สิ่งที่เป็นจุดเน้นอย่างสำคัญที่เราควรจะช่วยให้เขาสร้างขึ้น ซึ่งเราควรพิจารณาตรวจตราว่าเขาขาดอะไรหรือไม่ ก็คือสิ่งที่พูดมาแล้วนั้น ซึ่งเป็นจุดพื้นฐาน คือองค์ประกอบในการพัฒนาตน หรือองค์ประกอบในการดำเนินชีวิตที่ดีงามข้างต้นนั้น เราเอาเป็นตัวตรวจสอบ เมื่อขาดอันไหนก็พยายามที่จะให้เขาพัฒนาสร้างอันนั้นขึ้นมา
องค์ประกอบในการพัฒนาตน ที่จะต้องตรวจตรา ที่ว่ามาแล้วข้างต้น จะขอทวนอีกทีหนึ่ง คือ
๑. ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลาย ได้แก่การมองสิ่งทั้งหลายเป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่มองตามความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ มองตามที่มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่เราอยากให้มันเป็น หรือตามที่คิดให้มันเป็น คนเรานี้จะมีปัญหามากก็ที่จุดเริ่มต้นนี้แหละ เมื่อพบกับประสบการณ์ต่างๆ คนจะมองในแง่ชอบชัง แล้วก็มองให้มันเป็นตามที่เราคิดให้มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่มันเป็นของมัน เราจะต้องเปลี่ยนท่าทีนี้ให้ได้ พระพุทธศาสนาเน้นมาก
เมื่อมองตามที่มันเป็น ก็นำไปสู่ ยถาภูตญาณ คือ ความรู้ตามที่มันเป็น ไม่ใช่รู้ตามที่เราคิดอยากให้มันเป็น แต่มนุษย์ส่วนมาก ซึ่งมองตามที่คิดให้มันเป็นหรือตามที่อยากให้มันเป็น ก็จะรู้ตามที่คิดให้มันเป็น และรู้ตามที่อยากให้มันเป็น ก็จึงแก้ปัญหาไม่ได้ และยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ดังนั้น ในการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาปัญญา จึงต้องเปลี่ยนเป็นว่ารู้ตามที่มันเป็น ซึ่งจะเป็นการรู้ความเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยต่างๆ นี่คือการมีท่าทีหรือมีเจตคติที่ถูกต้อง
๒. ความมั่นใจในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตน ดูว่า เขามีความมั่นใจในตัวเอง เขาเชื่อว่าพัฒนาตนได้ และเห็นว่าจะต้องพัฒนาตนนั้นหรือไม่
๓. จิตสำนึกในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง ถ้าเขามีจิตสำนึกนี้อยู่ ก็จะทำให้เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาตน เริ่มตั้งแต่เอาใจใส่ในการที่จะเรียนรู้ แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน หรือไม่มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว เขาก็จะไม่เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไป จึงต้องสำรวจดูด้วย
๔. แรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตน ต้องตรวจสอบดูว่า เขามีความใฝ่ความจริง ใฝ่ความดีงาม หรือใฝ่จริงใฝ่ดี คือมีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ หรือพูดง่ายๆ ว่า ใฝ่ปัญญาหรือไม่
๕. จิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดความกระตือรือร้น เร่งรัดตัวเองในการทำหน้าที่การงาน ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และเอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตน อย่างที่เรียกสั้นๆ ว่าไม่ประมาท
๖. ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่เรียกง่ายๆ ว่าคิดเป็น เช่น คิดตามแนวทางความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตามแนวทางของความเป็นเหตุเป็นผล ดูว่า เมื่อมีประสบการณ์ หรือตกอยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเขามองและคิดอย่างไร เขาคิดก่อนว่าอันนี้คืออะไร อันนี้มีคุณมีโทษอย่างไร คิดสืบสาวค้นไปหาเหตุของมันว่าเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร หรือว่าคิดไม่เป็นกระบวนหรือไม่คิดเลย ปล่อยตัวให้ประสบการณ์ที่เข้ามานั้นนำพาไปเลย
ที่ว่าคิดเป็นนั้นมีหลายอย่าง คิดสืบสาวตามเหตุปัจจัยก็มี คิดในแง่รู้จักคุณรู้จักโทษของมันตามเป็นจริงก็มี มองและคิดในแง่ที่จะให้สิ่งนั้นเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนก็ได้
ของอย่างเดียว แต่ความคิดของคนต่อของนั้นไม่เหมือนกัน คนมองสิ่งของนั้นต่างกันไป ตามพื้นฐานภูมิหลังประสบการณ์ที่สะสมมา ทั้งนี้ตัวกำหนดอันสำคัญที่จะหักเหได้ ก็คือการคิดหรือกระบวนการคิดของเขา
แม้แต่คนคนเดียว ต่างเวลาต่างโอกาสก็ยังคิดไม่เหมือนกัน พบประสบการณ์หรือสิ่งหนึ่งในเวลาหนึ่ง คิดนึกและรู้สึกไปอย่างหนึ่ง พอผ่านไปอีกระยะหนึ่งเห็นสิ่งเดียวกันนั้น กลับคิดนึกรู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง สมัยหนึ่งชอบสมัยหนึ่งชัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง แต่คนเรามีกระบวนการคิด มีตัวกำหนด มีปัจจัยในการคิดนั้นต่างกันไป
ในกรณีอย่างนี้ ถ้ามีโยนิโสมนสิการ ก็จะเริ่มจากท่าทีการมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมัน มีการสืบสาวหาเหตุปัจจัย หรือไม่ก็มองในแง่ที่จะทำให้เกื้อกูลต่อจิตใจ และเกิดประโยชน์ เช่น ไปพบเห็นคนยากจนนอนเจ็บป่วย คนหนึ่งมองด้วยพื้นจิตใจอย่างหนึ่งก็เกิดความรังเกียจ แต่อีกคนหนึ่งมองด้วยพื้นจิตใจอีกอย่างหนึ่ง หรือรู้จักคิด มองไปแล้วกลับเกิดความรู้สึกสงสาร ไม่เหมือนกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องของการรู้จักคิด
การแนะแนวนี้จะทำให้คนรู้จักคิด คิดในทางที่ให้เกิดความรู้และผลดี รวมเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ คือ
๑. มองในแง่ของความรู้ และคิดในทางที่ทำให้เห็นความจริง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แล้วจะได้ปฏิบัติถูกต้อง และ
๒. อีกแง่หนึ่งคือ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ต้องการความรู้หรือความจริง ก็คิดในทางที่จะทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิต ทั้งผลดีแก่ชีวิตของตนเอง และผลดีต่อสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์
การคิดแบบที่หนึ่ง ก็คือ การค้นหาความจริง โดยมองและคิดตามที่มันเป็น เช่น การสืบสาวหาเหตุปัจจัย ส่วนการคิดแบบที่สอง ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เช่นเรามองเห็นคนๆ หนึ่งอดโซอยู่ เนื้อตัวมอมแมม ถ้าคิดไปในทางหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกรังเกียจเหยียดหยาม อย่างนี้เป็นผลดีแก่ชีวิตของเราไหม ก็ไม่ดี เป็นผลดีแก่จิตใจของเราไหม ก็ไม่ดี เป็นผลดีแก่สังคมไหม ก็ไม่ดี มีแต่ก่อให้เกิดโทษ ดังนั้นการคิดอย่างนี้ไม่ดี ไม่ควรคิด ต้องพัฒนาวิธีคิดใหม่ โดยใช้โยนิโสมนสิการ คือคิดในทางที่ให้เกิดความรู้สึกสงสาร อยากจะช่วยเหลือ เกิดความเมตตากรุณา จิตใจตัวเองก็สบาย พร้อมกันนั้นก็เป็นไปในทางที่จะแก้ปัญหา เกื้อกูลต่อกัน ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม
ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่การรู้จักคิด หรือคิดเป็นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวกันนี้ปรากฏแก่คนที่รู้จักคิด และคิดเป็นแล้ว ก็จะมีความหมายไปในทางที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามที่มันเป็นจริง และทำให้เกิดความดีงาม