด็กที่พ่อแม่ฝึกให้รู้จักโยนิโสมนสิการ จะเกิดปัญญา โดยเด็กจะพัฒนาด้วยปัญญาของตน
ในชีวิตประจำวัน เรามักพบว่าพ่อแม่คนไทยจะคอยซ้ำเติมเด็กในด้านตัณหามาก เด็กจะได้รับการย้ำเติมกระแสของความชอบใจและไม่ชอบใจมาก มากจนกระทั่งเด็กที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น ต่อไปอาจจะถูกปิดถูกบังจนกลายเป็นว่าจะทำสิ่งใดก็ขึ้นอยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ แทนที่จะพัฒนาความอยากรู้อยากเห็น ให้ก้าวไปสู่โยนิโสมนสิการ