ทีนี้แคบเข้ามาอีก ก็คือกระบวนการในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งแยกได้เป็นสามช่วง เราจะให้คนรู้จักสำรวจตัวเอง และเราก็ช่วยสำรวจ จะโดยเขารู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ให้เขาดูตัวเองหรือดูตัวเขาให้ถูกต้อง
ในการที่จะให้ชีวิตงอกงาม จะมีการปฏิบัติในสามช่วงของกระบวนการ คือ
๑. ช่วงรับเข้ามา อันนี้ก็คล้ายๆ กับที่พูดมาแล้ว แต่ในที่นี้นำเสนออีกแบบหนึ่ง เป็นการนำเสนอในช่วงของชีวิตประจำวัน
๒. ช่วงแสดงออก หรือช่วงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสภาพแวดล้อม
๓. ช่วงสร้างสรรค์พัฒนาตนเองขึ้นไป หรือช่วงเจริญงอกงาม
สองช่วงต้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ช่วงที่สามสุดท้ายนี้บางคนก็มีบางคนก็ไม่มี การดำเนินชีวิตที่ดีงามจะต้องครบสามช่วง ทั้งช่วงรับเข้า ช่วงแสดงออกไป และช่วงที่สามคือ ช่วงเจริญงอกงามยิ่งขึ้น
ช่วงที่หนึ่ง คือในช่วงที่รับประสบการณ์เข้ามา ซึ่งจะต้องมีท่าทีต่อประสบการณ์ทั้งหลาย และท่าทีต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างที่บอกแล้วว่าเมื่อรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ ก็ให้รับรู้ในลักษณะที่เป็นการเรียนรู้ ให้ได้ข้อมูลของความรู้ ให้รับรู้โดยมองตามที่มันเป็นของมัน ไม่ใช่มองตามที่เราอยากให้มันเป็นหรือคิดให้มันเป็น ไม่คิดปรุงแต่งไปตามอิทธิพลของความยินดียินร้ายชอบชัง ไม่ให้อคติ ไม่ให้ความโลภ ไม่ให้ความโกรธ และไม่ให้ความหลงมาครอบงำจิตใจของเราได้ เมื่อรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ก็ให้รับรู้ในลักษณะที่เป็นการเรียนรู้ นั้นคือช่วงที่หนึ่ง
ช่วงที่สอง คือช่วงแสดงออก ได้แก่การที่เรากระทำกิจกรรมที่เป็นการตอบสนองออกไป โดยมีปฏิกิริยาออกไปต่อบุคคล ต่อสภาพแวดล้อม ต่อสถาบัน ต่อสังคมส่วนรวม
เราจะแสดงออกอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นการแสดงออกอย่างถูกต้องและเหมาะสม คือมีการแสดงออกไปข้างนอก ที่ทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง แก่สิ่งแวดล้อม แก่สังคม คำตอบก็คือการแสดงออกที่ไม่เป็นการเบียดเบียน ไม่เป็นภัยอันตราย หรือก่อผลเสียหายแก่ผู้อื่น แต่เป็นการกระทำ ที่ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาสังคมและสภาพแวดล้อม
ในการแสดงออกของคนเรา เมื่อคำนึงถึงการที่จะพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เราก็จะทำการแสดงออกที่มีลักษณะของความมุ่งหมายในทางที่ดีงาม ไม่กระทำในลักษณะของการที่มีกิเลสเข้ามาครอบงำ
เราจะต้องชัดในความมุ่งหมายว่า การแสดงออกนี้ ที่เป็นการกระทำถูกต้องดีงามเกื้อกูลต่อผู้อื่น หรือต่อสังคม หรืออย่างน้อยไม่เป็นการเบียดเบียนก่อความเสียหายนั้น ย่อมมีความหมายเป็นการพัฒนาตนเอง หรือทำให้เกิดการพัฒนาตนของตัวเราเองด้วย เมื่อคำนึงว่า เราจะแสดงออกต่อบุคคลนั้น ต่อสิ่งนั้น ต่อกิจกรรมนั้นอย่างไรจึงจะเกิดผลดี ด้วยวิธีนี้ก็จะมีความมุ่งหมายเกิดขึ้น การแสดงออกก็จะมีลักษณะที่ว่าเรามีการควบคุมตนเองได้ มีสติสัมปชัญญะ
มีสติ คือ การระลึกได้ ที่จะควบคุมตนเองให้อยู่กับความมุ่งหมายนั้น มีสัมปชัญญะ คือรู้ตระหนักว่าความมุ่งหมายนี้มีคุณค่าที่สัมพันธ์และเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของเราได้อย่างไร นี้คือการแสดงออกที่มีผลดี เพราะฉะนั้น การแสดงออกของคนที่มีการศึกษา หรือกำลังพัฒนาตนเองนี้ ก็จะเป็นการแสดงที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะทำให้ชีวิตของตนเองเป็นชีวิตที่ดีงาม แล้วก็เป็นชีวิตที่ดีของสังคม และเป็นชีวิตที่เกื้อกูลต่อโลกด้วย อันนี้เป็นช่วงที่สองที่พูดมาพอคร่าวๆ
ช่วงที่สาม คือช่วงเจริญงอกงาม เป็นช่วงที่ว่าชีวิตที่ดีงามนี้มีความสัมพันธ์ในช่วงก่อนๆ ดีมาแล้ว ถ้าเป็นท่าที ก็เป็นท่าทีของการเรียนรู้อยู่แล้ว เป็นท่าทีของการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีการแสดงออกในลักษณะที่เป็นการเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงามอยู่แล้ว พอถึงตอนนี้ก็มีความพร้อม ในการที่จะเอาข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับเข้ามาอย่างดีนั้น เอามาใช้ในการพัฒนาชีวิตของตนเอง ทำการแก้ไขปรับปรุงให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้เป็นช่วงที่สาม
เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ดีหรือในกระบวนการที่จะให้เกิดชีวิตที่ดีงามด้วยการศึกษานั้น ก็ต้องทำให้ครบกระบวนการทั้งสามช่วง ต้องดูว่าคนที่มีปัญหานั้นเขาเป็นอย่างไร ในช่วงที่หนึ่งเขามีท่าทีในการรับประสบการณ์เข้ามาอย่างไร เป็นท่าทีที่ถูกต้องเกื้อกูลต่อชีวิตหรือไม่ ในช่วงที่สองเขามีการแสดงออกอย่างไร เป็นพฤติกรรมที่เกื้อกูลหรือไม่ และในช่วงที่สาม มีการนำเอาข้อมูลความรู้จากประสบการณ์ต่างๆ มาใช้พัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปหรือไม่ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ถือว่าเป็นหลักที่จะพิจารณาตรวจสอบ